fbpx

ถ้าจะให้พูดถึงรายการสาวประเภทสองที่สนุก ตื่นเต้น และลุ้นไปด้วยกัน หลายๆคนคงนึกถึง “RuPaul’s Drag Race” เป็นหนึ่งในรายการยอดนิยมอย่างแน่นอน แถมในไทยยังมีกระแสดีชนิดที่ไลน์ ทีวี ทยอยลงเพื่อให้ดูกันเลยทีเดียว และยังมีการซื้อลิขสิทธิ์มาทำในเมืองไทยแล้วด้วยนะ คนไทยกลุ่มหนึ่งจึงติดตามเรียลลิตี้ที่ทั้งชวนลุ้น สนุก และพากันรักบ้าง (เกลียดบ้างในบางครั้ง) กับผู้เข้าแข่งขันที่เรียกว่าจัดเต็มกันเลยทีเดียว

ถึงแม้หลายๆคนจะเห็นว่ารายการนี้นั้น สร้างบรรทัดฐานความเท่าเทียมทางเพศได้ก็จริง แต่ในแง่มุมลึกๆ RuPual’s Drag Race ก็ไม่ใช่รายการที่สร้างบรรทัดฐานความเท่าเทียมทางเพศกันสักเท่าไหร่ วันนี้ ส่องสื่อจะขอพาทุกๆท่านลองไปมองอีกมุมผ่านกรณีศึกษาในห้องเรียน Summer School : Summer school in Women, Gender, and Sexuality studies โครงการหลักสูตรสตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงรายการนี้กันดีกว่าครับ

ส่องสื่อมีโอกาสได้เจอผู้ที่หยิบยกกรณีศึกษาประเด็นในรายการนี้อย่างบังเอิญในงานการนำเสนอผลงานกรณีศึกษาในห้องเรียน Summer School : Summer school in Women, Gender, and Sexuality studies ที่ มธ. (ท่าพระจันทร์) เราจึงดึงเธอมาร่วมวงคุยในประเด็นที่เธอศึกษาและเราก็สนใจที่อยากจะแบ่งปันด้วยกัน

แนะนำตัวเองก่อน

ฝน  ปพิชญา วัฒนไกร ปัจจุบันฝนกำลังศึกษาระดับปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์ กลุ่มวิชาการสื่อสารเชิงสุนทรียะและบันเทิงคดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังเป็นนักศึกษาห้องเรียน Summer School (Summer school in Women, Gender, and Sexuality studies) ของวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกด้วย

ทำไมถึงสนใจหยิบยกประเด็นนี้มานำเสนอมาศึกษาในงานวิจัย?

พี่ฝน : รายการนี้เป็นรายการที่พี่ฝนชอบ และในฐานะที่เราเรียนนิเทศศาสตร์กับเรื่องเพศ พอเราตามรายการนี้ไปเรื่อย ๆ ก็รู้สึกสงสัยเรื่องพื้นที่การเปิดกว้างของการแสดงออกทางเพศ ก็เลยลองศึกษาดู จึงเห็นว่าในพื้นที่ที่เขาบอกกันว่า “เปิดกว้าง” ก็มีพื้นที่บางส่วนที่ถูกซ้อนทับอยู่ กลายเป็นว่าในขณะที่เปิดกว้างก็กลายเป็น เพื่อนที่กีดกันคนบางกลุ่มออกไปด้วย ซึ่งพี่ฝนคิดว่าน่าสนใจ พอทางธรรมศาสตร์เปิดโอกาสให้เสนองานชิ้นเล็ก ๆ ก็เลยอยากเอาเรื่องนี้ออกไปนำเสนอ อีกเรื่องก็คือรายการนี้เริ่มเข้ามาเป็นกระแสในไทยแล้ว ไม่ว่าจะจากคุณเต้ กันตนาที่ซื้อลิขสิทธิ์มาทำหรือแม้แต่ที่ทาง Line TV เริ่มทยอยแปลออกมาต่าง ๆ คนรอบตัวก็เริ่มสนใจรายการนี้มากขึ้น วัฒนธรรม Drag เริ่มมีคนพูดถึงมากขึ้น ก็หวังเล็ก ๆ ว่างานชิ้นจิ๋วของเราจะทำให้คนรู้สึกสนใจในประเด็นพื้นที่ทับซ้อนนี้บ้าง

