fbpx

กลายเป็นข่าวใหญ่ครึกโครมมาก สำหรับนักข่าวสายหนังสือพิมพ์ เพราะมีการตีข่าวว่าหนังสือพิมพ์ 2 เจ้าดังอย่าง “ไทยรัฐ” และ “เดลินิวส์” ประกาศเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำงาน โดยไทยรัฐฉบับพิมพ์เพิ่งขีดเส้นแดงในการส่งรายชื่อพนักงานที่จะถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยใช้วิธีการ “จ้างออก” จำนวนร้อยละ 50 จากจำนวนพนักงานทั้งหมด ในส่วนของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร จากเดิมคนที่ดำรงตำแหน่งนี้คือ นายประชา เหตระกูล โดยจะเปิดทางให้ คุณแดง –ประภา เหตระกูล เข้ามาบริหารงานแทน

ส่องสื่อเลยขอพาย้อนไปยังเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่หนังสือพิมพ์ทั้ง 2 เจ้าต้องพบเจอ และส่วนหนึ่งก็เป็นการนำบทความวิเคราะห์ที่ส่องสื่อได้เขียนแยกไปบ้างแล้ว นำมารวบรวมในบทความนี้ เพื่อที่อยากให้ทุกท่านช่วยกันวิเคราะห์ถึงเส้นทางต่อไปของหนังสือพิมพ์หัวเรือใหญ่ทั้งสองฉบับนี้กันครับ

ก่อนอื่น ขอพาไปติดตามสถานการณ์ของหัวสีบานเย็นอย่าง “เดลินิวส์” กันก่อนเลยครับ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์บริหารงานโดย บริษัท สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และมีประชา เหตระกูล เป็นบรรณาธิการบริหาร โดยมีจำนวนพิมพ์ปัจจุบันที่ 900,000 ฉบับ โดยเริ่มพิมพ์ในชื่อ เดลิเมล์วันจันทร์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2493 และต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็น เดลินิวส์ ในวันที่ 22 มกราคม 2522 และใช้ชื่อนี้จนถึงปัจจุบันนั่นเอง

ปัจจุบันจากการรายงานผลประกอบการของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด มีผลประกอบการขาดทุนในปี 2561 อยู่ที่ 22,505,457 บาท และมีรายได้ลดลงเหลือ 742,910,564 บาท ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่เดลินิวส์มีผลประกอบการที่ขาดทุน ส่งผลทำให้เดลินิวส์ ประกาศปลดคนไปเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563 โดยเป็นโครงการ “เกษียณอายุก่อนกำหนดอายุงาน” โดยมีเงื่อนไขเพิ่มเติมด้วยว่า พนักงานที่ได้รับการอนุมัติจากบริษัทฯ แล้ว จะยกเลิกการลาออกตามโครงการฯ ภายหลังไม่ได้ และต้องมาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ พร้อมทั้งส่งมอบงานให้เรียบร้อยก่อนสิ้นสภาพการเป็นพนักงาน และบริษัทฯ จะไม่รับพนักงานที่ได้รับการอนุมัติเข้าร่วมโครงการฯ กลับเข้าทำงานในฐานะพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทฯ อีก ทั้งนี้ พนักงานที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ที่ได้รับการพิจารณาอนุมัติ จะมีผลในวันที่ 1 ก.ค. 2563 และรับเงินค่าจ้างเดือนสุดท้ายพร้อมเงินชดเชยเป็นเช็ค ในวันที่ 30 มิ.ย. 2563 นั่นเอง

หลังจากนี้นก็มีความเคลื่อนไหวต่อมา นั่นก็คือ นายประชา เหตระกูล ได้ลาออกจากบทบาทการเป็นบรรณาธิการบริหาร โดยจะเปิดทางให้ คุณแดง –ประภา เหตระกูล เข้ามาบริหารงานแทน ซึ่งต้องคอยจับตาว่าจะสามารถกอบกู้สถานการณ์นี้ได้หรือไม่?

