fbpx

งานหนังสือ หรือ Book Fair นับเป็นกิจกรรมสำคัญอันเป็นที่รอคอยจากนักอ่านในทุกๆ ปี เนื่องจากเป็นงานที่สำนักพิมพ์และร้านหนังสือต่างๆ จะออกบูธขายหนังสือลดราคา และ ยังมีกิจกรรมที่นำนักเขียนและนักอ่านมาเจอกันอีกด้วย ยังไม่นับเวทีเสวนาเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่จะถูกจัดขึ้นภายในงาน และ มีกำหนดการให้เลือกเข้าฟังในเรื่องราวต่างๆ ในแต่ละช่วงเวลา

หากเป็นสถานการณ์ปกติในช่วงที่ผ่านมา ข่าวคราวเกี่ยวกับงานหนังสือ คงหนีไม่พ้นรายละเอียดของงานที่ได้กล่าวไป ปีนี้มีสำนักพิมพ์ไหนมาบ้าง? นักเขียนท่านใดจะมาแจกลายเซนต์? และ สถานที่จัดงานไปมาสะดวกหรือเปล่า? ฯลฯ

ทว่า งานหนังสือท่ามกลางสถานการณ์ โควิด-19 หลังจากที่ภาครัฐคลายมาตรการ Lockdown นั้น ความรู้สึกของสำนักพิมพ์และร้านค้า ผู้จัดงาน และนักอ่านจะเป็นอย่างไร? มาตรการในการป้องกันโรคสามารถมั่นใจได้ไหม? และทุกคนมองภาพของวงการณ์สิ่งพิมพ์ต่อจากนี้ในทิศทางไหน? คงเป็นสิ่งที่หลายท่านอยากรู้ ณ เวลานี้ ซึ่งส่องสื่อเองก็เช่นกัน

งานมหกรรมหนังสือเชียงใหม่ ครั้งที่ 5 หรือ Chiang Mai Book Fair 2020 ณ เชียงใหม่ฮอล์ เซนทรัล พลาซ่า เชียงใหม่ แอร์พอร์ต ซึ่งถูกจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2563 ไปจนถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2563 นี้ นับเป็นงานหนังสืองานแรกของปี จัดขึ้นโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT)

ภายในงาน มีบูธจากสำนักพิมพ์ และ ร้านค้าทั้งจากกรุงเทพและในท้องถิ่น นำหนังสือและสินค้าที่เกี่ยวข้องมาวางจำหน่ายให้เลือกซื้อ นอกจากนี้ ยังมีเวทีเสวนาในประเด็นต่างๆ อีกด้วย สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ผู้จัดงานได้เตรียมไว้ คือให้มีการสแกน Check-in ผ่านเว็บไซต์ไทยชนะ หรือ ลงทะเบียนในแบบฟอร์มเข้างาน การตรวจวัดอุณหภูมิ และ การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ครับ

งานหนังสือในมุมมองของสำนักพิมพ์

เกริ่นมาเสียยาว เราไปคุยกับสำนักพิมพ์ ผู้จัดงาน และ นักอ่านกันดีกว่า กับคำถามที่เราเองก็อยากจะรู้คำตอบกันเต็มแก่ โดยขอเริ่มต้นที่สำนักพิมพ์ ซึ่งส่องสื่อคัดมาจำนวน 5 สำนักพิมพ์ด้วยกันครับ!

แนะนำสำนักพิมพ์ แบบสั้นๆ หน่อยครับ

สนพ เวิร์ด วอนเดอร์ 
เน้นนิยายแฟนตาซีแปลเป็นหลัก มีหลากหลายแบบ ทั้งเรื่องสั้น เรื่องยาว และเรื่องเดี่ยวครับ

สนพ ซิลค์เวอร์ม (สำนักพิมพ์ท้องถิ่น)
หนังสือเฉพาะทางด้านสังคมวิทยา-มนุษยวิทยา ไทยศึกษา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ความพิเศษที่ทำให้แตกต่างจาก สนพ. ในกรุงเทพ คือการตีพิมพ์หนังสือในหมวดล้านนาคดี หรือเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือของไทยค่ะ

