fbpx

จากเด็กชอบถ่ายรูป จนกลายเป็นนักข่าวออนไลน์ – ส่องสื่อไปกับ “พริสม์ จิตเป็นธม”

ปัจจุบันนี้ทางเลือกในการรับสื่อมีเยอะมากจริงๆ ครับ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ และแน่นอนว่าพอมี Social Media เข้าไปด้วยก็ทำให้อาชีพใหม่ๆ ในวงการสื่อบ้านเราผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดไปด้วย แต่ท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังเบ่งบานในที่หนึ่ง ก็มีข่าวร้ายที่หลายสำนักข่าวที่ปรับตัวไม่ทัน ต้องทยอยปลดคนออกเป็นระยะๆ ปัจจุบันอาชีพนักข่าวจึงไม่ได้รับความสนใจมากเท่าที่ควร

แต่ภายใต้อุปสรรคต่างๆ ก็ยังมีคนที่ค้นหาตัวเองจนพบแล้วว่าอาชีพที่ตัวเองเหมาะที่สุดในตอนนี้คือ “นักข่าวออนไลน์” วันนี้ส่องสื่อเชิญนักข่าวออนไลน์ ศิษย์เก่าจากวารสารฯ ธรรมศาสตร์ ผู้สนใจในประเด็นผู้พิการและชอบการถ่ายรูปเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ พี – “พริสม์ จิตเป็นธม” มาร่วมคุยถึงเส้นทางการเรียน การทำงานที่เริ่มต้นจากการอยากเรียนภาพยนตร์ แต่ไปจบที่วิทยุโทรทัศน์ ตลอดจนถึงการทำงานเป็น Video Journalist ที่ชื่ออาชีพดูแปลกใหม่ แต่กว่าจะมาเป็นวีดีโอสักชิ้นไม่ง่ายเลย ร่วมอ่านบทสัมภาษณ์นี้ไปด้วยกัน อ่านแล้วคุณอาจจะหลงรักนักข่าวคนนี้ก็เป็นไปได้

BBC Thai Work from Home กันไหม?

ใช่ครับ ตอนนี้ก็มีมาตรการให้พนักงานทุกคน ผู้สื่อข่าวทุกคนก็ทำงานอยู่ที่บ้าน ก็ใช้วิธีการโทรศัพท์สัมภาษณ์แทนหรือว่า Video Call เพื่อที่จะประกอบเป็นวีดีโอครับ จะเรียกว่าเป็นวิกฤตก็ไม่ถูก เพราะว่าจริง ๆ การทำงานเป็นผู้สื่อข่าวมันต้องปรับตัวอยู่ในทุกประเด็นอยู่แล้ว เพราะมีประเด็นข่าวใหม่ ๆ เราก็ต้องปรับตัว ประยุกต์เอาข้อมูลข่าวสารมาให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเกิดกรณีใดก็ตาม เพราะฉะนั้นมันก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เราจะนำเสนอข้อมูลข่าวสารสู่ประชาชน แต่การที่เราจะได้ข้อมูลข่าวสารนั้นมา มันก็มาจากช่องทางต่าง ๆ ครับ ไม่ใช่มาจากการสัมภาษณ์ตัวต่อตัวอย่างเดียว อาจจะเป็นโทรศัพท์สัมภาษณ์ ที่ปกติเราก็เคยมีการทำกัน หรือว่าการผลิตคลิปอย่างที่ผู้ชมได้ชม ก็เป็นการถ่ายทำในสตูดิโอ หาข้อมูลมาก่อน Research อ่านข้อมูลมา เราก็อาจจะโทรสัมภาษณ์บ้าง เราก็นำมาเขียนเป็น Script ก่อนที่จะเอาไปถ่ายเปิดหน้าครับ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำงาน โดยไม่ต้องไปพบปะผู้คนมากนักครับ

เราปรับตัวอย่างไรบ้างในช่วงของการทำข่าว ในช่วงที่สภาวะมันไม่ปกติ?

อย่างที่บอกว่ามันปรับตัวในทุกงานข่าวอยู่แล้ว คือพอเป็นข่าว เป็นผู้สื่อข่าว เป็นนักข่าวแล้ว มันปรับตัวในทุก ๆ ด้านอยู่แล้วแหละ มันก็มีช่องทางอื่นเหมือนกันนะ สำหรับตัวพีเอง ถ้าจะถามว่ากระทบในหน้าที่การงานไหม ไม่นะ คือแทบจะไม่เลยครับ คือพีอาจจะไม่ได้ออกไปถ่ายสกู๊ปดี ๆ ไม่ได้ถ่ายภาพคุณหมอ ไม่ได้ไปสัมภาษณ์แบบเห็น Action ทั้งหมด ด้วยข้อจำกัดเรื่องของ Physical Distancing แต่ว่าเรายังสามารถรับข้อมูลข่าวสารจากช่องทางอื่น จากการสัมภาษณ์ได้อยู่เหมือนเดิมครับ หน้าที่และบทบาทการทำงานต่อเนื่องไม่ได้ต่างกันเลย เราต้องการข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ครับ อ้างอิงได้ ซึ่งการเข้าถึงแหล่งข่าวมันก็สามารถโทรไปได้ หรือว่าในยุคนี้แล้วจริง ๆ มีตัววีดีโอที่จะส่งมาทำคลิปนี้ก็สามารถที่จะ Skype หรือว่าวีดีโอคอลได้ครับผม ก็จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางเหมือนกัน แต่ว่าตัวพีเองคนเดียวก็ยังก็ยังทำได้อยู่เรื่อย ๆ ครับเป็นปกติ ไม่ได้รับผลกระทบจากตัวโควิด-19 ครับ

อยากเป็นนักข่าวตั้งแต่เริ่มแรกเลยไหม?

จริง ๆ ไม่ได้มีอาชีพนักข่าวอยู่ในหัวเลยตั้งแต่ตอนแรก คือตั้งแต่ประมาณมัธยมต้น เราก็ชอบการถ่ายรูปมาตลอด ก็คืออาจจะยืมกล้องฟิล์มของน้าบ้าง ยืมกล้องของแม่บ้าง จนแม่ก็ซื้อกล้องคอมแพคให้ แล้วก็ถ่ายภาพมาตลอดถ่ายภาพเคลื่อนไหว แล้วก็ตัดเป็นวิดีโอปัจฉิมอะไรมาเรื่อย ๆ นะครับ จนได้ไปแลกเปลี่ยนที่ออสเตรียมา ซึ่งประเทศเขาเป็นประเทศเกี่ยวกับศิลปะ ก็เลยชอบถ่ายรูปขึ้นไปใหญ่ ถ่ายรูป ถ่ายคลิป ทำเป็นคลิปตัดต่อโพสต์ลง Facebook ในยุคนั้น ก็ทำไปเรื่อย ๆ ก็รู้สึกว่าชอบด้านภาพยนตร์ รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนชอบถ่ายภาพนิ่ง ภาพยนตร์ ก็เลยตัดสินใจว่าอยากจะเข้าเรียนด้านนิเทศศาสตร์

หลังจากกลับมาจากแลกเปลี่ยน ก็มั่นใจตัวเองเลยว่าอยากเรียนด้านนิเทศศาสตร์แน่ ๆ แล้วก็ตั้งเป้าหมายไว้ก็เลย ตอบไว้ว่าอยากเรียนเอกภาพยนตร์และภาพถ่าย ก็เลยเข้าพยายาม Admission เข้านิเทศจุฬาฯ แล้วก็เลือกนิเทศจุฬาสองอันดับแรกเลยครับ แล้วก็อันดับ 3 ก็ วารสารฯ ธรรมศาสตร์ อันดับ 4 ก็เป็นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สุดท้ายก็ได้เข้าที่วารสารฯ ธรรมศาสตร์