ที่แน่นอนแล้ว นั่นก็คือมีโอกาสสูงที่เมื่อทางเดลินิวส์รายงานผลประกอบการในปี 2562 นี้ (ซึ่งตามหลักต้องส่งภายในเดือนมิถุนายน ซึ่งครบรอบปีที่ส่งพอดี) จะมีตัวเลขแดงฉ่าออกมาอีกเป็นอย่างแน่แท้ และนี่ก็อาจจะเป็นผลที่ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนการทำงาน ตั้งแต่บุคลากรหลักไปจนถึงนักข่าวเลยทีเดียว

กลับมาดูอีกหัว นั่นก็คือ “ไทยรัฐฉบับพิมพ์” ที่ส่องสื่อเคยรายงานผลประกอบการไปเมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า “ไทยรัฐฉบับพิมพ์”) ดำเนินการโดย บริษัท วัชรพล จำกัด (อย่าจำสับสนกับไทยรัฐออนไลน์ เพราะถึงแม้เป็นเครือเดียวกัน แต่ก็เป็นคนละนิติบุคคล เช่นเดียวกับไทยรัฐทีวีนั่นแหละ) ซึ่งถ้าดูผลประกอบการย้อนหลังจะพบว่าในปี 2562 เป็นปีแรกในรอบหลายปีที่ไทยรัฐขาดทุน โดยมีผลประกอบการอยู่ที่ 1,706,034,580 บาท และมีผลประกอบการขาดทุนอยู่ที่ 36,040,572 บาท

จึงส่งผลให้ในวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา ทีมผู้บริหารได้เรียกพูดคุยกับหัวหน้าโต๊ะกองบรรณาธิการถึงการส่งรายชื่อผู้ที่ตัดสินใจลาออก โดยการลาออกครั้งนี้ไทยรัฐฉบับพิมพ์ได้ให้เงินชดเชยตามกฎหมายไว้แล้ว โดยตั้งเป้าหมายการลดจำนวนคนไว้ที่ร้อยละ 50 จากทั้งหมดของไทยรัฐฉบับพิมพ์

ส่องสื่อวิเคราะห์ต่อไปว่า หนังสือพิมพ์หัวเรือใหญ่ทั้งสองหัวอาจจะยังอยู่รอดในระยะมากที่สุดคือ 5 ปีหลังจากนี้ ซึ่งจะเป็นช่วงที่เปลี่ยนผ่านจากหนังสือพิมพ์ไปยังสื่อออนไลน์อย่างเป็นทางการ เนื่องจากจำนวนผู้อ่านหนังสือพิมพ์มีจำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ ประกอบกับเอเจนซีโฆษณาก็ลดสัดส่วนการใช้เงินในสื่อสิ่งพิมพ์ด้วยนั่นเอง โดยตัวเลขจาก Media Intelligent พบว่าเม็ดเงินโฆษณาโดยรวมจะถูกแบ่งให้สื่อสิ่งพิมพ์เพียงร้อยละ 2.05 เท่านั้น ซึ่งกลับกันกับเม็ดเงินโฆษณาที่จะแบ่งให้สื่อออนไลน์มีมากถึงร้อยละ 77 เลยทีเดียว

นอกจากนี้ เรายังพบว่าหลังจากนี้จะเห็นการถูก Layoff ของสื่อสิ่งพิมพ์มากขึ้นด้วย โดยจะเกิดในสื่อสิ่งพิมพ์ที่ไม่สามารถทำกำไรได้อีกต่อไป โดยเฉพาะในกลุ่มของ Bangkok Post และไทยรัฐ / เดลินิวส์ ที่มีองค์กรขนาดใหญ่อีกด้วย แต่สิ่งที่ไทยรัฐโชคดีที่สุดในบรรดาทั้งหมด นั่นก็คือการมีช่องทางอื่น ๆ ที่ยังสามารถถ่ายโอนพนักงารนบางส่วนมาทำในส่วนของออนไลน์และทีวีได้ด้วย หรืออาจจะเอาคอนเทนต์จากทีวีและออนไลน์มาลงหนังสือพิมพ์ก็ได้ด้วยเช่นกัน