สนพ เดกซ์เพรส
สำนักพิมพ์ที่ทำเกี่ยวกับนิยายแปล การ์ตูน และสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับญี่ปุ่นครับ เช่น One Piece เป็นต้น

สนพ แอร์โรว์ มัลติมีเดีย
มาจากกรุงเทพค่ะ ปกติมาออกบูธกับพูลแบคเป็นประจำอยู่แล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 ที่มาออกบูธที่นี่ เป็นการออกบูธครั้งแรกหลังสถานการณ์โควิด ได้ผลตอบรับที่ดีจากคนเชียงใหม่

สนพ ฟูลสต๊อป
ตอนนี้เราเน้นทำหนังสือภาพ นิยายภาพ หรือหนังสือที่ใช้ตัวภาพเป็นตัวนำ และทำหนังสือให้สะสมด้วย น่าจะทำให้เข้ากับยุคปัจจุบัน เพราะงานหนังสือกระดาษสำหรับคนเสพ เค้าไม่ได้เสพแค่ตัวอักษรแล้ว มันมีทุกมิติเลย เราเลยเอาทุกมิติมาใส่หนังสือ

สถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับเราอย่างไรบ้าง และทางสำนักพิมพ์ปรับตัวกันอย่างไร?

สนพ เวิร์ด วอนเดอร์
มันก็ต้องลำบากกันทุกคนแหละครับ เราก็ต้องปรับตัว ขายออนไลน์เยอะขึ้น ตอนนี้ก็เริ่มดีขึ้นบ้าง แต่ก็ยังไม่เต็มที่ ต้องใช้เวลานิดนึง ต่อจากนี้ก็ต้องดิ้นรนกันต่อไป มันยังไม่ปกติ ผมยังมองไม่เห็นว่ามันจะปกติเมื่อไหร่

สนพ ซิลค์เวอร์ม (สำนักพิมพ์ท้องถิ่น)
จริงๆ ก็กระทบไม่มาก ในส่วนของการปรับตัว เราปรับตัวไปสู่การออนไลน์ เนื่องจากมีกลุ่มเฉพาะทางอยู่แล้ว ยอดขายจึงไม่กระทบ

สนพ เดกซ์เพรส
ช่วงโควิดสำนักพิมพ์ไม่ได้ออกงานใดๆ เลยครับ เพื่อให้ความร่วมมือเกี่ยวกับการไม่ออกไปด้านนอก เป็นการ Work From Home ในส่วนของการขาย เราจะออกเป็น E-Book มากขึ้น และผลิตหนังสือเล่มน้อยลง จนกว่าช่วงของโควิดจะดีขึ้น ตอนนี้ก็เริ่มออกงาน Event ปกติ เพราะลูกค้าบางคนเค้าต้องการซื้อหนังสือที่เป็นรูปเล่ม เพราะมันยังจับต้องได้มากกว่าครับ

การ์ตูนและนิยายที่ต้องออกเป็นตอนๆ ก็เกิดความล่าช้า เพราะในต่างประเทศ อย่างญี่ปุ่นเอง ก็ต้องมีการ Work From Home เหมือนกัน การประสานงาน และผลิตก็ช้าตามไปด้วย

สนพ แอร์โรว์ มัลติมีเดีย
ผลกระทบของโควิด ทำให้เราออกบูธที่กรุงเทพไม่ได้ ห้างปิด เราไปขายของตามพื้นที่ต่างๆ ไม่ได้ แล้วก็ร้านหนังสือทั่วไปปิดด้วย ทำให้เราต้องปรับการขาย ไปขายออนไลน์แทน ผ่านทางเว็บบ้าง ทางหน้าเพจบ้าง

สนพ ฟูลสต๊อป
ออนไลน์ของเราไม่ได้หวือหวา เพราะหนังสือของเรามันต้องเอามาจับต้องดู เน้นเนื้อกระดาษ งานพิมพ์ การเข้าเล่ม การปรับตัวช่วงโควิด มีสองอย่าง 1 คือการลงทุน เราชะลอการลงทุน เพราะทุกคนต้องอยู่กับบ้าน 2 คือใช้วิธีการสื่อสารออนไลน์มากขึ้น ก็ช่วยได้ส่วนหนึ่ง เพราะว่าหนังสือของเรามันต้องออกมางาน มาเจอกัน มาคุยกัน เพราะเราก็มีแฟนๆ ส่วนหนึ่ง ที่รอมาเจอกันในงาน

