fbpx

กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมมือกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม และสำนักงาน กสทช. ร่วมออกแบบระบบการเรียนการสอนช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยจัดการเรียนการสอนผ่านสัญญาณฟรีทีวี หรือทีวีในระบบดิจิทัลทั้งหมด 17 ช่อง ครอบคลุมทุกระดับชั้นการศึกษาทั้งขั้นพื้นฐาน – มัธยมศึกษาตอนปลาย – อาชีวศึกษา และกศน. เริ่ม 18 พฤษภาคมนี้ รองรับการเรียนการสอนซึ่งจะเปิดเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 “ณัฏฐพล” เน้นย้ำโรงเรียนหยุดได้ แต่การเรียนรู้หยุดไม่ได้!

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมมือกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้จัดรูปแบบการเรียนการสอนทางไกลผ่านสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิทัล 17 ช่อง ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

โดยสืบเนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศเลื่อนเปิดเทอมจากเดิมที่จะต้องเปิดในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี ปรับไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เพื่อความปลอดภัยของผู้เรียน และบุคลากรทางการศึกษา และที่สำคัญกระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับความต่อเนื่องในการเรียนรู้ผ่านระบบการศึกษา ภายใต้แนวคิด แม้ว่าโรงเรียนหยุดได้ แต่การเรียนรู้หยุดไม่ได้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาฯ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและรอบด้าน เพื่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และทำให้การแพร่ระบาดกลับมาอีกครั้ง แม้ว่าการเรียนรู้ที่โรงเรียนยังคงเป็นแนวทางที่ดีที่สุด แต่ถ้าหากไม่สามารถทำได้ สื่อการเรียนการสอนทางไกลหรือว่า On Air ผ่านทีวีดิจิทัล 17 ช่อง จะเป็นสื่อหลักในการจัดการเรียนการสอนควบคู่ไปกับการใช้สื่อออนไลน์ (Online) ทั้งในส่วนของแพลตฟอร์มที่กระทรวงศึกษาธิการได้พัฒนาขึ้น และการจัดการเรียนการสอนแบบห้องเรียนจำลอง (Virtual Classroom)

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังกล่าวต่อว่า ผลกระทบจากโควิด-19 มีมากมายอยู่แล้ว การที่ทำทุกอย่างเหมือนเดิม นั่นก็ส่งผลทำให้ไม่สามารถส่งต่อการศึกษาได้อย่างทันท่วงที และเพื่อให้คำนึงถึงผู้เรียนที่อยู่ทั่วประเทศ จึงทำให้เลื่อนการเปิดเทอมเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ในขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็น 0 แต่เรายังไม่สามารถเปิดเรียนได้ เพราะเราไม่อยากให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ติดเชื้อหรือแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะเด็กเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวและอาจจะเกิดการแพร่ระบาดในชุมชนได้

การจัดช่องทีวีครั้งนี้ เป็นการรวมพลังระหว่าง DLTV กสทช. และกระทรวงศึกษาธิการในการผลักดันทำให้เกิดโทรทัศน์เพื่อการศึกษา 17 ช่องให้เกิดขึ้นได้จริง โดยเราต้องการให้เด็กไทยทุกคนได้รับการเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน ถึงแม้จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม แต่การเรียนรู้ขั้นพื้นฐานก็หยุดไม่ได้ และการเรียนรู้ในครั้งนี้ผู้ปกครองก็ต้องมีส่วนช่วยในการเรียนรู้ด้วย อาจจะมองว่าเป็นการแบกภาระหรือไม่? อาจจะจริงส่วนหนึ่ง แต่ด้วยสถานการณ์ทำให้ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้นั่นเอง

วิกฤตอีกส่วนที่เราต้องใช้เป็นโอกาส คือความจำเป็นในอนาคตสำหรับการใช้สื่อออนไลน์ช่วยในการเรียนการสอน ซึ่งถ้าเรามีความคุ้นเคยในการใช้สื่อออนไลน์ให้มากขึ้น จะทำให้มีความเข้มข้นและมีคุณภาพ สร้างความพรีเมียร์เกินพื้นฐาน ส่งผลให้คุณครูที่ยังไม่มีความพร้อมในการใช้ระบบดิจิทัลมีความพร้อมและได้เตรียมตัวมากขึ้นอีกด้วย เรายังเชื่อว่า 45 วันต่อจากนี้จะยังไม่สามารถเรียนแบบปกติเต็มตัวได้ อาจจะต้องจัดการเรียนแบบมีระยะห่างทางกายภาพมากขึ้น หรือจัดกะให้เรียนวันละชั้นก็อาจจะเป็นไปได้

จากที่เราได้ประเมินไว้ว่าโทรทัศน์ DLTV จะมีกำหนดการออกอากาศได้ในเดือนมิถุนายนในตอนแรก แต่ด้วยความช่วยเหลือจากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ กสทช. ทำให้แผนของเราเริ่มเร็วขึ้นเป็น 18 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

อันที่จริง การออกอากาศของโทรทัศน์เพื่อการศึกษา จะมีการรีรันด้วย ซึ่งผู้ปกครองจะไม่ต้องเป็นห่วงว่าลูกหลานของท่านจะไม่ทันเรียนในแต่ละชั้น หรือถ้าเกิดปัญหาขึ้นจริงๆ ครุผู้สอนก็ต้องส่งเรื่องมาเพื่อให้เราประเมินและช่วยจัดการแก้ไขปัญหาในการเรียนต่อไปนั่นเอง

พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรีและประธานกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ให้ความสำคัญกับระบบการศึกษาของประเทศ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร(รัชกาลที่ 9) และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทย และด้วยพระอัจฉริยภาพในสายพระเนตรอันยาวไกลของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ให้สืบสานโครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมของมูลนิธิฯ

ในการนี้มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการให้การสนับสนุนการเผยแพร่สัญญาณจากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์หรือ DLTV ในระดับปฐมวัย เน้นกิจกรรมเตรียมความพร้อมเด็ก และระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

“การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ให้ความสำคัญกับระบบการศึกษาของประเทศ วันนี้สื่อสาระการเรียนการสอนจะมาเป็นส่วนสำคัญในการให้ความรู้ขั้นพื้นฐานกับนักเรียนทั่วประเทศ ประชาชนชาวไทยทุกครอบครัวมั่นใจได้ว่าไม่ว่าสถานการณ์ COVID-19 จะเป็นอย่างไร ลูกหลานของพวกเราจะได้มีโอกาสได้เรียนและรับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง” พลเอกดาว์พงษ์ กล่าว

พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรีและประธานกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ ยังกล่าวต่อว่า DLTV มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยได้ปรับห้องเรียนให้ทันสมัยมากขึ้น เพื่อทำให้ผู้เรียนที่อยู่ปลายทางดูเข้าใจมากขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มช่องทางออกอากาศให้หลากหลายมากขึ้น และการปรับให้การถ่ายทำดูลื่นไหลมากขึ้นด้วยการเพิ่ม Robot Camera นอกจากนี้ยังเพิ่มการบันทึกเทปและออกอากาศในระบบ HD ให้มากขึ้น จึงต้องทำให้โรงเรียนวังไกลกังวลเปิดภาคเรียนก่อนโรงเรียนในสังกัด สพฐ. อย่างน้อย 10 วันนั่นเอง

ทั้งนี้ ความสมบูรณ์ในการรับชม DLTV นั่นก็คือการรับชมพร้อมคุณครู เพื่อทำให้จัดการระบบการศึกษาให้ดีที่สุด แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันบางโรงเรียนมีบุคลากรทางการศึกษาที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน จึงทำให้เกิดปัญหาในระหว่างการรับชมการเรียนการสอน แต่ในปัจจุบันระบบการออกอากาศการเรียนการสอนผ่านโทรทัศน์มีเพียงไม่กี่ประเทศที่จัดการเรียนการสอนได้สำเร็จมาตลอด 25 ปี

สำหรับการปรับตัวในพระบรมราชานุญาติของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) คือการปรับการจัดการเรียนการสอนจากประถมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็น อนุบาลศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 3 แทน โดยกลุ่มเป้าหมายได้ปรับขนาดจาก 960,000 กว่าคน เป็น 1.3 ล้านคน โดยได้เพิ่มในกลุ่มโรงเรียนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนตระเวนชายแดน และโรงเรียนของ กศน.

สำหรับมาตรการในช่วงสถานการณ์โควิด-19 คือการใช้ DLTV ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ปกครองในการจัดการเรียนการสอนให้ได้มากที่สุด ถึงแม้จะแก้ไม่ได้ครบทุกระดับชั้น และการเรียนผ่าน DLTV ก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการเรียนแบบครูสอนจริงๆ แต่ DLTV มีคอนเทนต์ที่พร้อมออกอากาศได้ทันที จึงจำเป็นต้องบรรเทาผลกระทบให้ได้มากที่สุดนั่นเอง

โดยในวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 จะเป็นช่วงปรับพื้นฐาน และในช่วงวันที่ 1-30 มิถุนายน 2563 จะเป็นช่วงการทดลองว่าผู้เรียนจะสามารถเรียนให้เข้าใจได้หรือไม่? แล้วจึงออกอากาศจริงในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้เขาเข้าใจมากขึ้นในการเรียนการสอน และครูผู้สอนก็สามารถคอยประเมินการเรียนได้ตลอดเวลาด้วยนั่นเอง

ด้านพันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช. กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ได้มีมติอนุญาตให้กระทรวงศึกษาธิการใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราว ตามโครงการทดลองส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอลเพื่อการศึกษาเป็นการชั่วคราว โดยให้ออกอากาศแบบความคมชัดปกติ (SD) ผ่านช่องสัญญาณจำนวน 17 ช่องเป็นระยะเวลา 6 เดือน

พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช. กล่าวต่อว่า กสทช. มีการช่วยเหลือตามมาตรการของรัฐ โดยได้ร่วมมือกับผู้ประกอบกิจการในการช่วยเหลือประชาชน รวมไปถึงการลดหรือตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็น วันนี้การร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในการออกอากาศ DLTV คือหนึ่งในแนวทางในการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งการออกอากาศโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล 40+ ช่อง ทำให้สามารถลดข้อมูลช่องสัญญาณในการจัดส่งสัญญาณได้ดีกว่าระบบเดิม และเมื่อกระทรวงศึกษาธิการได้มีการขอใช้คลื่นความถี่แบบทดลองออกอากาศ ทาง กสทช. ก็ยินดีที่จะให้ใช้ เนื่องจากจะเป็นการลดช่องว่างในการเรียนรู้ของเยาวชนไทย และเป็นครั้งแรกที่เราสามารถสร้างโอกาสจากวิกฤต

นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือในระดับอุดมศึกษา โดยอยู่ในระหว่างพูดคุยกันอยู่ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาอีกด้วย กสทช. หวังว่าการออกอากาศโทรทัศน์ก็เพื่อสาธารณประโยชน์ ฉะนั้นเราหวังว่าจะช่วยทำให้สังคมได้ประโยชน์และได้ก้าวกระโดดจากการใช้เทคโนโลยีในการลดช่องว่างระหว่างชุมชนเมืองกับชนบทนั่นเอง