ก่อนที่เราจะตัดสินใจที่จะเข้าวารสารฯ คือระหว่างที่รอผลอยู่เนี่ย เราก็ได้ไปเข้าค่าย คือจริง ๆ แล้วมันสามารถสอบเอกชนรอไว้ได้เลย สมมติถ้าเราไม่ติดเลยทั้ง 4 อันดับ เราก็จะได้ไปเข้านิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งมันก็มีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ แล้วก็มหาวิทยาลัยเนชั่น ที่ตอนนั้นเพิ่งเปิดเป็นปีที่ 2 ก็เลยสอบไปเข้าค่าย แล้วก็ได้เข้าค่ายกับพวกพี่ ๆ เขา ไปเจอพวกพี่ ๆ นักข่าวมาพูด inspire ต่าง ๆ นานาเลยว่า ถ้าเข้ามาในมหาวิทยาลัยเนชั่นก็จะเป็นการทำงานกับสื่อจริง ๆ เขาก็เลยให้สอบ แล้วก็สอบติดด้วยครับ ได้ทุนของมหาวิทยาลัยเนชั่น แต่ว่าสุดท้ายก็ประกาศผลสอบ Admission ประกาศปุ๊บก็ได้เป็นอันดับ 3 นั่นก็คือวารสารฯ ธรรมศาสตร์ ก็ตัดสินใจว่าเข้าวารสารฯ ธรรมศาสตร์ดีกว่าครับ

ทำไมเลือกนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เป็นอันดับ 1 และ 2 ก่อน?

เอาจริง ๆ มันก็เป็นความฝันของเด็กที่อยากเรียนนิเทศ อันดับ 1 ก็อยากเข้านิเทศจุฬาฯ ด้วยความที่เขาค่อนข้างที่จะมีบุคลากรในสื่อที่เห็นหน้าเห็นตาค่อนข้างมาก แล้วคะแนน Admission ก็ค่อนข้างที่จะสูงด้วย ก็เลยเลือกเป็นนิเทศจุฬาฯ เป็นแรงบันดาลใจแรก ๆ ที่อยากเข้า แล้วก็ด้วยความที่ชอบภาพยนตร์ด้วยมั้งครับ พอมันเป็นภาพยนตร์ เป็น GTH ก็อยากเข้านิเทศจุฬาฯ ไปโดยปริยาย เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่เรียนด้านนิเทศศาสตร์มาส่วนใหญ่ก็คงจะต้องมีส่วนหนึ่งที่เคยจะเข้านิเทศจุฬาฯครับ

แล้วพอเข้ามาวารสารฯ ธรรมศาสตร์ ก็ยังไม่ได้อยากเป็นนักข่าวนะครับ เราก็ยังอยากเรียนฟิล์มอยู่ เราอยากเรียนเอกฟิล์มครับ พอปี 2 แล้วมันจะต้องเลือกเอก เราก็ตัดสินใจไม่ถูกว่าเราจะเลือกเอกภาพยนตร์และภาพถ่ายหรือว่าเอกวิทยุโทรทัศน์ดี เราก็เลยไปฝึกงานที่ NBT ภูเก็ตครับ เพราะว่าบ้านอยู่ภูเก็ต เราก็อยากฝึกงานที่บ้าน อยากกลับบ้าน แล้วก็อยากฝึกสื่อไปด้วย มันก็มีที่ให้เลือกไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ครับ ก็เลยเลือกที่จะฝึกช่อง NBT ของจังหวัดภูเก็ต ทีนี้เราก็ไปฝึกถ่ายรายการ เป็นแบบว่าออกไปถ่ายรายการ รายการแบบพาไปเที่ยวชุมชน ก็เป็นคนถ่ายเองตัดเอง มีหลายคนแต่ว่าบางเทปก็ตัดเองด้วยนะครับ แล้วก็มีพี่เขาคอยแนะนำเรื่องเขียนบทรายการให้ และที่สำคัญก็คือ ฝ่ายรายการของ NBT เนี่ย จะต้องจัดรายการสดในทุกเช้าก็คือเหมือนเป็นข่าวภูมิภาค เราก็ได้เข้าไปในห้องคอนโทรลทุกเช้า แล้วก็คอยฟังรายการข่าวว่าทำไมเขาถึงเลือกข่าวนี้มา ทำไมเขาถึงใช้รูปประกอบข่าวนี้ แต่ละข่าวมันมีรูปประกอบข่าวอะไรบ้าง มีรูปแบบอย่างไรบ้าง มีรูปแบบในการเขียน การรายงานยังไงบ้าง แล้วก็ซึมซับมาตั้งแต่ตอนนั้น ก็รู้สึกว่าน่าสนใจที่จะมาเป็น

ตอนนั้นอยากเป็นโปรดิวเซอร์ในรายการข่าว รู้สึกว่ามันเท่ดี และเราก็คือทำงานกับพี่คนนึงด้วยที่เก่งมาก ๆ เป็นโปรดิวเซอร์รายการของ NBT นะครับ แล้วก็เราได้ไปเรียนรู้ แล้วก็รู้สึกว่าเป็นโปรดิวเซอร์รายการทีวีมัน Challenge มาก ๆ เลยในการที่จะเลือกข่าวนี้ เลือก insert นี้ หรือว่า Phone in ยังไง มันก็เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราอยากจะทำสายวิทยุโทรทัศน์มากกว่าภาพยนตร์ และก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจกว่า ก็เลยตัดสินใจเข้าตอนปี 2 ก็เลยเลือกเป็นเอกวิทยุโทรทัศน์ครับ

พอเข้าเอกวิทยุโทรทัศน์มา เราก็อยากที่จะทำงานสายโทรทัศน์อยู่เหมือนกัน ก็คือเป็น creative เราก็สนุกกับการคิดรายการนะครับ เพื่อน ๆ ก็ชอบการเรียนผลิตรายการที่คณะ แล้วมันก็เป็นวิชาปฏิบัติ ก็ได้ฝึกกันเยอะเหมือนกัน จนได้เรียนวิชาข่าววิทยุโทรทัศน์ คือเราไม่เคยเรียนเขียนข่าว แล้วคือมันจะมีตัวบังคับของคณะ เป็นตัวเขียนข่าวอยู่แค่ตัวเดียวที่มันจะต้องบังคับทุกคนเรียน แต่ว่าของเอกเราเองก็จะมีแยกเป็นข่าววิทยุกับข่าวโทรทัศน์ ซึ่งมันก็สนุก เราได้เรียนเขียนทั้งวิทยุและเรียนเขียนทั้งข่าวโทรทัศน์เลย แล้วก็ต้องออกไปถ่ายวีดีโอเองคนเดียว กลับมาตัดเอง เขียนเอง ซึ่งในกระบวนการทั้งหมดมันก็คือกระบวนการที่กลายเป็น Video Journalist ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ก็คือถ่ายเอง ตัดเอง มันก็เป็นสิ่งที่คณะพยายามที่จะให้นักศึกษาทุกคนทำให้ได้ แล้วพอไปเรียนตัวข่าววิทยุโทรทัศน์แล้วก็ชอบครับ ติดใจ ก็เลยไปเรียนข่าวโทรทัศน์ขั้นสูงก็ยิ่งชอบเข้าไปใหญ่ครับ รูปแบบเป็นแบบจัดรายการกึ่งสด แล้วมันก็จะมีวิชาตัวประกาศข่าวด้วย ของเอกวิทยุโทรทัศน์มันก็เหมือนเสริมกันมาว่างานข่าวก็เป็นงานที่น่าสนใจนะ

