fbpx

หลายคนอาจจะมองว่าธุรกิจเพลงไม่ได้ตอบโจทย์ หรือไม่ได้ทำกำไรอย่างในสมัยก่อนแล้ว แต่วันนี้ส่องสื่อไปค้นข้อมูลรายงานประจำปีของ GMM Grammy มาครับ แล้วเราก็ยังพบว่าธุรกิจเพลงของเขายังไปได้สวยเลย ทำไมถึงเป็นแบบนั้นกันนะ? วันนี้เราจะพามาไขคำตอบกันครับ

เรามาพูดถึงจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่กันก่อนเลย ปัจจุบันนี้โครงสร้างธุรกิจของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่แบ่งออกเป็น 5 ส่วนด้วยกัน ส่วนที่ใหญ่ที่สุดยังคงเป็นธุรกิจดั้งเดิมของบริษัทมาตลอด 36 ปี นั่นก็คอธุรกิจเพลงแบบครบวงจร ทั้งการดูแลศิลปิน ผลิตและจัดจำหน่ายเพลง จัดกิจกรรมการแสดงต่าง ๆ รวมไปถึงบริหารลิขสิทธิ์จากเพลงด้วย ส่วนต่อมาคือธุรกิจโฮมช็อปปิ้ง ซึ่งปัจจุบันมี O Shopping ที่แกรมมี่ลงทุนร้อยละ 100 ของบริษัทไปเป็นที่เรียบร้อย อีกส่วนที่สำคัญก็คือภาพยนตร์ที่ดูแลโดย GDH 559 ส่วนที่ 4 คือธุรกิจอื่น ๆ ประกอบไปด้วยทีวีดาวเทียม จัดจำหน่ายกล่องทีวีดาวเทียม GMM Z ธุรกิจจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์รายการ ละคร และส่วนสุดท้ายคือธุรกิจร่วมทุนที่เราพูดไปในตอนที่แล้ว ซึ่งมีช่องวัน 31 และจีเอ็มเอ็ม 25 นั่นเอง

สัดส่วนของรายได้ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วนด้วยกัน โดยถึงแม้รายได้รวมจะลดลงเล็กน้อยจากปี 2561 ที่ได้รายได้รวมอยู่ที่ 6,984 ล้านบาท เหลือเพียง 6,640 ล้านบาทในปี 2562 แต่รายได้ในส่วนธุรกิจเพลงกลับกินส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 54 เป็นร้อยละ 60 เลยทีเดียว

โดยถ้าเราแกะออกมาจะพบว่าในส่วนของธุรกิจเพลงนั้น ถูกแบ่งออกมาด้วยธุรกิจผลิตเพลงที่ได้ไป 493 ล้านบาท ธุรกิจจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์ที่ได้ไป 313 ล้านบาท ธุรกิจโรงเรียนสอนร้องเพลง 30 ล้านบาท และแฟนทีวีได้ไปเพียง 10 ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีส่วนของ Digital Streaming ที่ได้ไป 1,123 ล้านบาทเลยทีเดียว ส่วนสุดท้ายคือธุรกิจจัดกิจกรรมที่ได้ไป 2,043 ล้านบาท

จากโครงสร้างของธุรกิจเพลงเราจะเห็นได้ว่า ธุรกิจที่ได้รายได้มากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นธุรกิจจัดกิจกรรมและคอนเสิร์ตที่มีส่วนแบ่งทางธุรกิจมากที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าต้องจับตามองว่าการเกิด COVID-19 นั้นจะส่งผลให้รายได้ในไตรมาสแรกเป็นอย่างไรบ้าง? นอกจากนั้นก็คือธุรกิจ Digital Streaming ผ่านช่องทางหลากหลายก็กินส่วนแบ่งมากพอสมควร จนทำให้ขยับเป็นอันดับ 2 เลยทีเดียว

ในส่วนของธุรกิจโฮมช็อปปิ้งนั้น จะเห็นได้ว่ารายได้ลดลงพอสมควร จากปี 2561 ที่ทำรายได้ไป 2,305 ล้านบาท เหลือเพียง 1,693 ล้านบาท ซึ่งน่าจะเกิดจากกำลังซื้อที่ลดลง ส่วนนี้ก็น่าจับตามองในผลประกอบการไตรมาส 1/63 เช่นเดียวกันว่าจะมีการเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด เพราะผลจาก COVID-19 ทำให้คนเสพทีวีมากขึ้นอีกด้วย ส่วนธุรกิจกล่องรับสัญญาณทีวีทำรายได้ไป 279 ล้านบาท รวมรายได้ส่วนนี้อยู่ที่ 1,973 ล้านบาท

ส่วนสุดท้ายคือธุรกิจอื่น ๆ เริ่มจากภาพยนตร์อย่างจีดีเอช ทำรายได้รวมไปถึง 464 ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีรายได้จากบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ที่ได้ไป 147 ล้านบาท และ EXACT ที่มีรายได้เข้ามา 1 ล้านบาท รวมส่วนนี้ 614 ล้านบาท

สิ่งที่น่าเป็นห่วงของแกรมมี่ก็เหมือนกับหลายธุรกิจที่กำลังเจออยู่ในตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร่วมอย่างโทรทัศน์ทั้ง 2 ช่องที่มีการปรับผังรายการกลางคัน บางรายการต้องยุติการถ่ายทำชั่วคราว ภาพยนตร์ที่ตอนนี้ทางจีดีเอชไม่ได้มีการออกมาบอกว่าจะมีเรื่องไหนในปีนี้บ้าง เพราะโควิด-19 รวมไปถึงธุรกิจจัดคอนเสิร์ตที่กำลังต้องเจอปัญหามากมายเช่นกัน ต้องติดตามกันต่อไปครับ

อินโฟกราฟิกโดย ทินวุฒิ ลิวานัค