fbpx

ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 60 วันที่ผ่านมา ข่าวการเสียชีวิตของน้องผู้หญิงคนหนึ่งอาจจะไม่ได้มีอะไรมาก เพียงแค่การรายงานคร่าวๆ ผ่านสื่อเท่านั้น แต่ผ่านไปไม่กี่วันสื่อบางเจ้าก็ให้ความสนใจในชนิดที่เรียกได้ว่าตามติดการนำเสนอข่าวแบบวินาทีต่อวินาทีเลยทีเดียว สื่อบางเจ้านำเสนอถึงขั้นการจำลองภาพเสมือนจริง หรือ Immersive Graphic ที่ทำให้หลายคนเห็นภาพกัน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบไปยังตัวของเด็กเอง ตัวของครอบครัว ตลอดไปจนถึงชุมชนและรูปคดีได้ในที่สุด

หลายสถาบันและองค์กร จึงมารวมตัวจัดกิจกรรมเสวนาหลังการยื่นหนังสือไปยัง กสทช. ในงานที่มีชื่อว่า “ข่าวเลยเถิดละเมิดสิทธิ ปั่นดรามา มอมเมา… สังคมไทยควรทำอย่างไร ?” ซึ่งเป็นการตั้งคำถามการนำเสนอข่าวที่มีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน ในรูปแบบการนำเสนอแบบมีพล็อตเรื่อง เปรียบดั่งคล้ายละครนั่นเอง

ท่านแรกที่ให้ความเห็นต่อการนำเสนอข่าวนี้ ได้แก่ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. โดยกล่าวถึงการทำงานของ กสทช. ไว้ว่า เป็นเรื่องที่ทาง กสทช. หลีกเลี่ยงรับผิดชอบไม่ได้ และเคยมีบทลงโทษที่ชัดเจนมาแล้วในหลายๆ กรณีที่มีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน ตัวอย่างเช่น การที่มีข่าวเด็กที่มีอาการออทิสติกถูกข่มขืน สื่อในขณะนั้นมีการนำตัวของแม่ผู้เสียหายมาสัมภาษณ์และมีการบ่งบอกรูปพรรณสัณฐานของเด็ก โดยเจตนาที่แท้จริงสื่ออาจจะทำไปเพราะต้องการให้ข่าวเป็นที่สนใจ เพื่อให้ครอบครัวผู้เสียหายได้รับความยุติธรรม แต่ กสทช.ได้พูดคุยกับหลายหน่วยงานแล้วเห็นว่ามีผลกระทบต่อเด็กผู้เสียหาย จึงทำการปรับเป็นจำนวนเงินกว่า 500,000 บาททันที

คุณสุภิญญายังกล่าวต่อว่า ในภายหลัง กสทช. มักมีความผูกพันกับช่องโทรทัศน์มากจนเกินไป จนอาจจะทำให้ไม่มีการบังคับใช้กฎสักเท่าไหร่ ซึ่งในกรณีนี้ กสทช. อาจจะต้องรับผิดชอบในฐานะเป็นองค์กรกำกับดูแลด้านสื่อ และไม่สามารถนำเรื่องผลประกอบการขาดทุนมาเป็นข้ออ้างในการล้ำเส้นได้ เนื่องจากทาง กสทช. ก็ได้ช่วยผู้ประกอบการโทรทัศน์ไปมากพอสมควรแล้วเหมือนกัน

ในขณะเดียวกัน ในช่วงที่คุณสุภิญญาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ กสทช. ซึ่งก็ได้ติดตามสถานการณ์สื่ออย่างใกล้ชิด ในบางเรื่องก็สามารถหยิบมาประชุมในวาระและพิจารณาเบื้องต้นใน กสทช. ได้เลย โดยที่ไม่จำเป็นต้องร้องเรียนด้วยซ้ำ ซึ่งต่างกับปัจจุบันที่ถึงแม้จะมีผู้ร้องเรียนในประเด็นต่าง ๆ ไป กสทช. ก็อาจจะใช้เวลาพิจารณายาวนานกว่าปกติ และขาดการปฏิบัติจนบางครั้งทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถเรียกร้องในชั้นศาลได้แล้ว

สิ่งสำคัญที่คุณสุภิญญาพูดถึง นั่นก็คือ “ข่าวไม่ใช่ละคร” ซึ่งการนำเสนอของสื่อในปัจจุบันมักทำให้เหมือนละคร มีความน่าสนใจแต่ไม่คำนึงถึงผู้เสียหายแต่อย่างใด ซึ่งสมาคมวิชาชีพสื่อก็ควรที่จะมีมาตรการตรวจสอบกันเองที่เข้มข้นมากกว่าที่เป็นอยู่ รวมไปถึงองค์กรด้านสื่อ เอเจนซีก็ควรมีความรับผิดชอบในการดูแลและมีส่วนร่วมไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนซึ่งมีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก รวมถึงกฎหมายคุ้มครองเด็กอยู่ด้วยนั่นเอง