สำหรับเราจะง่ายนิดนึง เพราะเราเป็น สนพ เล็ก พอเล็กแล้วความคล่องตัวมันจะสูง แต่ถ้าเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่คิดว่าคงมีผลพอสมควร พอเราเล็กเราก็จะง่าย เหมือนพักร้อนกันแล้วก็กลับมาเจอกัน เราสร้างแฟนมานานแล้ว เปิดมาเกือบ 20 ปี เน้นทำไม่เยอะ เลยทำให้ไม่ยากที่จะเดินต่อ เหมือนเป็นช่วงหยุดพักแปปนึง

มั่นใจในมาตรการของผู้จัดงานไหม?

สนพ เวิร์ด วอนเดอร์
ถ้าไม่มั่นใจคงไม่มาออกครับ ต้องมั่นใจอยู่แล้ว สถานการณ์ของประเทศก็ดีขึ้นมาสักพักแล้ว

คิดว่าสถานการณ์หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร คนจะกลับมาเดินงานหนังสือ และซื้อหนังสือเหมือนเดิมไหม?

สนพ ซิลค์เวอร์ม (สำนักพิมพ์ท้องถิ่น)
กลับมาค่ะ อะไรก็ยังสู่บรรยากาศของการมาเดิน Book Fair ไม่ได้ แต่แน่นอนว่าคนจะเปลี่ยนไปซื้อหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์กันมาขึ้น

สนพ เดกซ์เพรส
งานหนังสือคนก็ยังมาเดินเหมือนเดิมครับ เราแค่ต้องปรับตัวกันมากขึ้น อย่างเช่น การใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างกัน และใช้เจลล้างมือกัน แค่นั้นเองครับ ส่วนการมาเดินงานหนังสือ ทุกคนมาเดินกันปกติ ยังเป็นงานที่คนมาเดินกันอยู่ครับ

สนพ แอร์โรว์ มัลติมีเดีย
คิดว่าคนจะกลับมาอ่านหนังสือแน่นอน เพราะว่า คนที่ชอบซื้อ ชอบสัมผัส เค้ายังมีอยู่ บางคนก็ไม่ได้สะดวกที่จะดูเว็บ มันไม่สามารถเปิดอ่านได้ว่าสารบัญ หรือเนื้อหามันเป็นยังไง

สุดท้ายแล้ว อยากฝากอะไรถึงผู้อ่านของส่องสื่อครับ?

สนพ เวิร์ด วอนเดอร์
อยากเชิญชวนให้มาดูหนังสือนะครับ มันคือความบันเทิง และความรู้ อุตสาหกรรมหนังสือจะตายไม่ได้ เพราะมันคือความรู้ คือวิญญาณของพวกเรา ใครที่ยังไม่อ่านหนังสือ หรือไม่อ่านหนังสือนานแล้วก็อยากให้มา เจอกัน ซื้อหนังสือกลับไป มันต้องมีอย่างน้อยเล่มสองเล่มที่คุณอยากได้ และให้อะไรกับคุณ

สนพ ซิลค์เวอร์ม (สำนักพิมพ์ท้องถิ่น)
งานหนังสือเป็นมากกว่างานขายหนังสือลดราคา แต่เป็นพื้นที่ที่สำนักพิมพ์และนักเขียน จะได้พบกับนักอ่าน เป็นพื้นที่เดียวที่ทำให้คนธรรมดา ที่ไม่ได้เป็นดารา นักร้อง นักการเมือง มีโอกาสแสดงออก หรือสื่อสารความเป็นตัวตนผ่านงานเขียน

สนพ เดกซ์เพรส
หนังสือเป็นสิ่งที่ทุกคนชอบ และยังอยากจะอ่านกันเหมือนเดิม ก็ขอฝากงานหนังสือเอาไว้ด้วย หวังว่าทุกคนจะยังคงตามกันต่อไปเรื่อยๆ ครับ