ตอนปี 4 ก็เลยเลือกไปฝึกงานข่าวที่ไทยรัฐทีวี ก็ได้ฝึกงานโต๊ะข่าวสังคม ก็เป็นข่าวสังคมทั่วไป ไปออกตามหมายข่าวงานเสวนา กลับมาเขียนข่าวก็ได้ทำสกู๊ปลงเสียง ตอนช่วงนั้นไทยรัฐทีวีก็ไปร่วมมือกับกรมศิลปากรด้วย เนื่องจากเป็นงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งค่อนข้างยากเหมือนกัน แล้วก็จะมีข้อมูลที่เข้ามาเยอะมาก ข้อมูลจำเพาะอะไรอย่างนี้ เราต้องไปหาข้อมูลกัน ก็ได้ทำสกู๊ปออกทางไทยรัฐทีวีไปด้วย งานข่าวก็เลยเป็นอะไรที่เรารู้สึกชอบมากซึ่งมันก็เริ่มค่อย ๆ ชอบมาเรื่อย ๆ ครับ แต่ว่าพอเราเรียนจบแล้วที่ที่เราไปสมัครงานที่แรก เราไม่ได้สมัครงานข่าวเลย (หัวเราะ)

งานแรกที่ไปสมัครคืออะไร?

เราไปสมัครที่ Workpoint ซึ่งเขาเปิดรับสมัครครีเอทีฟรายการทีวี แล้วด้วยความเป็นเพื่อนทั้งกลุ่มที่เรียนรายการข่าว เรียนวิทยุโทรทัศน์มาด้วยกัน ก็ไปสมัครพร้อมกันหมดเลย ก็ได้เข้าไปทำงาน 3 คน ก็คือเป็นครีเอทีฟรายการทีวี แต่ละคนก็แยกกันไป แต่ตอนผมสัมภาษณ์ คือพอพี่ HR เขาถามคำถามเกี่ยวกับรายการของ Workpoint มาคือตอบไม่ได้สักคำถามเลยว่ามีรายการอะไรบ้างที่ออกอากาศตอนไหนบ้าง รายการแต่ละรายการเป็นยังไง แต่ละช่วงมีจุดต้องแก้ไขยังไงบ้าง ก็เป็นคำถามที่ Workpoint เขาถาม เราก็บอกว่าเออแบบคือเราไม่ค่อยได้ดู Workpoint เท่าไหร่เลย

ปกติเปิดทีวีดูช่องไหนบ้าง?

ปกติดูข่าว ดูไทยรัฐทีวีเกือบทั้งวันเลย เปิดแช่ไว้ สลับกับดู Thai PBS ครับ แล้วก็มีดู Workpoint บ้างใน YouTube แล้วพี่ HR ก็ไม่รู้เขามองออกได้ไง เขามองว่าเราดูน่าจะเหมาะกับสายข่าว เราก็บอกว่าผมก็รู้จักพี่ที่ทำข่าวอยู่ Workpoint นะ ชื่อพี่เอม นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ (บรรณาธิการข่าวออนไลน์ Workpoint Today) ใช่ไหม? คือเหมือนกับว่าเรารู้จัก เราได้ข่าวมาว่าพี่เอมกำลังฟอร์มทีมอยู่ที่ Workpoint แล้วคือเขาเหมือนรับสมัคณ เราก็เลยไม่ได้สมัคร ไม่ได้ยื่นใบสมัครไปกับพี่เอมโดยตรง แต่พอพี่ HR เขาถามอย่างนั้นแล้วก็รู้สึกว่าน่าจะเป็นทีมนี้ก็เลยพูดไปว่ารู้จักครับ เป็นไอดอลเลย คือตามในทวิตเตอร์มาตั้งนานแล้ว สุดท้ายก็พอไปทำงานกับพี่เอม ก็คือมันไม่ใช่การทำข่าวโทรทัศน์ แต่คือเป็นสำนักข่าวออนไลน์ Workpoint ที่สร้างขึ้นมาใหม่เลย เป็นกลุ่มใหม่ที่เข้าไปเพื่อทำงานกับออนไลน์โดยเฉพาะ ตอนนั้นชื่อตำแหน่งก็คือ Digital journalist ครับ คือข่าวที่ไม่ได้ออกในโทรทัศน์ ไม่ได้ออกใน traditional platform ก็นำไปออกช่อองทางออนไลน์

ปีแรกที่ทำงานนะครับก็คือ มันยุคแรกเริ่มของการที่สำนักข่าวเริ่มจะลงมาทำ Online Content ในยุคนั้นมันก็จะเป็นแบบว่าแต่ละช่องก็จะเอารายการข่าวเขาตัดมาลงแบบลงทื่อ ๆ เลย ลงใน Facebook ลงใน YouTube ยังไม่ค่อยมีการผลิตคอนเทนต์แบบออนไลน์โดยเฉพาะเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ทีมพี่เอมทำก็คือเป็นการผลิตคอนเทนต์สำหรับตัว Social Media โดยเฉพาะ ซึ่งมันค่อนข้างที่จะว้าว แล้วเหมือนกับว่ามันเป็นอะไรที่เราไม่เคยเรียนมาก่อนเลยในการผลิตคอนเทนต์เพื่อไปเสิร์ฟตัวแพลตฟอร์มตรงนี้ ทำไมมันต้องสั้น ต้องเขียนยังไง ตัววีดีโอจะต้องเปิดยังไง ทำไมต้องมีแบบ text มาเป็น narrative อะไรอย่างนี้ครับ คือมันก็เสริม ๆ ตรงนี้มา มันก็มีผลงานหลาย ๆ ชิ้นที่ค่อนข้างที่จะภูมิใจ แล้วมันค่อนข้างที่จะตกใจเหมือนกันที่กลายเป็นว่าสิ่งที่เราเอาประเด็นมา มาจากสิ่งที่เราอ่านข่าวมาจากช่องทางอื่นหรือว่าสื่อทีวีเคยนำเสนอมาแล้ว พอเรากลับมาพูดใน platform ของออนไลน์ มันทำให้คนกลับมาสนใจประเด็นนี้อีกมากเลย เพราะฉะนั้นคือตัวปัญหามันไม่ได้เก่าไปหรอก แต่มันอยู่ที่วิธีเล่าใหม่ของเรามากกว่าครับ

สิ่งที่แตกต่างจากตอนเรียนกับตอนทำงานเป็น Digital Journalist มีอะไรบ้าง?

ตรง ๆ นะ เราค่อนข้างที่จะเป็น traditional มาก ๆ เราเลือกเอกตาม platform ของสื่อ คือเอกเรียนมันแบ่งก็เป็นแบบวิทยุโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ คือมันเป็นแพลตฟอร์มของสื่อด้วยซ้ำ เราไม่ได้ดูว่าการนำเสนอจะเป็นยังไง  เพราะฉะนั้นการเรียนของนิเทศศาสตร์มันก็เลยจะต้องเปลี่ยนไป มันไม่ใช่แค่เราจะเรียนเพื่อผลิตในช่องทางเดียวแล้ว เราต้องทำ Content แต่ละอย่างที่เราอยากจะเล่าให้ได้ในทุกแพลตฟอร์มเลย