ท่านต่อมาที่ให้ความเห็นต่อกรณีการนำเสนอข่าวที่มีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน นั่นก็คือ ดร.ชเนตตี ทินนาม คณาจารณ์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านให้ความเห็นว่า สังคมไม่กล้าถามถึงระบบอำนาจนิยมสักเท่าไหร่ เพราะอาจจะทำให้สื่อเกิดปัญหาในการนำเสนอ และระบบอำนาจนิยมยังคงมีบทบาทในการทำงานของสื่อเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ข่าวอาชญากรรมยังไม่เคยถูกยกระดับการนำเสนอในระดับโครงสร้างขึ้นมา นอกจากการนำเสนอแบบปัจเจกบุคคล ซึ่งเป็นการนำเสนอแบบมีพล็อตเรื่อง มีตัวประกอบเรื่องราว มีตัวดี ตัวร้ายในเรื่อง และยังต้องมีจุดพีคของเรื่อง ซึ่งผู้เสพสื่ออาจจะฟินในสถานการณ์นั้น แต่เกิดบนโศกนาฎกรรมของครอบครัวผู้เสียหายอยู่ก็เป็นไปได้ ในขณะเดียวกันกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนกลับไม่ได้ถูกนำเสนอในพื้นที่สื่อเลย

อาจารย์ชเนตตี ยังกล่าวต่อไปว่า แท้ที่จริงแล้วเพศหญิงเป็นชายขอบในการนำเสนอข่าวที่มักจะถูกนำมาเล่นในพื้นที่สื่ออยู่บ่อย ๆ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่มีพลังในการคานสื่อมากนัก และเมื่อมีการนำเสนอไปแล้ว ผู้รับสารหรือคนเสพสื่อบางส่วนก็อยากให้มีการนำเสนอสื่อต่อไปอีก เปรียบเสมือนละคร และติดตามข่าวนั้นเรื่อย ๆ ทำให้ได้รับเพียงแค่ความสะใจในการนำเสนอเท่านั้น และจากการสำรวจคอนเมนต์บน Social Network ก็ค้นพบว่าไม่เจอคอมเมนต์ที่พูดถึงการนำเสนอเรื่องสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใดเลย รวมไปถึงทางออกของปัญหาก็เป็นอีกสิ่งที่สื่อไม่ยอมนำเสนอ

ในมหาวิทยาลัยปัจจุบัน ได้เลิกการทำการเรียนการสอนให้นำเสนอข่าวแบบมีพล็อตเรื่องไปแล้ว ซึ่งเกิดจากการคำนึงถึงผลกระทบของผู้รับสารและแหล่งข่าวเป็นอย่างมาก แต่สื่อในปัจจุบันมักนำเสนอด้วยภาพจำลองเสมือนจริง ซึ่งบางครั้งก็เป็นจากเรื่องราวของคนอื่นที่ยังไม่ได้ถูกพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่? อาจจะต้องไปพิสูจน์หรือยืนยันก่อนว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่? อย่างไร? รวมไปถึง Net Citizen ก็ต้องช่วยกันในการยุติการผลิตซ้ำด้วยเช่นกัน

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ การเรียนรู้เท่าทันสื่อในปัจจุบันมักใช้ฐานคิดที่ส่วนใหญ่ใช้หัวเป็นฐานหลัก ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการนำไปใช้จริงได้ ก็ควรที่จะเปลี่ยนไปใช้การเรียนรู้โดยใช้ฐานใจเป็นหลักแทน เพื่อทำให้เกิดการปลูกฝังจิตสำนึกในการรู้เท่าทันสื่อได้ดียิ่งขึ้น

ท่านต่อไปที่ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ นั่นก็คือ จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล คุณจะเด็จให้ความเห็นต่อกรณีนี้ไว้ว่า ข่าวส่วนหนึ่งเกิดจากทัศนคติของชายเป็นใหญ่ และยังมีปัญหาในการนำเสนอข่าวในเชิงภาพของความรุนแรง ซึ่งเป็นจุดอ่อนในการนำเสนอของสื่อ และถึงแม้จะมองว่าการนำเสนอเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงคำครหาเกี่ยวกับการนำเสนอได้เช่นกัน

จากการที่เห็นหลากหลายข่าวในอดีตประกอบกับการนำเสนอของสื่อในปัจจุบัน จะเด็จพบว่าการนำเสนอข่าวสารยังคงวนเวียนเรื่องของความรุนแรงของผู้หญิงไปค่อนข้างมาก โดยไม่ได้ให้พื้นที่ความยุติธรรมหรือทางออกของปัญหาเลย ซึ่งคนรุ่นใหม่ไม่ได้อินกับการนำเสนอข่าวแบบนี้แล้ว รวมไปถึงองค์กรวิชาชีพสื่อเองก็พยายามออกมาเตือนถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน แต่ด้วยปัญหาที่ไม่มีผู้ฟังหรือตั้งคำถามกับเหตุการณ์นี้ในองค์กรวิชาชีพสื่อ กลายเป็นว่าปัญหาเกิดจากการกำกับดูแลกันเอง แนวทางที่จะเด็จให้ไว้เป็นสิ่งที่ค่อนข้างน่าสนใจเลยทีเดียว นั่นก็คือการดึงภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคประชาชนมาร่วมให้ “เกรดการนำเสนอ” ของสื่อมวลชนบ้านเรา ให้เป็นตัวอย่างและไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบเดิมซ้ำอีก