บอกถึงรายละเอียดและเนื้อหาย่อยๆของรายการที่ศึกษาหน่อย

พี่ฝน : ก็เป็นรายการประเภท Reality ที่มีการแข่งขันกันเพื่อค้นหาผู้ชนะที่เรียกว่า American Drag Superstar แต่ละสัปดาห์จะมีภารกิจต่าง ๆ ให้ทำ ซึ่งต้องใช้ความสามารถเช่น การเต้น ร้องเพลง ตัดเย็บเสื้อผ้า คิดการแสดง โดยจะคัดผู้เข้าแข่งขันออกสัปดาห์ละหนึ่งคนไปเรื่อย ๆ ซึ่งส่วนตัวพี่ฝนรู้สึกว่าพบเห็นได้ทั่วไปนะ ก็คือหาคนที่เป็น Entertainer ที่เก่งที่สุดให้เป็นผู้ชนะของรายการ แต่ความพิเศษคือเขาเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มคนที่เรียกว่า Drag ซึ่งในที่นี่เขาหมายถึง Drag Queens นั่นแหละ

พบอะไรบ้างจากการศึกษาเนื้อหารายการนี้?

พี่ฝน : ถ้าอิงในงานวิจัยชิ้นเล็กของพี่ฝนอันนี้ ก็คือการเจอเรื่องการกีดกันทางเพศของ Drag ซึ่งที่จริงมีหลายประเภทมากไม่ได้จำกัดแค่ Drag Queens และอีกเรื่องก็คือการลดทอนความหลากหลายของ Drag ซึ่งไม่ใช่แค่ประเภทของ Drag เท่านั้น แต่ยังรวมถึง Drag Queens เองด้วยที่ถูกลดทอนความหลากหลายลง ทั้งผู้เข้าแข่งขันในรายการและ Drag ที่ได้รับอิทธิพลจากทางรายการ โดยเฉพาะ Drag รุ่นใหม่ ๆ ที่เอาสื่อกระแสหลักเป็นสำคัญ และเรื่องพวกนี้ไม่ได้ส่งผลแค่ในเฉพาะ Community แต่ส่งผลกระทบในการรับรู้ของผู้ชมในวงกว้างด้วย แต่ในขณะเดียวกันเราก็เข้าใจว่ารายการนี้เป็นรายการโทรทัศน์ที่มีอิทธิพลในระดับ mass แน่นอนว่ามันมีเรื่องการทำให้เป็นสากลและเรื่องธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง เรื่องการจำกัดพื้นที่หรือการผลักคนบางกลุ่มไปข้างหลังเพื่อให้ “ขายได้” มันก็มีอยู่ แต่ที่ต้องการนำเสนอประเด็นนี้เพราะวัฒนธรรม Drag เป็นเรื่องที่ส่วนตัวรู้สึกว่าค่อนข้างใหม่ในบริบทบ้านเรา จึงอยากให้นำเสนอประเภทของ Drag ที่ไม่ได้มีแค่ตามภาพประทับที่รายการนำเสนอ และอยากให้คนในสังคม โดยเฉพาะผู้รับชมในรายการนี้ ให้ความสนใจเรื่องพื้นที่การเปิดกว้างทางเพศและจุดบอดบางจุดด้วย

ผู้เข้าแข่งขัน RuPual’s Drag Race Season 3 (ภาพโดย : http://rupaulsdragrace.wikia.com/wiki/RuPaul%27s_Drag_Race_(Season_3) )

ในทัศนคติส่วนตัวของพี่ คิดว่ารายการประเภทนี้ควรปรับอย่างไรให้เหมาะสม?

พี่ฝน : พี่ฝนก็ยืนยันตามที่นำเสนอไป ก็คือการให้พื้นที่ Drag ประเภทอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็น Drag king, Drag Queen, Bio Queen และอื่น ๆ ที่ไม่ได้จำกัดเพียงเฉพาะในรายการเท่านั้น หรืออย่างน้อยก็ทำรูปแบบรายการให้ชัดเจนว่าเป็นรายการของ Drag Queen ไปเลย เพราะตอนนี้ที่เกิดขึ้นในความรู้สึกพี่ฝนคือ เขากำลังยักแย่ยักยัน (เก้ๆกังๆ) อะไรที่เอามาขายได้ก็ทำ กรณีที่ชัดเจนคือ Season ล่าสุดที่เปิดโอกาสให้ Transsexual Queen เข้าร่วมแข่งขันทั้งที่เคยมีกรณีการปิดโอกาส Bio Queen ไม่ให้เข้าร่วมแข่งขันอย่างชัดเจน ซึ่งพี่ฝนคาดว่ากระแส Trans ในช่วงปีสองปีนี้มันขายได้ เขาก็เลยยอม และก็เลือกคนที่ถือว่าเป็น Legend แล้วมาแข่งเพื่อรับประกันว่าไม่มีดราม่าแน่นอน จากเหตุการณ์นี้พี่ฝนรู้สึกว่ารายการควรปรับการให้พื้นที่ควรชัดเจนมากกว่านี้ เพราะไม่ว่ายังไงก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่ารายการนี้มีอิทธิพลต่อกลุ่ม queer ค่อนข้างสูงจนเกือบจะเรียกว่าผูกขาดเลยก็ว่าได้ การที่เขาไม่ชัดเจนแบบนี้ทำให้รายการเกิด flaws ที่พี่ฝนนำเสนอไป

ประเทศไทย เหมาะสมไหมที่จะนำรายการมาผลิตหรือทำรายการประเภทนี้?