สิ่งที่มันต่างก็คือพอมาทำเป็น Online Content เราแทบจะไม่เคยเรียนเลยว่า Facebook มีลักษณะอย่างไร มี Algorithm ยังไง การนำเสนอเนื้อหาใน Facebook เราต้องใช้ภาษายังไง กลับกลายเป็นว่าเราเคยเรียนว่าในทีวีคนดูภาพ ดูเสียงนะ ในวิทยุคนฟังเสียงนะ เราต้องเลือกคำที่ไม่บอกว่าดูสิ่งนี้สิ ดูสิ่งนั้นสิในวิทยุ เรียนเป็น Traditional มาตลอด แต่พอมาเป็นออนไลน์แล้ว คนเห็นทั้งภาพ ทั้งเสียง สามารถไปอ่านเพิ่มได้เอง สามารถไปค้นหาเพิ่มได้เอง ถ้าเราเขียนสั้น ๆ แบบว่าเรามีลิงก์ให้คนสามารถไปอ่านต่อได้ มันก็ช่วยเพิ่ม engagement ได้ ซึ่งตรงนี้การเรียนในหลักสูตรที่ผมเรียนมาไม่ได้มีการเรียนการสอนแบบนี้เลย แต่ถามว่ามันเป็นพื้นฐานที่ดีไหม มันเป็นพื้นฐานที่ดีนะครับ คือการสื่อสารลงในแพลตฟอร์มซึ่งเป็นวิทยุโทรทัศน์ เราได้เรียนทั้งภาพและเสียงด้วย คือเราได้เรียนทั้ง visual ของการสื่อสารของเรา ก็ได้เรียนทั้งเรื่องของการใช้เสียง การเขียนบท เพราะฉะนั้นถ้ากลับมาเป็นตัววีดีโอใน Social Media แล้วมันปรับได้ค่อนข้างที่จะง่ายครับ

ทำไมถึงตัดสินใจเปลี่ยนมาทำเป็น Video Journalist?

จริง ๆ ตัวบทบาทหน้าที่แทบจะไม่ต่างกันเลย มันต่างกันแค่ชื่อตำแหน่ง แต่ว่าตอนที่ทำงานเป็น Digital journalist ทำวีดีโอเป็นหลักด้วยเหมือนกันนะครับ ก็คือเขียนบทไปทำเป็นวีดีโอสั้นลงใน Workpoint News (ปัจจุบันคือ Workpoint Today) ก็จะเป็นคำบรรยายขึ้นแล้วก็มีภาพ เป็นวีดีโอสั้น ๆ ประมาณ 3-4 นาที ซึ่งตอนนี้ Workpoint News ก็ยังทำอยู่ทำตัว shot video อยู่

แต่ว่าพอเปลี่ยนมาเป็น video journalist แล้ว สิ่งที่มันเปลี่ยนเลยก็คือเราต้องทำเองทุกกระบวนการครับ เพราะว่าตัว Job description ของ video journalist ที่นี่เขาระบุไว้ว่าคุณจะต้องเขียนข่าวเองนะ ออกไปสัมภาษณ์เอง ถ่ายเอง ตัดเอง แล้วก็ทำกราฟิกเบื้องต้นเองครับ คือก็ทำเกือบทุกกระบวนการแล้วครับ การสื่อสารผ่านวิดีโอตอนที่อยู่ Workpoint มันก็จะมีทีมที่ค่อนข้างใหญ่ สามารถมีคนตัดให้เราออกไปสัมภาษณ์ แล้วก็ไปกับช่างภาพเรา ก็เป็นผู้สัมภาษณ์คนเดียว เราก็กลับมาก็เขียนบท ส่งฟุตเทจให้คนตัดสามารถตัดต่อได้ แต่พอมาเป็นที่นี่แล้ว ทุกกระบวนการที่เราพูดมา เราทำมาทั้งหมด คือมันเป็นกระบวนการที่เราจะต้องทำด้วยตัวเองเป็นหลักเลยครับ

พอทำด้วยตัวเองเป็นหลักทั้งหมด เราต้องเรียนรู้ใหม่ในหลาย ๆ เรื่องไหม?

จริง ๆ แล้ว คืออย่างที่บอกนะว่าเราชอบถ่าย เราก็ชอบตัดมาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราพอจะทำเป็นอยู่แล้ว แล้วก็ตอนเรียนหรือว่าตอนฝึกงานเองก็พอได้เรียนเขียนมาบ้าง ก็คือเรียนทุกอย่างครับ มันสามารถมันเสริมทักษะเรามาเรื่อย ๆ อยู่แล้ว มันก็เลยทำให้เราทำค่อนข้างที่จะเป็นครอบคลุมอยู่แล้วในเบื้องต้นนะครับ แต่พอเราได้อ่าน Job Description ของตัว BBC Thai เราก็รู้สึกว่าเราน่าจะทำได้นะ หมายถึงเราตรงค่อนข้างที่จะเยอะเลยกับสิ่งที่เขาต้องการ ยกเว้นเขียนบทความที่เราไม่เคยเขียนบทความยาว ๆ มาก่อนเลย เพิ่งมาเริ่มเขียนที่นี่เป็นที่แรก ก็ถ้าจะทำก็ต้องปรับจุดไหนเหรอ? ก็คือการเขียนเป็นรายงานฉบับยาว ๆ นี่แหละ ก็เลยต้องมาเริ่มเขียนกันที่นี่แหละครับ ถ้าจะทำก็ต้องปรับจุดไหนก็คือการเขียนเป็นรายงานฉบับยาว ๆ ก็เลยต้องมาเริ่มเขียนกันที่นี่นะครับ เพราะว่าตอนเรียนก็แทบจะไม่ได้เรียนเขียนบทความยาว ๆ เลย แล้วเราก็ไม่ได้เรียนสิ่งพิมพ์มา เราเรียนวิทยุโทรทัศน์มา ทำเป็นบทโทรทัศน์อะไรอย่างนี้ครับ พอมาเป็นแบบการใช้ การเลือกใช้คำ การพรรณนาต่าง ๆ ตรงนี้มันก็เลยต้องฝึกค่อนข้างเยอะเหมือนกัน แต่ก็มีพี่ ๆ ทางทีม BBC Thai บรรณาธิการ แล้วก็คนอื่น ๆ ที่เคยอยู่แล้ว ออกไปแล้วนะ ก็คือช่วยกันมาเยอะเหมือนกันครับ

อะไรคือเกณฑ์ในการเลือกหรือไม่เลือกประเด็นในการนำเสนอข่าว?

แล้วแต่แต่ละกองบรรณาธิการ คือในแวดวงของสื่อมวลชนในแต่ละสำนัก มันก็จะมีกองบรรณาธิการอยู่นะครับ คือแต่ละกองบรรณาธิการก็จะเป็นตัวตัดสินใจว่าข่าวไหนควรจะนำเสนอหรือว่าข่าวไหนจะนำเสนอแบบไหนดี หรือว่าผลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนจะได้มากน้อยแค่ไหน หรือว่าเราจะทำยังไงที่จะไปหาข้อมูลไหนมา เพื่อที่จะนำเสนอให้เป็นประโยชน์ต่อคนจำนวนมากได้ เพราะฉะนั้นอะไรที่มันเป็นอุปสรรคของแต่ละขั้นตอน เราก็จะพยายามหาวิธีการแก้ไปก่อน ไม่ใช่ว่าเราเสนอเรื่องนี้ไป เรื่องนี้ไม่เอา แต่เราจะพยายามหาว่าถ้าเราจะทำเรื่องนี้มันจะมีวิธีที่มันจะเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหน แล้วสุดท้ายผลมันออกมา คนอ่าน คนดูจะได้อะไรจากตัวคลิปหรือว่าตัวบทความของเรา ตรงนี้มันก็เป็นสิ่งที่ในกองต้องประชุมกันครับ

แต่ละกองบรรณาธิการก็มีแนวคิด มี sense ของการเลือกเรื่องที่แตกต่างกันไปครับ ไม่อยากเปรียบเทียบ (หัวเราะ) แต่ละกองก็จะแตกต่างกันไป แล้วแต่จุดมุ่งหมายของของแต่ละสำนักครับ สำหรับ BBC Thai ก็จะมุ่งเน้นการเสนอสิ่งที่เชิงลึก คือเราแทบจะไม่ได้รายงานข่าวแบบอัพเดท ตอนนี้เกิดแล้วจบอะไรอย่างนี้ครับ เราจะมีมุมมองใหม่ ๆ สัมภาษณ์คนนู้นคนนี้มาเพื่อให้คนอ่านคนดูได้รับประโยชน์ที่มากกว่าการดูว่าเกิดอะไรขึ้น นั่นคือจุดประสงค์ของทีม BBC Thai ครับผม

ขั้นตอนการผลิตผลงานแบบ Video Journalist มีวีธีการอย่างไรบ้าง?