นอกจากนี้ จะเด็จยังตำหนิการทำหนี้ที่ของสื่อในกรณีการนำเสนอเหตุการณ์การเสียชีวิตของเด็กหญิงว่าเป็นการก้าวก่ายสิทธิส่วนบุคคล และยังสร้างความขัดแย้งในชุมชนโดยที่สื่อเองก็ไม่สามารถรับผิดชอบได้ จะเด็จถามถึงเหตุการณ์นี้ว่าถึงเวลาแล้วรึยังที่ปัญหาเชิงโครงสร้างจะถูกแก้ไขในทันที ซึ่งการออกมาตั้งคำถามในครั้งนี้ตัวเขาเองไม่ได้มองว่าสื่อคือศัตรูของเขา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา คุณภาพการนำเสนอของสื่อดรอปลงไปมาก ซึ่งกลไกภาคประชาชนมีส่วนสำคัญในการกำกับและตรวจสอบสื่อ เพื่อทำให้สื่อคำนึงถึงผลกระทบในการนำเสนอประเด็นต่าง ๆ ให้มากที่สุด

และท่านสุดท้ายบนเวทีเสวนาที่จะให้ความเห็นนี้ นั่นก็คือ ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ซึ่งกล่าวถึงกรณีนี้ว่าการนำเสนอกับปัจเจกมากจนเกินไป อาจจะทำให้ละเลยจำเลยตัวจริงของสังคม นั่นก็คือปัญหาเชิงโครงสร้างที่ถูกทับถมไว้ รวมไปถึงความยุติธรรมด้วย

โดยทิชาเล่าถึงกรณีที่เกิดขึ้นจริง โดยเริ่มจากการที่โรงเรียนผลักเด็กออกจากระบบ และส่งผลทางอ้อมให้เด็กกระทำความผิด เช่น กรณีที่เด็กชาย 5 คนข่มขืนเด็กหญิง 1 คน ซึ่งผู้รับผิดชอบระบบอย่างกระทรวงศึกษาธิการกลับลอยนวล ซึ่งสังคมละเลยไปจนไม่สามารถมองเห็นประสิทธิภาพในการนำเสนอประเด็นเหล่านี้ไปด้วย โดยทิชายังกล่าวเพื่อขยายกรณีนี้ด้วยว่า อันที่จริงแล้วในความเป็นปัจเจกก็มีส่วนผิดในการกระทำเหล่านี้อยู่พอสมควร โดยตามหลักก็ต้องรับผลกรรมของการกระทำไป แต่บริบทของสังคมก็ต้องมองเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างและการรับผิดชอบร่วมกันด้วยเช่นกัน

สื่อพุ่งเป้าการนำเสนอข่าวของเด็กชายทั้ง 5 โดยที่ไม่ได้มองประเด็นความเป็นอำนาจนิยมในโรงเรียนเลย ซึ่งเหตุการณ์นี้หลังจากทิชาและคณะได้เดินทางไปสำรวจสิ่งแวดล้อมก็ทำให้ค้นพบว่าเหตุการณ์นี้มีความเป็นอำนาจนิยมสุดโต่ง โดยเกิดขึ้นในคุณครูบางท่านที่ไม่ได้มองว่านักเรียนคือมนุษย์แต่อย่างใด ซึ่งการเกิดอำนาจนิยมนั้นก็ไม่สามารถทำให้เกิดพลังใจได้ รวมไปถึงเมื่อเด็กโดนผู้ใหญ่คนไหนทำร้าย เขาก็จะไม่เข้าหาผู้ใหญ่คนนั้นเลย

ยังไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วจุดสิ้นสุดของคดีน้องคนนี้จะไปถึงจุดไหนกันแน่? แต่ถึงเวลาแล้วรึยังที่สื่อควรกลับมามองการทำงานของตนเองว่าก้าวก่ายพื้นที่ส่วนตัว สร้างความร้าวฉานในชุมชน และละเมิดสิทธิเด็กไปเท่าไหร่แล้ว ถึงเวลาที่เราควรหยุดการนำเสนอข่าวอาชญากรรมให้เป็นเหมือนละครโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบของผู้เสียหาย แล้วมายกระดับด้วยการพูดปัญหาเชิงโครงสร้างสักที เพื่อสังคมสื่อที่อุดมปัญญาต่อไป