fbpx

หลังจากการสละตำแหน่งหัวเรือใหญ่ของบีอีซี เวิลด์ของ “อริยะ พนมยงค์” และสานต่อให้กับ 3 พี่น้องจากตระกูล “มาลีนนท์” สานต่อกิจการในช่วงไร้ตำแหน่ง President หรือกรรมการผู้อำนวยการบริษัทฯ เหตุใดอริยะจึงต้องจากลา พร้อม ๆ กับผลประกอบการที่เพิ่งออกมาของไทยทีวีสีช่อง 3 ภายใต้ความค้างคาใจ วันนี้ส่องสื่อขอมาชำแหละรายได้กันทีละจุดกันเลยครับ

พูดถึงรายได้ประจำปี 2562 ซึ่งตัวของอริยะ พนมยงค์เองเพิ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งในวันที่ 18 เมษายน 2562 ภายใต้ความหวังที่จะผยุงให้เรตติ้ง รวมไปถึงรายได้ของบีอีซี เวิลด์สูงขึ้นจนผ่านพ้นวิกฤตไปได้ในที่สุด แต่ถึงกระนั้นรายได้ของบีอีซี เวิลด์ก็ลดลงไปมากถึง 1,815 ล้านบาทเลยทีเดียว! และเป็นครั้งแรกของบีอีซี เวิลด์ที่ขาดทุนมากที่สุดถึง 397 ล้านบาทอีกด้วย

ในส่วนของรายได้จากการขายโฆษณา ซึ่งปี 2562 มีการลดช่องทีวีดิจิทัลลงเหลือเพียงช่อง 33 ในช่วงปลายปี ทำให้รายได้ลดลงไปเหลือเพียง 6,743 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งก็มีเงินเยียวยาจากการขอคืนช่องที่จ่ายรวมๆ 2 ช่องอยู่ที่ 344 ล้านบาทมาช่วยตรงนี้ไว้อยู่ ก็ถือได้ว่าไม่ได้ช่วยได้มากเท่าที่ควรนั่นแหละ รายได้ส่วนใหญ่จึงกระจุกอยู่ที่ช่อง 33 เป็นหลัก และนอกจากนี้รายได้โฆษณาวิทยุก็มีสัดส่วนที่ลดลงอีกด้วยเช่นกัน

สิ่งที่ช่อง 3 ต้องกลุ้มใจอีกอย่างคือ รายได้จากการขายลิขสิทธิ์ที่ลดลงเหลือ 953 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 1,040 ล้านบาทอีกด้วย ส่วนหนึ่งมีผลมาจากการที่มีแพลตฟอร์ม/ช่องทางในการลงรายการของไทยทีวีสีช่อง 3 ลดน้อยลง นอกจากนั้นมีเพียงรายได้จากการจัดคอนเสิร์ตและแสดงโชว์ที่มีรายได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 557 ล้านบาทเท่านั้น

ก่อนหน้าการลาออกของอริยะ ทางไทยทีวีสีช่อง 3 มีกิจกรรมนัดพบสื่อมวลชน เพื่อฟังวิสัยทัศน์ของอริยะในการทำงานกับบีอีซี เวิล์ดในปี 2020 โดยก่อนหน้าลาออกอย่างเป็นทางการอริยะได้ให้ความมั่นใจถึงการทำงานว่า “ปีนี้จะไม่ขาดทุนอย่างแน่นอน” และมีการใช้กลยุทธ์ 6 เสาหลักที่ประกอบไปด้วย โทรทัศน์-คอนเทนต์-นักแสดง-ช่องทางการรับชม-เทคโนโลยี-ความเชี่ยวชาญ โดยจะเน้นการขยายฐานผู้ชม การลดต้นทุนและสร้างประสิทธิภาพการทำงาน การขยายช่องทางการออกอากาศ เพื่อทำให้ช่อง 3 กลายเป็นผู้นำทางด้านคอนเทนต์ในที่สุด

นอกจากการเผยแพร่รายได้ในปี 2562 แล้ว ล่าสุดก็ได้เผยแพร่งบของไตรมาสที่ 1/2563 ต่อเนื่องออกมาอีกด้วย โดยผลประกอบการในไตรมาสที่ 1/2563 ออกมาว่าบริษัทฯ มีรายได้ทั้งหมดอยู่ที่ 1,647 ล้านบาท แบ่งรายได้เป็นรายได้จากค่าโฆษณา 1,399 ล้านบาท รายได้จากการใช้ลิขสิทธิ์ 219 ล้านบาท รายได้จากการจัดคอนเสิร์ต 6 ล้านบาท รายได้จากการขายสินค้า 10 ล้านบาท และรายได้อื่นๆ 10 ล้านบาท โดยมีกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 41 ล้านบาท

ทั้งนี้ พอหักค่าใช้จ่ายที่มีงบประมาณอยู่ 1,975 ล้านบาท ก็ส่งผลให้บริษัทขาดทุนรวมอยู่ที่ 305 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายมีการลดลงร้อยละ 12.6 จากไตรมาสเดียวกันในปี 2562 โดยผลกระทบที่ทำให้รายได้ลดลงเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากกำลังซื้อของเอเจนซีและผู้บริโภคที่ลดลง อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อหลายมิติของธุรกิจในบริษัทฯ ไม่ว่าจะเป็นการจัดแสดงคอนเสิร์ตไม่ได้ การถ่ายทำละครที่ต้องเลื่อนออกไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นการรวมการลดขนาดองค์กร เนื่องจากการยุติการออกอากาศของไทยทีวีสีช่อง 3 ในระบบแอนะล็อกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเนื่องจากรายได้ที่ลดลงจากสถานการณ์โควิด-19 ก็ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงจากการที่ไม่สามารถจัดแสดงและออกอากาศตามปกติได้ด้วยนั่นเอง

สิ่งที่ทุกคนควรจับตามองก็คือการที่หลังอริยะออกจากตำแหน่ง จะมีการสรรหาตำแหน่งการรมการผู้อำนวยการคนใหม่ และปรับโครงสร้างองค์กรต่อไปหรือไม่? และใครจะมาครองแทนที่ตำแหน่งของอริยะ ต้องติดตามต่อไป…