มันมีคนที่เล่าเรื่องผ่านวีดีโอกันเยอะมากเลยนะครับ Blogger Youtuber อะไรอย่างนี้ครับ ทุกคนแทบจะเล่ากันเป็นอยู่แล้ว ก็ทุกวันนี้เราเสพ Content พวกนี้กันมากขึ้นนะครับ เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่อ่านอยู่ก็จะใช้เวลาว่างไปกับการดู YouTube ส่อง Youtuber คนนั้นคนนี้ อะไรน่าติดตาม ไลฟ์สไตล์และชีวิตของเขา มันก็จะเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาว่าเราจะชอบชื่นชอบวีดีโอประเภทไหน แต่พอมาเป็นงานข่าว มันก็เลยเอาคอนเทนต์ในส่วนของ YouTube ทั้งหลาย ซึ่งมันเป็น Digital Video มาปรับ มาประยุกต์ใช้ เช่นเราจะทำยังไงให้คนฟังเนื้อหาของเราที่มันเป็นข่าว เป็นสาระ แต่ไม่เครียดจนเกินไป ไม่ได้ฟังเป็นรายงานจนเกินไป เป็น  Pattern เป็นการใช้เสียงแบบเดียวกันอะไร

พอมันเป็น Digital แล้ว มัน relax กว่ามากเลยครับ คือคนต้องการที่จะคุยกับเรา คนต้องการที่จะฟังเราเล่าเรื่องเป็นเราคนเดียวครับ คือเหมือนกับคนเวลาไปฟัง YouTuber เล่าเรื่อง เรามองหน้า เราฟังเสียงคนคนเดียวเล่าเรื่องได้เรื่อย ๆ เลย ทั้งที่เขาแทบจะไม่มี insert ประกอบเท่าไหร่เลยครับ

ทีนี้พอมันเป็นวีดีโอข่าวแล้ว อย่างเรื่องโควิด-19 ในช่วงนี้ก็เป็นเนื้อหาที่มันค่อนข้างหนัก มันค่อนข้างที่จะเป็นวิทยาศาสตร์ แล้วมันก็ค่อนข้างที่จะเครียดมาก ก็คือเราก็ต้องสื่อสารผ่านช่องทางดิจิตอลด้วยการที่เอาเนื้อหาทั้งหมดมาย่อยให้ง่าย คือเราต้องเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดที่เป็นประเด็นข่าวทั้งหมด แล้วก็เอามาสรุปรวม แล้วก็สร้างเป็น conversational script ครับ ก็คือเป็นแบบว่าเหมือนเราพูดกับคนโดยตรงเลย มันก็เป็นอะไรที่เราจะไม่ได้เห็นในทีวีที่ผู้ประกาศมาดมยาดมให้เราดู มันสามารถใส่ได้ในชิ้นงาน Digital มากขึ้นครับ

ทีนี้ก็คือขั้นตอนในการทำงาน คือเราจะต้องเขียนบทก่อน ก่อนที่เราจะเขียนบท เราก็ต้อง Research ก่อน ก็คือไปนั่งอ่านข่าวไป แล้วก็เอามาย่อยมาสรุปรวม ก็คือเขียนให้มันง่ายที่สุด ให้คนฟังแล้วฟังเข้าใจง่ายที่สุด ไม่ใช่อธิบายแบบยืดยาวหรือว่าอธิบายด้วยคำศัพท์ที่ถึงคนต่างไม่เข้าใจแน่ ๆ แต่แน่นอนว่าเนื้อหาเนี่ยมันจะต้องไม่เปลี่ยนไป คำบางคำก็ถูกแก้เหมือนกัน เป็นคำที่ง่าย เข้าใจง่าย ๆ จริง แต่ว่าอาจจะ misread ได้ ก็คือคนฟังอาจจะเข้าใจผิดได้ ก็ผ่านการกระบวนการแก้บทเหมือนกันครับ ส่วนกระบวนการภายในก็คือจะมีบรรณาธิการตรวจให้อยู่แล้วครับ เป็นลำดับขั้นตอนไป เสร็จแล้วพอเราได้บทมาแล้ว เราก็จะเอามาเปิดหน้าครับ ตรงนี้ก็คือการเปิดหน้าในเชิงการทำงานสื่อ หมายถึงการเห็นหน้า คือพูดกับกล้องครับ ก็เป็นการเข้าไปอัดในสตูดิโอ green screen เพราะว่าเป็นอะไรที่สามารถคอนโทรลได้ แล้วก็จะอัด แล้วเราก็จะมาตัดต่อนะครับ ตัดเองเหมือนกันครับ ถ่ายบางทีก็ขอให้พี่ช่วยกด record ให้นะครับ เสร็จแล้วเราก็จะมาตัดต่อเอง ก็คือลบ green screen ออก ใส่พวก insert กราฟิกอะไรง่าย ๆ แล้วเราก็ทำเองด้วยครับ ขั้นตอนมันก็จะเป็นประมาณนี้ ก็คือหลัก ๆ ที่สำคัญจริง ๆ ก็คือตัวบทนี่แหละที่ให้คนเข้าใจได้ง่ายที่สุด

มีการเลือกใช้คำยังไงให้มันให้มันไม่หวือหวาแต่ว่าเข้าใจง่าย?

คือเราต้อง based on fact คือเราต้องพูดเป็นความจริงทั้งหมดนะครับ เราไม่สามารถใส่ emotional เข้าไป ก็เป็นสิ่งที่น้อง ๆ นิเทศศาสตร์เคยเรียนกันมาหมดแล้ว ว่าเราต้องยึดตาม facts เท่านั้น แต่ว่าพอเป็นอย่างนี้แล้ว ตัวที่สำคัญก็คือคำมันจะไม่ใช่ภาษาเชิงวิชาการเกินไปครับ คือยกตัวอย่างงานชิ้นโควิด-19 ก็ได้ครับ คือเหมือนจริง ๆ จะต้องอธิบายเรื่องของตัวโปรตีนบนตัวไวรัสผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ เข้าไปในเซลล์ได้ยังไง แล้วมันค่อนข้างที่จะเป็นวิทยาศาสตร์ค่อนข้างมากเลย ก็เลยจะต้องเบรกก่อน คือเราพูดเหมือนเราพูดกันเอง ไม่ใช่พูดกับแพทย์หรือว่าฟังแพทย์พูดมาเลยนะ ทุกคนน่าจะเคยฟังเวลามีการแถลงอะไรเกิดขึ้น บางครั้งเราก็ไม่เข้าใจนะ เราต้องมีถามอีกรอบว่าคำนี้มันแปลว่าอะไรนะครับ เราจะต้องเดินไปหาหมออีกรอบว่าหมอพูดคำนี้หมายถึงยังไงนะครับ? แต่พอมันเป็นวีดีโอที่เราซึ่งเป็นคนย่อยมาแล้ว เราจะไปสื่อสารแบบหมอก็ไม่ได้ เราจะต้องสื่อสารให้คนส่วนมากเข้าใจ เพราะฉะนั้นคำก็เลยจะง่ายมาก ๆ อย่างที่บอกว่าเรามีการเบรกด้วยว่าจริง ๆ มันเยอะมากเลยนะครับ แต่ว่าคลิปนี้ของ่าย ๆ แล้วกันนะครับ ก็จะเป็นการเบรก แล้วก็ยังคงความ fact ไว้อยู่ แต่เราไม่ได้เจาะลึกเชิงวิชาการขนาดนั้นแล้ว

พอมันมีเรื่อง โควิด-19 เรามีการถามข้อมูลจากครอบครัวซึ่งทำอาชีพด้านการแพทย์บ้างไหม?