ดร. มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา และอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้โพสต์ไว้ใน Facebook ส่วนตัว โดยการนำเอาบทนำในรายงานประจำปีของสภาการหนังสือพิมพ์ฉบับล่าสุดที่กำลังจะออกมา มาโพสต์ไว้ว่า “ปี 2020 เป็นปีที่คนสื่อ โดยเฉพาะคนทำหนังสือพิมพ์ต้องจดจำไปอีกนาน เพราะต้องผจญกับภาวะ “วิกฤตซ้อนวิกฤต” วิกฤตแรกเป็นของเก่าที่ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน อาจเรียกรวมๆว่าเป็นผลพวงของ “Digital disruption”เมื่อการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัลในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนผ่านโฉมหน้าภูมิทัศน์สื่อ ส่งผลให้พฤติกรรมการเสพรับข้อมูลข่าวสารของคนเราเปลี่ยนแปลงไปด้วย วันนี้ คนจำนวนมากไม่ยอมเสียเงินเพื่อซื้อข้อมูลข่าวสารจากสื่อหนังสือพิมพ์อีกต่อไป เนื่องเพราะพวกเขาสามารถหาเสพข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นได้จากอินเตอร์เน็ท มันทั้งเร็ว ฟรี และไม่ค่อยมีอะไรแตกต่างจากสื่อเดิม

แหล่งรายได้หลักที่เคยได้จากเม็ดเงินโฆษณาก็ลดน้อยลงตามจำนวนยอดคนอ่านหนังสือพิมพ์ เพราะบริษัทห้างร้านต่างๆหันไปเทงบโฆษณาลงในสื่อออนไลน์แทน ทำให้องค์กรสื่อหนังสือพิมพ์หลายแห่งจำต้องปิดตัว หลายแห่งต้องปลดพนักงาน

ในขณะที่วิกฤตแรกยังเดือดระอุ คนสื่อยังต้องเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคร้าย “โควิด-19” กระหน่ำซ้ำเติม เมื่อรัฐบาลจำเป็นต้องชลอการเคลื่อนไหวของผู้คนในประเทศ มีการประกาศชัดดาว์น เคอร์ฟิว หยุดการทำงานในสถานประกอบการหลายแห่ง โดยให้ Work from home แทน

เมื่อองค์กรธุรกิจได้รับผลกระทบจากโรคร้าย ส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาที่เคยเจียดมาให้สื่อสิ่งพิมพ์และอุตสาหกรรมสื่อดั้งเดิมยิ่งลดน้อยลง บางธุรกิจถึงกับประกาศงดใช้เงินโฆษณาในช่วงวิกฤต

รายได้เสริมของสื่อที่เคยได้จากการจัดงานอีเวนท์ งานทัวร์ งานกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆก็ถูกตัดตอน เพราะไม่สามารถจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมากในช่วงระยะเวลานี้

สื่อส่วนใหญ่เลือกใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการทำข่าว แต่บางแห่งเลือกใช้วิธีปิดกิจการ หรือปลดพนักงานเพิ่มขึ้น พลิกดูหน้าสื่อหนังสือพิมพ์ หรือเปิดเสพข่าวสารในสื่อทีวี วิทยุในช่วงนี้เราแทบจะไม่เจอข่าวเชิงสืบสวน ขุดคุ้ยทุจริต คอรัปชั่น หรือตีแผ่เจาะลึกปัญหาสังคม เพราะข่าวประเภทนี้ต้องใช้ต้นทุนสูงทั้งเม็ดเงิน และกำลังคน

ในช่วงวิกฤตผู้คนยิ่งกระหายข้อมูลข่าวสาร เจาะลึก แต่สื่อบางแห่งกลับละเลยการกรองข้อมูลข่าวสาร เน้นขายความตื่นเต้น เร้าใจ จนบางครั้งละเลยต่อกรอบจริยธรรมสื่อมวลชน กลายเป็นแหล่งช่วยแพร่กระจายข่าวปลอม ข่าวลือเสียด้วยซ้ำ

นั่นอาจนำมาซึ่งวิกฤตที่หนักหน่วงกว่าสองวิกฤตแรก

เพราะเป็น “วิกฤตศรัทธา” ต่อความน่าเชื่อถือของสื่อไทยโดยภาพรวม”

ส่องสื่ออยากให้ทุกคนจับตากับก้าวต่อไปของสื่อสิ่งพิมพ์ไทยว่าจะไปรอดได้อยู่หรือไม่? ติดตามการรายงานและวิเคราะห์ได้ที่นี่ ที่ส่องสื่อครับ