fbpx

เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่หลายสื่อกำลังเจอมรสุมลูกใหม่อยู่พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการที่ต้องเจอเรื่อง COVID-19 ที่ทำให้แผนธุรกิจต้องถูกเลื่อนออกแบบไม่มีกำหนด หรือแม้กระทั่งเรื่องของการโฆษณาที่ลดลง แต่ถึงกระนั้นผลประกอบการในปี 2562 ของ “อมรินทร์ กรุ๊ป” (ทางบริษัทฯ เรียกตัวเองแบบนี้) ก็ถือได้ว่าสดใสเลยทีเดียว จะเป็นยังไงไปติดตามกันครับ

อมรินทร์ กรุ๊ป หรือ บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง ถือเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจสื่อแทบจะครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการทำ Content ในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ รวมไปถึงการเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลช่องหมายเลข 34 และการเป็นเจ้าของ/ผู้จัดงานสำคัญๆ อีกด้วย และยังเป็นผู้จัดจำหน่ายหนังสืออีกด้วย ซึ่งรวมๆ กันแล้ว อมรินทร์มีแบรนด์ที่อยู่ในมือมากกว่า 21 แบรนด์เลยทีเดียว!

ปัจจุบัน อมรินทร์ กรุ๊ปแบ่งออกเป็น 3 บริษัทย่อย ซึ่งประกอบไปด้วย บจก.อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ ,บจก.อมรินทร์ ออมนิเวิร์ส ,บจก.อมรินทร์ เทเลวิชั่น ครอบคลุมทุกธุรกิจที่อมรินทร์ทำเลยก็ว่าได้ ในช่วงที่ผ่านมาอมรินทร์ กรุ๊ป ได้ใช้ศักยภาพในการพัฒนาคอนเทนต์ให้เป็นรูปแบบของ OMNI Media + OMNI Channel ซึ่งส่งผลให้ต้องมีการปรับตัวของธุรกิจแกนหลัก โดยเฉพาะการเข้ามาของตระกูลสิริวัฒนภักดีที่ส่ง “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” เป็นรองประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการบริหาร โดยตระกูลอุทกะพันธุ์ยังมีส่วนที่เข้ามาดูธุรกิจบ้าง แต่ไม่ได้มากเหมือนแต่ก่อนแล้ว ก็ทำให้ต้องปรับให้บริษัทสามารถทำกำไรให้ได้มากที่สุด

และนั่นทำให้อมรินทร์ กรุ๊ป จำเป็นต้องถอยในธุรกิจนิตยสารโดยให้ความสำคัญเฉพาะหัวหนังสือที่ยังคงติดตลาดและมีคนอ่านอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น บ้านและสวน และเลิกตีพิมพ์บางนิตยสารลงเพื่อปรับตัวไปออนไลน์ เช่น สุดสัปดาห์ นอกจากนี้ยังคงปรับการทำเนื้อหาออนไลน์ให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยการจัดทำเว็บไซต์ที่ตอบโจทย์ฐานผู้บริโภคมากขึ้น เช่น Living Asean ที่เน้นบทความเกี่ยวกับการตกแต่งบ้านในฉบับภาษาอังกฤษ เป็นต้น

ในส่วนของอมรินทร์ ทีวีช่อง 34 ก็ได้ปรับให้รายการข่าวหลักอย่าง “ทุบโต๊ะข่าว” ขึ้นนำในผังรายการ และการจัดผังช่วงเวลาละคร 22.00 น. ก็มีส่วนที่ทำให้เรตติ้งช่องอมรินทร์พุ่งทะยานมากขึ้นอีกด้วย โดยทุบโต๊ะข่าวขึ้นมาออกอากาศเร็วขึ้นตั้งแต่ 19.00 น.ในวันจันทร์-ศุกร์ ทำให้คู่แข่งอย่างไทยรัฐทีวีต้องเร่งทำคะแนนด้วยการออกอากาศเวลา 19.00 น.ในวันจันทร์-ศุกร์เช่นเดียวกัน ซึ่งไทยรัฐทีวีสามารถทำเรตติ้งได้ค่อนข้างดีกว่า แต่เหนือสิ่งอื่นใดนั้น ช่องวันทำรายการ “ข่าววันศุกร์” ในเวลา 19.00-21.00 น. ก่อนใครเพื่อนเลย ซึ่งช่วงชิงเวลาในวันศุกร์ได้ค่อนข้างดีเช่นกัน