ถามค่อนข้างหนักเลยครับ คือพีก็ไม่ได้จบสายวิทย์มา เราเรียนสายศิลป์มาตลอดเลย ตั้งแต่มัธยมอะไรอย่างนี้ครับ แล้วก็เข้ามาในคณะนิเทศศาสตร์ด้วย คือแทบจะเรียกได้ว่าทั้งบ้านเป็นสายแพทย์หมดเลย มีแค่พีคนเดียวที่มาเรียนสายนิเทศศาสตร์ ก็เลยต้องโทรไปสอบถามข้อมูลเหมือนกัน คือบางทีเราอ่านเองมาส่วนนึงแหละ เราก็นั่งอ่าน แล้วเราก็ไม่เข้าใจตัวถุงลมว่าอยู่ตรงไหน แล้วไวรัสมันเข้าไปตรงนั้นเลยหรือเปล่า แล้วปอดบวมมันเกิดขึ้นได้ยังไง คือมันก็เป็นอะไรที่เราอ่านมาเบื้องต้นแล้ว แต่ว่าเราไม่เข้าใจว่ากระบวนการที่เข้าไปในถุงลมมันเกิดได้ไง เราก็โทรไปถามพ่อเลยนะ แต่ว่าพออธิบายมาแล้ว ก็รู้สึกว่ามันลึกเกินไปนะ เราก็เลยไม่ได้ใส่เข้าไปในคลิปนะครับ ในตัวแบบกระบวนการจริง ๆ ของทางแพทย์ แต่ว่ามันทำให้เราเห็นภาพได้กว้างขึ้น มันทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้น แล้วเราสามารถเลือกใช้คำได้ถูกมากขึ้นว่าแบบไหนที่เราเลือกแล้วมันผิดไปนะมัน misread ไปนะ จะมีคำบางคำที่แบบสมมุติถ้าเราใส่ไปแล้ว มันอาจจะแปลว่าอีกอย่างนึงที่ไม่ใช่ก็ได้

อย่างนี้แสดงว่าสิ่งสำคัญก็คือข้อมูลที่เป็นจริงถูกไหม?

ถูกครับ ใช่ครับ การทำงานสื่อมวลชนคือ fact อยู่แล้วครับ เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเลยในการที่จะได้มาซึ่งความเชื่อใจ แล้วก็ให้คนได้รับสิ่งที่ได้รับประโยชน์ที่สุดนะครับ มันก็ต้องนำเสนอด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงครับ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญของสื่อมวลชนก็คือการนำเสนอข้อเท็จจริงนี่แหละครับ ไม่ว่าสื่อมันจะเปลี่ยนเป็นกี่ platform จะเปลี่ยนไปในทุกยุค ทุกสมัยยังไง แต่ว่าตัวแกนหลักของมันก็ยังคงเหมือนเดิมครับ

เรามีวิธีการที่จะเพิ่มลูกเล่นยังไงให้วีดีโอมันน่าดูแล้วก็สามารถดึง engage คนได้?

ก็พยายามหาลูกเล่นมาเพิ่มเรื่อย ๆ นะครับ จริง ๆ แล้วมันก็จะมีวีดีโอบางอย่างที่จริง ๆ ขอยกตัวอย่างคลิปที่ทำกับ BBC Thai เหมือนกัน เราได้รับโจทย์มาจากบรรณาธิการให้ทำเรื่องค่าเงินบาทแข็ง ซึ่งค่าเงินบาทแข็ง เดินไปพูดกับใครบางคนก็ไม่อยากที่จะฟังแล้วว่ามันคืออะไร จะอธิบายให้คนเข้าใจมันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย ทีนี้โจทย์ของเราก็คือ พีไม่อยากเป็นคนเล่าเองด้วย ไม่อยากที่จะเป็นคนที่จะไปย่อยข้อมูลมาแล้วเล่าด้วย เพราะว่าเราไม่ได้มีความรู้เรื่องเกี่ยวกับการเงิน การบัญชีมาก่อนเลย คนฟังอาจจะไม่ได้เชื่อพีขนาดนั้นด้วยในการวิเคราะห์เรื่องของค่าเงินบาท สุดท้ายก็เลือกไปสัมภาษณ์ TDRI ครับ แต่ตัวรูปแบบการไปสัมภาษณ์เฉย ๆ มันก็อาจจะนิ่งไปหรือว่าน่าเบื่อไปใช่ไหมครับ ก็เลยเพิ่มลูกเล่นด้วยการไปเอากระทู้พันทิป แล้วก็เอาไปให้ตัวของนักวิจัยของทาง TDRI  เป็นคนอ่านคำถาม แล้วก็เป็นคนตอบคำถามนั้นเองครับ

ก็เป็นลูกเล่นเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มันเป็นเชิงดิจิตอลเหมือนกันนะ คือเราคิดว่ามันจะมีลูกเล่นอะไรที่จะมาเล่นได้บ้าง พอมันเป็นสิ่งที่เราต้องการจะตอบคำถามสิ่งที่ประชาชนสงสัยแล้ว มันก็ค่อนข้างที่จะตรงกับเว็บไซต์ของพันทิปเขา ที่จะมีกระทู้ที่คนตั้งคำถามกันเยอะแยะมากมาย รวมถึงเรื่องการเงินด้วย แล้วก็เอาคำถามตรงนั้นมาเพื่อให้ตัวนักวิจัยจาก TDRI ได้ตอบ มันก็เป็นลูกเล่นน่ารัก ๆ สนุก ซึ่งกลายเป็นว่าตอนไปบรีฟให้เขาฟัง ไปบรีฟให้ทางนักวิจัยฟัง ผมก็บอกว่าขอแบบคำตอบง่าย ๆ เลยนะ เอาแบบอธิบายเหมือนให้พวกผมฟังที่ไม่เข้าใจอะไรเลย คือแบบเหมือนให้เด็กฟังเลย แล้วสุดท้ายคลิปมันออกมาค่อนข้างได้ผลตอบรับค่อนข้างดี มีคนคอมเม้นใน YouTube ค่อนข้างที่จะหลายคนเลยว่าเป็นคลิปที่อธิบายเรื่องค่าเงินบาทได้เข้าใจง่ายที่สุดแล้ว เพราะว่าบางคำถามเนี่ยเราก็ใส่เข้าไปด้วยเป็นคำถามลูกเล่นเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นแบบทําไมนาฬิกาหรูถึงแพง มันเป็นคำถามที่คนสงสัยกัน แต่เราเลือกที่จะเอาไปให้นักวิจัยตอบ แต่ถ้าเกิดว่าเป็นทีวีเป็น เขาก็คงอาจจะตัดคำถามนี้ออกไปเลย เพราะว่าเวลามีข้อจำกัดใช่ไหมครับ แต่พอเราเป็นดิจิตอล บางทีการเลือกคำถามของแต่ละอย่างแล้ว มันก็มีช่วงพักเบรกให้คน ได้หยุดเพื่อจะติดตามต่อไปเรื่อย ๆ ด้วย

แสดงว่าเรื่องเวลาก็มีส่วนทำให้เราเลือกเนื้อหามาลงใช่ไหม?

