fbpx

จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ประกาศผลประกอบการในไตรมาสที่ 1/2563 ออกมา ผลปรากฏว่าสามารถทำกำไรโดยรวมอยู่ที่ 53 ล้านบาท โดยธุรกิจเพลงยังคงเป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้สูงสุด รองลงมาคือการจัดเก็บลิขสิทธิ์ และการให้บริการ ในขณะที่รายได้รวมอยู่ที่ 1,309 ล้านบาท น้อยกว่าไตรมาสเดียวกันของปี 2562 ประมาณ 5 ล้านบาท

โดยรายได้จากทั้งหมด 1,309 ล้านบาท ถูกแบ่งออกเป็นรายได้จากการขายสินค้า 443 ล้านบาท รายได้จากการบริการ 471 ล้านบาท และรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ 385 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีรายได้อื่น ๆ อีก 10 ล้านบาท โดยถ้าแบ่งออกเป็นหมวดหมู่จะเห็นได้ชัดว่าธุรกิจเพลงยังเป็นธุรกิจหลักที่ทำกำไรได้ดีอยู่ โดยประกอบด้วยการจำหน่ายสินค้าเพลง (Physical product), ดิจิทัลมิวสิค, การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์, ธุรกิจโชว์บิซ, ธุรกิจบริหารศิลปิน มีรายได้จากธุรกิจเพลงอยู่ที่ 699 ล้านบาท หรือร้อยละ 54 ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งลดลงร้อยละ 28.2 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุหลักเกิดจากการที่รายได้จากธุรกิจบริหารศิลปินและธุรกิจโชว์บิซที่ลดลง ซึ่งเกิดมาจากการเลื่อนการจัดกิจกรรมตามมาตรการของรัฐเพื่อลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่ในส่วนของรายได้จากธุรกิจดิจิทัลมิวสิคและธุรกิจการจัดเก็บลิขสิทธิ์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้รับผลกระทบในแง่ลบแต่อย่างใด

ในขณะที่อีกหน่วยธุรกิจ คือธุรกิจเทรดดิ้ง ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าโฮมช้อปปิ้ง มีรายได้อยู่ที่ 381 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 32.4 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนอีกธุรกิจ คือธุรกิจกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียม มีรายได้ 74 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7 จากงวดเดียวกันของปีก่อน

ส่วนธุรกิจภาพยนตร์ ซึ่งประกอบกิจการโดย บริษัท จีดีเอช 559 จำกัด ในไตรมาส 1/2563 มีรายได้รวมจำนวน 130 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 21.7 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากไตรมาส 1/2562 มีภาพยนตร์ใหม่เข้าฉายในช่วงนั้น รายได้รวมของไตรมาสจึงสูงถึง 166 ล้านบาท

ในส่วนของส่วนแบ่งกำไรตามหน่วยธุรกิจที่ได้ร่วมค้าหรือเป็นบริษัทร่วม แบ่งออกเป็นกลุ่มธุรกิจสื่อ ประกอบไปด้วยกลุ่มช่องวัน 31 โดยบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ได้ส่วนแบ่งกำไรในส่วนของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่อยู่ที่ 35.29 ล้านบาท ในขณะที่ช่องจีเอ็มเอ็ม 25 โดยบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง จำกัด ได้ส่วนแบ่งขาดทุนอยู่ที่ 32.2 ล้านบาท ทำให้เมื่อหักล้างส่วนนี้จะได้ส่วนแบ่งกำไรเหลือ 2.98 ล้านบาท

บรรยากาศงานทำบุญครบรอบ 10 ปี “นาดาว บางกอก” - Me Review - มีรีวิว

อีกส่วนคือบริษัทร่วม ในงวด 3 เดือนนี้มีสองบริษัท คือ บริษัท ซีเนริโอ จำกัด ได้ส่วนแบ่งขาดทุนอยู่ที่ 2.36 ล้านบาท และ บริษัท นาดาว บางกอก จำกัด ได้ส่วนแบ่งกำไรอยู่ที่ 3.4 ล้านบาท เมื่อหักล้างส่วนนี้จะได้กำไรคงเหลืออยู่ที่ 663,000 บาท

ในส่วนของเงินปันผลในบริษัทย่อย ซึ่งก็คือ บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด ทางจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ได้ส่วนแบ่งของบริษัทฯ อยู่ที่ 57.37 ล้านบาท นอกจากนี้เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 บริษัท  จีเอ็มเอ็ม ซีเจ โอ ช้อปปิ้ง จำกัด ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อจากเดิมเป็น “บริษัท โอ ช้อปปิ้ง จำกัด” อีกด้วย

สิ่งที่ผู้ถือหุ้นดีใจก็คือ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ได้มีประกาศเรื่องการจ่ายเงินปันผลของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 3/2562 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2562 ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ จ่ายเงินปันผลระหว่างกาล จากกําไรสุทธิงวด 6 เดือนแรกของปี 2562 ในอัตรา 0.10 บาท/หุ้น เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2562 และที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2563 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ จ่ายเงินปันผลระหว่างกาล จากกําไรของบริษัท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ในอัตราหุ้นละ 0.20 บาท/หุ้น เมื่อวันที่ 22เมษายน 2563 ซึ่งการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลครั้งที่ 2 นี้เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ถือหุ้นจากการเลื่อนการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ที่กำหนดไว้วันที่ 28

เมษายน 2563 ออกไปไม่มีกำหนด จากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (“COVID-19”) นั่นเอง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อรวมการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลทั้ง 2 ครั้งในข้างต้น ส่งผลให้เงินปันผลรวมที่จ่ายจากกําไรของบริษัทฯ ทั้งปี 2562 รวมเป็นอัตราหุ้นละ 0.30 บาท คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นประมาณ 246 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 89.8 ของกําไรสุทธิหลังหักภาษี ตามงบการเงินเฉพาะกิจการ (274 ล้านบาท) ซึ่งสูงกว่านโยบายการจ่ายปันผลที่บริษัทกำหนดไว้ ดังนั้นคณะกรรมการบริษัทจึงเห็นสมควรเสนอให้ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นฯ พิจารณาอนุมัติงดจ่ายเงินปันผลประจำปี 2562 เป็นการเพิ่มเติม