พี่ฝน : รายการประเภทนี้มีอยู่แล้ว ถ้าพูดถึงการประกวดความสามารถด้านบันเทิง เดินแบบ ร้องเพลง ความสามารถในการเป็น Entertainer ต่าง ๆ เป็นแนวรายการที่มีอยู่เยอะมาก ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย แต่ถ้าหมายถึงการซื้อรายการ RuPaul’s Drag Race มาทั้งหมดแบบที่โทรทัศน์ไทยชอบทำกับรายการดัง ๆ ต่างประเทศ ส่วนตัวพี่ฝนคิดว่ายังไงก็ทำได้ แต่กระแสตอบรับจะแตกต่างจากต้นฉบับ เพราะปัจจัยหลายอย่าง เรื่องแรกที่พี่มองว่าใหญ่ที่สุดก็คือวัฒนธรรม Drag เป็นเรื่องที่ถือว่าใหม่สำหรับกลุ่มผู้รับสารระดับ mass ในประเทศนี้ คนสนใจมันมีแน่นอนอยู่แล้ว แต่คนส่วนใหญ่เขาก็ไม่ได้รู้จัก จะมารู้จักก็ผ่านรายการที่เพิ่งซื้อมานี่เอง ซึ่งในการที่ซื้อมาก็มีการทอนบางอย่างเพื่อให้คนส่วนใหญ่เข้าใจด้วย เช่น การใช้คำนิยาม Drag ว่า “กะเทยแต่งหญิง” (อ้างจากซับไตเติลไทยที่พี่ฝนดูบางตอนนะ) ซึ่งความจริงความหมายของ Drag มันไปได้ไกลกว่านั้น แต่ด้วยความที่มันต้อง Normalized ให้คนส่วนใหญ่เข้าใจ ก็กลายเป็นว่าความหลากหลายมันหายไปเลย นี่ก็ประเด็นที่หนึ่ง ประเด็นที่สอง คือเรื่องมุมมองเกี่ยวกับเรื่องเพศและความหลากหลาย บ้านเรายังคงมองเรื่องเพศแบบ Conservative

– เรามีภาพแยกค่อนข้างตายตัว เรามีคำว่า “เพศที่สาม” “สาวประเภทสอง” คือเรามีคำไปจัดเขา ไปลำดับขั้นเขา และยิ่งกว่านั้นคือมี stereotype ให้เรียบร้อยเสร็จสรรพด้วยซ้ำว่าแต่ละเพศควรจะแสดงออกยังไง –

อย่างในกรณีของรายการนี้ เมื่อบอกว่านี่คือรายการของ “กะเทยแต่งหญิง” ภาพของกะเทยแต่งหญิงในสังคมนี้ส่วนใหญ่คือต้อง “สวยเหมือนผู้หญิง” ทีนี้ความคาดหวังในรายการจะกลายเป็นอีกแบบแล้ว ส่วนตัวพี่ฝนมองแบบนั้นนะ และเรื่องแบบนี้มันไม่ได้อยู่ในระดับ mass ด้วย แต่ในฐานะที่แทรกซึมตัวเองอยู่ใน community ของกลุ่ม queer มาสักระยะ ทัศนคติเรื่องเพศเขาก็ Conservative ไม่ต่างจากคนในสังคมไทยส่วนใหญ่ที่อยู่นอก community เลย ในขณะที่สังคมฝั่งต้นฉบับเขาคุ้นชินกับวัฒนธรรม Drag รายการมันมีการ hybrid ของวัฒนธรรมสื่อค่อนข้างมาก ตัวเจ้าของรายการก็มีอิทธิพลทั้งในกลุ่ม mass media และ subculture ด้วย ซึ่งมันเป็นบริบทที่บ้านเราไม่มี และถ้าจะสร้างต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ฉะนั้น ถ้าถามพี่ฝนว่าทำได้มั้ย ทำได้ มีเงินก็ซื้อมาทำได้อยู่แล้วล่ะ แต่กระแสตอบรับจะคาดหวังให้เหมือนต้นฉบับพี่ฝนมองว่ายากมาก คืออาจจะรอเวลา รอกระแส โหมโปรโมท ใช้อิทธิพลของ influencer ต่างๆ มันก็ไปได้ไม่สุดเท่าต้นฉบับเพราะแนวคิดเรื่องความหลากหลายทางเพศของบ้านเราที่ต่างจากบ้านเขาอยู่ดี ถ้าให้ตอบว่าทำได้มั้ย ทำได้ ยืนยันว่าทำได้ แต่มันจะออกมายังไงเท่านั้นแหละ อาจจะออกมาแนว Miss Tiffany ก็ได้ พี่ฝนก็ไม่รู้นะ แต่ทำให้เหมือนต้นฉบับ 100% ไม่ได้แน่นอน