สนพ แอร์โรว์ มัลติมีเดีย
ฝากถึงผู้อ่านในเชียงใหม่ ขอให้มามางานหนังสือกันเยอะๆ เราไม่ได้มีแค่หนังสือ เรามีทั้งเสื้อ กระเป๋าผ้า อุปกรณ์การเรียนการสอน มาเดินเล่นมาผ่อนคลายกันค่ะ

สนพ ฟูลสต๊อป
ถ้าตอนนี้ที่ง่ายที่สุด ก็น่าจะหาโอกาสมางานหนังสือ เพราะว่าแต่ละสำนักพิมพ์ก็งัดทีเด็ดมาโชว์ในงานหนังสือ ไม่ใช่แค่สำนักพิมพ์นะ ร้านค้า หรือคนที่ขายอุปกรณ์ต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับการสื่อสารเชิงความรู้ เค้าก็ตั้งใจมาจัดงาน ซึ่งมันจะเกิดประโยชน์ตรงที่ ผู้ผลิต มาเจอกับผู้เสพโดยตรง Cost ก็ใกล้เคียงความจริง ไม่เปลือง แล้วหนังสือบางเล่มไม่ได้วางแผงตามร้าน อย่างที่บอก พอเริ่มจับแฟนได้มากขึ้น แฟนก็จะมาหาตามงาน ไปวางที่ร้านเราจะไม่เห็นตรงนี้เลย

ตอนนี้สมาคมพยายามจะจัดงานมากขึ้นทั่วประเทศด้วย ถ้าใครฟังข่าว ก็ไปตามล่าหนังสือได้สนุกเลย อย่างซื้อหนังสือที่เป็นซีรีย์ต่อเนื่อง หรือหนังสือหายาก ผู้เสพกับผู้ผลิตได้เจอกันเหมือนชาวนาที่วิ่งไปขายข้าวเองแล้วเจอผู้ซื้อข้าว ก็จะเห็นข้าวหลายๆ พันธุ์ในนั้น จะช่วยทั้งสำนักพิมพ์และนักเขียนได้โดยตรง เราก็จะรู้ว่า เอ้อ ที่เราทำอยู่เนี่ย มีผู้เสพอยู่นะ ไม่ได้นั่งจินตนาการอยู่ในอากาศ การที่เราได้ออกมางานบ่อยๆ ทำให้รู้ว่า ยังมีกลุ่มคนที่เสพงานหนังสืออยู่แน่นอน แต่ว่าจำนวนเท่าไหร่ จำนวนจะทำให้เรารู้ว่า เราสามารถที่จะพัฒนาสิ้นค้า พัฒนาหนังสือ พัฒนาตัวงานให้สอดคล้องกับจำนวนผู้เสพ และความต้องการด้วย เหมือนมีสะพานและคนเดิน เราก็เป็นสะพาน แล้วก็เดินไปด้วยกัน คนก็มาดู แล้วก็ข้ามสะพานดู สำนักพิมพ์เราก็ไม่น่าเป็นห่วงครับ ห่วงแค่ที่ใหญ่ๆ อย่างที่ได้กล่าวไป

งานหนังสือ ในมุมมองของผู้จัดงาน

คุยกับสำนักพิมพ์กันไปแล้ว ต่อไปคุยกับผู้จัดงานกันต่อดีกว่าครับ กับคุณกมลพชร  โทสินธิติ อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) หนึ่งในกรรมการจัดงานหนังสือครั้งนี้

กล่าวสั้นๆ ถึงการจัดงานในครั้งนี้หน่อยครับ 

งานนี้เป็นงานแรกของสมาคมเลย หลังจากคลาย Lockdown ก็ได้ใช้มาตรการป้องกันต่างๆ ให้ผู้ชมงานและผู้ออกงานมั่นใจในการมาพบปะกัน ได้แก่ วัดอุฯหภูมิ ลงทะเบียน/Check-In นับจำนวนผู้เข้างาน เนื่องจากมีการจำกัดจำนวนคนสูงสุดที่อยู่ได้ขณะหนึ่ง จัดบูธให้ห่างกันมากขึ้น แต่ละบูธมีการใส่หน้ากาก และเตรียมเจลล้างมือ