ทีนี้เรามาดูผลประกอบการโดยรวมกันดีกว่า จะพบได้ว่าอมรินทร์ กรุ๊ป ทำรายได้ได้ค่อนข้างดีขึ้นเกือบ 1 เท่าเลยทีเดียว โดยในปี 2562 ทำรายได้รวมไปมากถึง 3,103 ล้านบาท และได้กำไรไปทั้งสิ้น 167.72 ล้านบาทเลยทีเดียว ส่งผลให้ในงวดปี 2562 นี้สามารถจ่ายปันผลได้อีกปี ในอัตราหุ้นละ 0.12 บาท นั่นเอง

*Infographic เขียนชื่อบริษัทผิด ขออภัย มา ณ ที่นี้ด้วย

พอเรามาแงะในส่วนของอมรินทร์ ทีวีช่อง 34 กันบ้าง ในส่วนของธุรกิจโฆษณาบนโทรทัศน์ในปี 2562 สามารถทำยอดทะยานขึ้นไปถึง 1,033 ล้านบาทเลยทีเดียว ในขณะที่อันดับ 1 ยังคงเป็นรายได้จากหนังสือ (ซึ่งรวมถึงค่าจำหน่ายหนังสือ และการให้บริการโฆษณาผ่านหนังสือ) ซึ่งทำไปได้ 1,957 ล้านบาท และสุดท้ายคือรายได้จากการจัดงาน รวมไปถึงผลิตสื่อออนไลน์ที่ทำรายได้ไป 689 ล้านบาทนั่นเอง

สำหรับผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2563 มีผลประกอบการที่ขาดทุนไป 20 ล้านบาท โดยมีรายได้ทั้งหมดอยู่ที่ 699.87 ล้านบาท โดยแบ่งรายได้มาจากธุรกิจโทรทัศน์ช่องอมรินทร์ ทีวี หมายเลข 34 เป็นจำนวน 271 ล้านบาท ถ้าเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2562 มีรายได้เพิ่มขึ้น 62 ล้านบาท ทำให้ส่วนนี้ได้กำไรอยู่ที่ 2 ล้านบาท , รายได้จากธุรกิจรับจัดงานและโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ มีรายได้อยู่ที่ 120 ล้านบาท มีกำไรอยู่ที่ 8 ล้านบาท และรายได้จากการจัดจำหน่ายหนังสือ มีรายได้อยู่ที่ 393 ล้านบาท ขาดทุนอยู่ที่ 29 ล้านบาท ทำให้เมื่อรวมกันจึงขาดทุน 20 ล้านบาทนั่นเอง

โดยหมายเหตุของงบการเงินได้มีการชี้แจงเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลทำให้ธุรกิจของบริษัทขาดทุนเอาไว้ด้วยว่า “ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2563 ผู้บริหารได้ตัดสินใจที่จะปิดร้านนายอินทร์จำนวน 120 สาขา เพื่อจะจำกัดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ซึ่งสอดคล้องกับการประกาศของส่วนงานราชการหลายจังหวัดที่ทยอยมีคำสั่งให้ปิดสถานประกอบการหรือลดเวลาประกอบกิจการเป็นการชั่วคราวซึ่งเริ่มในเดือนมีนาคม 2563 ผู้บริหารมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาจากสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อลดกระทบต่อสินทรัพย์และการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท

ต้องรอดูสถานการณ์กับต่อไปว่าในไตรมาสที่ 2/63 อมรินทร์จะยังรักษากำไรตรงนี้เอาไว้ได้หรือเปล่า? แต่ที่แน่ๆ การปรับตัวของช่อง 34 ครั้งนี้อาจจะต้องปรับใหญ่มากขึ้น เพื่อที่จะดึงคนดูมาให้ได้มากที่สุดต่อไปนั่นเอง…

อินโฟกราฟิกโดย ทินวุฒิ ลิวานัค