ภาพผู้เข้าประกวดในรายการ “Miss Tiffany’s The Reality” (ภาพโดย : MThai)

การศึกษาครั้งนี้จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยได้มากน้อยแค่ไหน?

พี่ฝน : พี่ฝนอยากให้ลองคิดต่อกับรายการวาไรตีบ้านเราอยู่นะ เอาแค่เรื่องการให้พื้นที่ทางเพศ ที่เราบอกว่าบ้านเราเท่าเทียมทางเพศและไม่มีการเหยียดกันนี่จริงหรือเปล่า ลองสำรวจรูปแบบการประกอบสร้างของเพศต่าง ๆ ในรายการดูกันดีไหม แล้วเรื่องอื่น ๆ ล่ะ ลองดูมุกตลกเสียดสีต่าง ๆ ในรายการกันหน่อยว่ามันเป็นอย่างไร

– ยังมีการเล่นกับอาชีพ สีผิว อาการบกพร่องทางร่างกาย อะไรพวกนี้อยู่หรือเปล่า พื้นที่เปิดกว้างของเรามันมีมีจริงไหม และปัจจัยอะไรที่ทำให้มันเป็นอย่างนั้น แล้วเราสามารถแก้ไขหรือพัฒนาอะไรมันได้หรือเปล่าในฐานะผู้รับสาร –

และในปัจจุบันควบหน้าที่ผู้ที่สามารถสร้างและกำหนดวาระข่าวสารได้จากการที่เรามีสื่อโซเชียลมีเดียในมือ พี่ฝนอยากให้คิดเรื่องพวกนี้กันด้วยอีกเรื่อง

ในอนาคตหากต้องมีรายการประเภทนี้จริงๆในไทย อยากให้ออกแบบเป็นรูปแบบไหน?

พี่ฝน : อย่างที่พี่ตอบไปว่ารายการคนหาตัวตนพวกนี้มันมีอยู่แล้วนะ แค่คนละเพศเท่านั้นเอง แต่ถ้าถามรูปแบบรายการแบบ RuPaul’s Drag Race เลยเนี่ย เอาตรง ๆ พี่ฝนจินตนาการไม่ออกเหมือนกันว่าถ้ามาที่บ้านเรามันจะออกมายังไง

– ถ้าถามว่าอยากให้เป็นแบบไหน ก็คงต้องบอกอย่างที่พี่ฝนเสนอ คือเปิดกว้างให้ Drag ทุกประเภทโดยไม่จำกัดเฉพาะ Drag Queen ซึ่งมันคิดภาพไม่ออกเลย ในเมื่อบ้านเราวัฒนธรรมนี้ยังไม่แพร่หลายด้วยซ้ำไป ถ้าจะซื้อลิขสิทธิ์มาจริง ๆ ขอเอากรอบความคิดเรื่อง “กะเทย = สวยเหมือนผู้หญิง” ออกก่อนก็พอใจแล้ว –

คือเอาภาพประทับที่มันปิดกั้นเพศสภาพแต่ละแบบออกก่อนก็พอแล้ว ถ้ารายการสามารถเป็นสะพานเชื่อมเรื่องพวกนี้ได้ก็จะดีมาก ๆ เลย เหมือนกับที่ Rupaul’s Drag Race ทำกับสื่อกระแสหลักมาแล้ว โดยที่มันเริ่มต้นจากวัฒนธรรมเล็ก ๆ จนตอนนี้ขายลิขสิทธิ์ไปเยอะมาก แฟชั่น ภาษา อะไรพวกนี้ก็มีอิทธิพลจากเขาเยอะ เพราะงั้น ถ้าจะมาจริง ๆ เรื่องที่พี่ฝนคาดหวังก็คงเป็นการที่รายการลดอคติอะไรต่าง ๆ ได้เท่านั้นแหละ

และนี่คือเรื่องราวกรณีศึกษาของ RuPual’s Drag Race กับพื้นที่ที่เปิดกว้าง (หรือยัง?) ในกลุ่ม Drag ในคราวหน้าจะมีเรื่องอะไรให้อ่านอีก ก็ต้องติดตามกันนะครับ