ใช่ครับ ก็คือข้อดีของ Digital คือเราไม่มีข้อจำกัดด้านของเวลาเท่าไหร่นะครับ คือจริง ๆ แล้วความยาวของคลิปมีส่วนในการตัดสินใจของผู้ที่จะเลือกรับชมถูกไหมครับ เห็นคลิปยาว ๆ แล้วก็อาจจะไม่ได้ว่างดูขนาดนั้น เราอาจจะผ่านไปเลยด้วยซ้ำ แต่มันสามารถกว้างขึ้นและเป็นอิสระมากขึ้น มากกว่าสล็อตของตัววิทยุหรือโทรทัศน์ เพราะฉะนั้นเนี้ยความยาวมีผลต่อคนดูไหม มีครับก็คือแค่คลิปยาวเกินไปคนอาจจะหยุดดูคนอาจจะไม่ดูอะไรอย่างนี้ครับ

มีการไปเรียนการใช้ Platform แต่ละอย่างเพิ่มเติมไหม?

มีครับ ก็มีเรียนอยู่บ่อย ๆ เลย จริง ๆ คือพีทำงานมา 2 ที่ มี Workpoint กับ BBC Thai นะครับ คือที่ Workpoint ก็มีสอนเหมือนกัน มีพา Facebook มา partner เพื่อมาสอนก็มีเหมือนกันนะครับ แล้วก็ BBC Thai ก็จะมีอบรมด้านของ Social Media เหมือนกัน ทั้งเรียนออนไลน์เอง แล้วเราก็มีบรรณาธิการ Social Media ที่มีหน้าที่คอยให้คำแนะนำเรื่องของความยาว คิดเรื่องของสไตล์การเล่า เราก็มีเหมือนกับเป็นที่ปรึกษาครับ

รีวิวการทำงานใน BBC Thai หน่อยว่าเป็นยังไงบ้าง?

คือการทำงานใน BBC Thai ดีครับ มีแต่พี่ ๆ เก่ง ๆ ทั้งนั้นเลย มีพี่ ๆ ผู้สื่อข่าวที่เก่งมาก ๆ แล้วก็ค่อนข้างที่จะเฉพาะทางในหลาย ๆ เรื่องด้วย ก็คือมีความรู้เฉพาะทาง สามารถเขียนวิเคราะห์ สามารถรู้ประวัติได้ รู้ประเด็นได้อย่างเชี่ยวชาญเลย คือเป็น Professional มาก ๆ เลยในการทำงานของ BBC Thai นะครับ แต่ว่าในบรรยากาศการทำงานก็ค่อนข้างที่จะ Friendly เป็นการทำงานร่วมกัน ร่วมกันคิด ร่วมกันเสนอประเด็น แล้วผมก็เด็กสุดเลย เป็นน้องเล็กของ BBC Thai ก็มันทำให้เห็นมุมมองที่ต่างกันของ generation เหมือนกันนะ แต่ว่ามันช่วยส่งเสริมกันครับ บางประเด็นที่เราสามารถ Monitor ได้ทาง Social Media เราก็บอกพี่เขาได้ค่อนข้างเร็วเหมือนกัน ปกติเราก็สามารถจับประเด็น จับเทรนในพวกสิ่งที่คนกำลังพูดถึงใน Twitter มาแปลงเป็นประเด็นข่าวได้ค่อนข้างไวเหมือนกัน

ติดตาม Twitter ในการจับประเด็นมาเล่าข่าวเป็นหลักใช่ไหม?

ใช่ครับ สำหรับตัวพีเองด้วยมั้งครับ คือพีเป็นคนเล่น Twitter ค่อนข้างที่จะเป็นหลักเลย คือ Facebook เอาจริง ๆ ถ้าไม่ได้ทำงาน พีก็คงจะไม่ค่อยเล่น Facebook เท่าไหร่ รู้สึกว่าตัว platform ใน Twitter มันค่อนข้างที่จะสะดวกกว่าในการที่จะเลื่อน Feed ไปเรื่อย ๆ แล้วใน Twitter มันค่อนข้างที่จะมีคนรีทวิตมาค่อนข้างที่จะหลากหลายอยู่เหมือนกันนะครับ กับคนที่ติดตามเองด้วยนะ มันก็จะมี content อะไรใหม่ ๆ แล้วก็ค่อนข้างที่จะเร็วเหมือนกันในการที่จะรับรู้ประเด็น

มีการเลือกเทรนด์ที่จะมาเล่าข่าวยังไง?

ถ้าเลือกเทรนด์จริง ๆ แล้ว มันก็ขึ้นเป็น Trending สิ่งที่มันขึ้นเป็น Trending มันก็เป็นสิ่งที่เราต้องดูกันอยู่แล้ว แต่ว่าบางประเด็นที่คนกำลังพูดถึงใน Social Media เราสามารถจับมาเล่นได้เลยก็ได้โดยที่มันแทบจะไม่เคยติดเทรนด์นะ แต่ว่ามันมีการพูดถึงอยู่หลายรอบแล้วเราก็นำมาเล่น เช่นเรื่องของผ้าอนามัยแพง แล้วก็เก็บมาจากการพูดถึงใน Social Media อะไรอย่างนี้นะครับ

ถ้าไม่ได้เรียนจบนิเทศศาสตร์โดยตรง สามารถเป็นนักข่าวได้ไหม?

ได้ครับ และดีกว่าด้วยครับ (หัวเราะ) คือพีมองว่าคนนิเทศศาสตร์ก็แทบจะน้อยลงแล้วนะ ที่จะทำงานในสายนี้ แค่นี้จริง ๆ เอาจริง ๆ ในรุ่นพีที่จบวิทยุโทรทัศน์มา แทบจะน้อยมากเลยที่จะมาทำงานอยู่สายวิทยุ โทรทัศน์แล้ว เพราะฉะนั้นคนในวงการไม่ว่าจะเป็นสื่อต่าง ๆ หรือว่าตัวสื่อมวลชนเอง จบอะไรมาก็สามารถเป็นได้ครับ แต่ว่าตัวหลักการ เราอาจจะต้องมาเรียนรู้เพิ่มเติมว่าจรรยาบรรณ จริยธรรมมันเป็นยังไง หรือว่าถ้าเราจะรายงานแบบไหนไปมันจะสร้างผลกระทบอะไรได้มากน้อยต่อคนขนาดไหน ตรงนี้มันก็เป็นสิ่งที่เราสามารถมาเรียนรู้กันได้เพิ่มเติมหรือว่าตัวเทคนิคต่าง ๆ มันไม่ใช่สิ่งที่เราเรียนนิเทศมาแล้ว เราจบแล้วเราจะสามารถหยุดได้เลย ทุกอย่างเทคโนโลยีมันเปลี่ยนไปทุกวันนะครับ เราไม่สามารถที่จะจบแค่เรียนนิเทศ เราหยุด เรารู้หมดแล้วทุกอย่างมันเป็นไปไม่ได้ครับ คือสิ่งที่เราเรียนมาแล้วอาจจะได้เรียน switcher ที่มันเก่าครับ 10-20 ปี จบมาแล้วเรามาเจอกับ switcher หรือว่าอุปกรณ์ใหม่ ๆ เลยนะ เราต้องเรียนรู้ใหม่อยู่ดี เพราะฉะนั้นต้นทุนของการเรียนนิเทศมีไหม ก็มี แต่ไม่ได้มากขนาดนั้นครับ คือแล้วแต่แต่ละคนเก็บเกี่ยวกันมากกว่า

ปัจจุบันคนเขียนข่าวกันเองง่ายมาก ทั้งข่าวจริงข่าวลือ คิดว่าอนาคตสื่อหลักจะปรับตัวยังไงให้ทันโลก?