แนวทางการจัดงานในอนาคตเป็นอย่างไรบ้างครับ

แนวทางการจัดงานในอนาคต ถ้าเรื่องโควิดไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงแล้ว ก็จะดำเนินการจัดเป็นปกติ ใช้มาตรการตามความเหมาะสมของสถานการณ์ ในส่วนของรูปแบบของงาน ก็อยากให้เป็นงานที่มากกว่าการมาซื้อหนังสือเฉยๆ จะต้องให้ประสบการณ์พิเศษกับคนที่เข้าร่วมงานให้ต่างกับการซื้อออนไลน์ หรือซื้อหนังสือที่ร้านหนังสือให้ได้ เพื่อสร้างสังคมการอ่านให้เข้มแข็งต่อไป และต่อจากนี้ ทุกๆงาน จะมีงานออนไลน์ Book Fair ควบคู่กันไปทุกครั้ง

สุดท้ายนี้ ฝากอะไรถึงผู้อ่านส่องสื่อหน่อยครับ

ขอขอบคุณสำหรับเสียงตอบรับงานออนไลน์ที่ผ่านมา และงานเชียงใหม่นี้ ขอให้อดทนกันอีกสักนิด แล้วเราจะพบกันแน่นอน งานมหกรรมหนังสือ 30 กันยายน – 11 ตุลาคม 2563 ที่อิมแพคอารีนา เมืองทองธานีค่ะ

งานหนังสือ ในมุมมองของนักอ่าน

อะไรทำให้ตัดสินใจมางานหนังสือ หลังจากสถานการณ์โควิด?

นักอ่านท่านที่ 1
เห็นว่ามีการโปรโมทในเฟสบุ๊ค เห็นว่ามีการลดราคาหนังสือ มีหนังสือหลากหลายประเภทดีครับ

นักอ่านท่านที่ 2
อยากหาอะไรอ่านอยู่แล้ว มีหนังสือที่อยากซื้ออยากได้ค่ะ

นักอ่านท่านที่ 3
ต้องใช้หนังสือเพื่อการสอบค่ะ มีความต้องการที่จะซื้อหนังสืออยู่แล้ว จึงตัดสินใจมาที่งานนี้

มีความมั่นใจแค่ไหน กับมาตรการป้องกันโรคของผู้จัดงานครับ?

นักอ่านท่านที่ 1
คิดว่าที่งานมีมาตรการที่โอเค มีวัดอุณหภูมิก่อนเข้างาน ถือว่าโอเคครับ

นักอ่านท่านที่ 2
เอาจริงๆ ก็ไม่ได้มั่นใจมาก เรารู้สึกว่าสถานการณ์มันเบาแล้ว เราก็เลยมา ที่มาเพราะว่ามั่นใจในตัวเอง ว่าป้องกันตัวเอง แบบนี้มากกว่า

นักอ่านท่านที่ 3
คิดว่าทุกคนที่มางานนี้ มีการสวมหน้ากากอนามัย ถ้าไม่สวมก็ไม่ให้เข้า คิดว่าน่าจะปลอดภัย มีเจลล้างมือให้บริการ

ฝากอะไรสั้นๆ ถึงผู้อ่านบทความนี้หน่อยครับ

นักอ่านท่านที่ 1
ถ้าใครสนใจงานหนังสือ ก็มากันได้ มีมาตรการที่โอเคอยู่ อย่าลืมสวมหน้ากากก่อนเข้างาน

นักอ่านท่านที่ 3
มันไม่ได้มีแค่หนังสืออย่างเดียว มีสินค้าอย่างอื่นด้วย มาเดินกันค่ะ ถือว่าคลายเครียด

นักอ่านท่านที่ 2
ข้างนอกมีของกินด้วยค่ะ ฮ่าๆ

งานมหกรรมหนังสือเชียงใหม่ ครั้งที่ 5 หรือ Chiang Mai Book Fair 2020 จะมีไปถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2563 นี้ ท่านผู้อ่านส่องสื่อท่านใดที่สนใจอยากมาพบปะกับสำนักพิมพ์ มาซื้อหนังสือลดราคา หรือ ฟังเวทีสนทนา ยังสามารถมาได้นะครับ

ติดตามกำหนดการณ์ และ รายละเอียดของงานได้ที่

คิดถึงเรื่องสื่อ เปิดส่องสื่อนะครับ