จริง ๆ ก็เป็นสิ่งที่สื่อหลักทุกสำนักพยายามที่จะปรับตัวกันอยู่ หลาย ๆ คนก็ปรับไม่ไหวแล้วก็ล้มหายตายจากกันไปนะครับ แต่ว่าเป็นสิ่งที่สื่อหลักมีหน้าที่ต้องปรับตัวเหมือนกันในการที่จะเป็นผู้ที่นำเสนอ เพราะฉะนั้นถ้าเราดูเรื่องของว่ามีทั้งข่าวจริง ข่าวเร็ว แน่นอนว่าไม่ใช่หน้าที่ของสื่อหลักเลยที่จะนำเสนอข่าวลือ ตรงนี้มันก็เลยมีเรื่องของจรรยาบรรณ จริยธรรมที่มันควรจะเข้มงวดกันมากขึ้น มีความตั้งใจในการสื่อสารกันมากขึ้น ซึ่งพีก็คิดว่าในสื่อไทยแม้ว่าจะโดนกระแสดรามากันมาเยอะ แต่ว่าก็ยังมองว่ายังมีคนมีจรรยาบรรณอยู่ แต่ว่าก็ต้องปรับตัวกันมากขึ้น แล้วเราต้องจริงจังกับเรื่องของการ Recheck ข่าวกันมากขึ้นแล้ว เพราะว่าข่าวลือเนี่ยมันมาทั่วโลกเลย แล้วในประเทศไทยมันก็เกิดขึ้นค่อนข้างที่จะมากแล้ว

สิ่งที่ควรทำในฐานะสื่อหลักก็คือเราต้องมั่นใจก่อน เราต้องเช็คความถูกต้องก่อน แม้ว่าคำว่าทันโลกเนี่ยมันอาจจะดูเหมือนว่าเราต้อง Real Time หรือเปล่านะ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ครับ คือเราไม่จำเป็นที่จะต้องเร็วไปซะทุกอย่าง แต่เราเอาชัวร์ไว้ก่อนดีกว่า แต่ว่าสิ่งที่ดีที่สุดก็คือเร็วแล้วก็ชัวร์ด้วย นั่นคือสิ่งที่สื่อหลักกำลัง challenge อยู่ครับ

หนึ่งในผลงานของพี ในฐานะ Video Journalist – BBC Thai

ประสบการณ์ในการทำข่าวอะไรที่ทำให้ประทับใจมากที่สุด?

คือจริง ๆ ประทับใจค่อนข้างที่จะหลายชิ้นเหมือนกันครับ หมายถึงว่าประสบการณ์ในการประทับใจคือคนที่เข้ามาแสดงความเห็น หรือว่าคนที่แชร์ไปในยุคนี้ พี่เอม – นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บอกว่าเราไม่ใช่แค่รายงานแล้วเราไม่ได้รับ feedback อีกต่อไปแล้ว แต่ว่าทุกวันนี้เราได้เห็น feedback กันผ่านทางการแชร์ ทางด้านการแสดงความเห็นเลย ซึ่งตรงนี้แหละมันเป็นสิ่งที่ทำให้ชื่นใจของแต่ละชิ้นงานของเราที่มีคนแชร์ไป แล้วบอกว่าคลิปนี้เข้าใจง่ายจัง ตรงนั้นก็มีคนบอกว่าดีจังหายแพนิคขึ้นเยอะเลย หรือว่าเป็นประโยชน์มากเลยแบบอันนี้คนฟังทำให้ได้รับข้อมูลข่าวสารจริง ๆ เลยนะ มันเป็นการตั้งใจของเราจริง ๆ ที่แบบคนมาบอกว่าอธิบายง่ายมาก เข้าใจง่ายมากเลยนะ ตรงนี้มัน Complete ว่ามันคือสิ่งที่เราจะพยายามทำครับ คือมันเป็นสิ่งที่เราอยากจะเล่าให้เข้าใจง่าย แต่ว่าบางทีเราก็กลัวว่าสิ่งที่เราสื่อออกไปคนจะเข้าใจหรือเปล่านะ แต่พอคน feedback กลับมาอย่างนี้แล้วว่าเข้าใจได้ง่าย มันค่อนข้างที่จะชื่นใจ มันก็เลยเป็นสิ่งที่ประทับใจครับผม

อนาคตสื่อจะย้ายไปออนไลน์หมดเลยรึเปล่า?

ตรงนี้เป็นการคาดการณ์เลยนะ แต่ว่าสำหรับตัวความคิดเห็นของพีนะ ยังไงตัวแพลตฟอร์มของทีวีมันยังเป็นช่องทางที่คนส่วนใหญ่ยังรู้สึกเชื่อว่ามันน่าเชื่อถือที่สุด คนยังมองว่ามันเป็นสื่อหลักอยู่ดี เพราะฉะนั้นในอนาคตมันจะย้ายไปไปออนไลน์หมดเลยไหม ถ้าในอนาคตมาก ๆ ก็คงหมดเลยนะ แต่ว่าถ้าในอนาคตอันใกล้หรือว่าในช่วงชีวิตของเราเนี่ย เรายังมองว่ามันยังคงจะมีดิจิตอลทีวีอยู่นะ คือเป็นช่องทางในการรับสัญญาณเข้ามาอยู่ แต่ว่าควบคู่ไปกับออนไลน์และการ Feed Content ไปออนไลน์ก็ต้องเพิ่มมากยิ่งขึ้นด้วย คือบางคนอาจจะเอาทั้งสกรีนไปในออนไลน์เลยก็มีเยอะแล้วนะ ในอนาคตก็คือสิ่งที่น่าจะเห็นมากขึ้น ก็คือพวกสื่อจะเริ่มมาทำเป็น Content Online เฉพาะออนไลน์มากยิ่งขึ้นนะครับ

เป้าหมายสูงสุดในการทำงานสายอาชีพนี้?

เป้าหมายเหรอ ยากมากเลย (คิดหนัก) เราก็เพิ่งเริ่มทำงานด้วยนะ เราเพิ่งทำมา 3 ปีแล้วนะครับ แต่ว่าเป้าหมายของเราค่อนข้างที่จะเป็นเป้าหมายในแต่ละชิ้นงานไปเรื่อย ๆ ว่าชิ้นงานนี้เราก็อยากที่จะให้คนเข้าใจในเรื่องของอะไร จะทำยังไงให้คนเข้าใจได้มากที่สุด หรือว่าเข้าใจได้ง่ายที่สุด ถ้าคนเข้าใจได้ง่ายมันก็ประสบความสำเร็จกับเป้าหมายที่เราตั้งไว้ตามแต่ละชิ้น แต่ว่าเป้าหมายในสายอาชีพการทำงานของพี ยอมรับตรง ๆ ว่าคิดภาพไม่ออกเหมือนกันครับว่าพีจะไปอยู่ตรงไหน คือพีเห็นบรรณาธิการในทุกวันนี้ก็รู้สึกว่าเขาทำงานกันหนักเหมือนกันนะ เขาทำงานกันเหนื่อยเหมือนกันนะครับ คือพีก็เลยรู้สึกว่าการไปอยู่ในตำแหน่งที่มันจะต้องดูแลในทุก ๆ อย่างแล้ว มันจะเหมาะกับเราไหม แต่ว่าในส่วนตัวเราก็ยังชอบในเรื่องของการสื่อสารเหมือนกันนะ เราก็ยังคิดไม่ออกเหมือนกันนะว่าเราจะไปทำอาชีพอะไรที่ไม่ใช่ มาเป็น video journalist