fbpx

บทความนี้เป็นการสรุปประเด็นจากการ Live ในรายการ “ส่องสื่อ Saturday Live”

ส่องสื่อได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณโจ้ นทธัญ แสงไชย Podcast Station Director ของ Salmon Podcast ผู้ซึ่งดูแลภาพรวมของสถานี เสมือน ‘บรรณาธิการ’ คอยดูทิศทางและเนื้อหาของรายการ โดยเริ่มต้นพูดคุยตั้งแต่ในเรื่องของการเกิดขึ้นของ Salmon Podcast

แรกเริ่ม คุณโจ้ได้พูดคุยกับคุณวิชัย มาตกุล Creative Director แห่ง Salmon House โดยมีความต้องการที่จะทำแผนก Podcast เนื่องจากเล็งเห็นว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา มีผู้คนสนใจทำ Podcast มากขึ้น แต่ส่วนหนึ่งนั้น Podcast เป็นส่วนเสริมของกองบรรณาธิการเสียมากกว่า คุณวิชัยจึงเห็นว่าหากต้องการทำทั้งที ควรตั้งแผนกใหม่ขึ้นมา เพื่อทำอย่างจริงจัง จนปัจจุบัน Salmon Podcast ประกอบไปด้วยรายการที่ทำมาแล้วทั้งหมดมากถึง 18 รายการ

Salmon Podcast มีความต้องการแบรนด์ดิ้ง ในรูปแบบของความ Entertainment และเสริมด้วยความรู้ มีความสนุกเกิดขึ้น แต่จะไม่เน้นความรู้มากจนดูเป็นสถานีของวิชาการ เนื่องจาก Salmon มีแบรนด์ดิ้ง และ DNA ที่ชัดเจน Podcast จึงมาสืบทอด DNA ตรงนั้นต่อไป และปรุงแต่งให้มีตัวตนความเป็นตัวเอง และมีความเป็น Salmon อยู่ด้วย

การ Built in ขึ้นรายการ

Salmon Podcast เป็นไอเดียของรายการที่ทีมงานมองว่า อยากให้มีในวงการ Podcast ไทยเพิ่มขึ้น ความที่คุณโจ้และคุณวิชัยนั้น เป็นคนเสพ Podcast มาประมาณนึง บางรายการยังไม่มีรายการที่ให้ความรู้สึกแบบที่ต้องการ จึงคิดรายการนั้น ๆ ขึ้นมาเอง คุณโจ้ได้ยกตัวอย่าง การทำรายการ in-Ear Cinema ซึ่งมีการพูดคุยกันว่ายังไม่มีใครทำ Podcast ที่เป็น ‘ละครวิทยุ’ โดยที่ไม่ได้เล่าบรรยายเยอะๆ แต่ต้องการทำให้ผู้ฟังเห็นภาพตาม เหมือนภาพยนตร์ที่ใช้เสียง ใช้บรรยากาศในการเล่า หรือเพลงในการสื่ออารมณ์ จึงนำทุกอย่างมาประกอบเป็น in-Ear Cinema ขึ้นมา

รายการจึงเกิดขึ้นมาจากความคิดถึง รายการแบบไหนที่ทีมงานอยากฟัง แต่ไม่ค่อยมีคนทำ Salmon Podcast จึงทำรายการเหล่านั้นขึ้นมาเอง เห็นได้ชัดว่า เมื่อ In-Ear cinema นำการเล่าเรื่องราว Fiction ด้วยท่าทีแบบหนัง แต่ใช้เพียงเสียงเท่านั้น ทำให้ได้รับผลตอบรับดีมาก

วิธีการหา Host ดำเนินรายการ

ส่วนมากรายการที่ได้มานั้น จะมาควบคู่กับ Host ซึ่งคุณโจ้มองว่า Host เป็นคอนเทนต์หนึ่งของรายการ ความเป็นตัวตนของ Host จะนำเสนอรายการนั้น มีคนฟังที่ติดตาม Host ในขณะเดียวกันก็เสพคอนเท้นของรายการด้วย  เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรจะขัดแย้งกัน โดยทีมงานมีการตั้งธงว่าอยากได้รูปแบบรายการประมาณไหน เมื่อพอเจอ Host ที่น่าสนใจ จึงมีการพูดคุย และเกิดการพัฒนาร่วมกัน

หน้าที่ของ Host คือการขึ้นคอนเทนต์ และลิสต์ประเด็นที่ต้องการพูด เพราะ Host จะรู้อารมณ์ โทนการพูดของตัวเองมากที่สุด แต่จะมีการช่วยเหลือจากคุณโจ้ในเรื่องของเนื้อหา คุณโจ้เล่าถึงการทำงานว่า แต่ละซีซั่นจะมีทั้งการลิสต์ตอนเอาไว้ รวมไปถึงเล่นกับกระแสในช่วงนั้น ๆ  โดยจะมีการบันทึกเทปไว้ 3 – 4 ตอนกันเหนียว เผื่อ Host เกิดป่วยหรือไปเที่ยวกะทันหัน

ไทมไลน์ในการอัดขึ้นอยู่กับ Host เข้ามาทีอัด 2 ตอน เพื่อเป็นการสต๊อก และเว้นไว้สองสัปดาห์แล้วค่อยมาอีกที และพยายามจะไม่นัดเกินสามเทป เพราะอาจเกิดการล้าได้

การพัฒนาจากเดโม จนเป็นรายการ

“การอัดเดโมเป็นการตรวจสอบว่า เรามีบาดแผลตรงไหนบ้าง”

สิ่งที่ Salmon Podcast ทำ หลังจากได้รูปแบบที่ชัดเจนของรายการแล้ว นั่นคือการอัดเดโม (Demo) คุณโจ้เปิดเผยว่า การอัดเดโมเป็นการหาโครงสร้างที่ดีที่สุดของรายการ ซึ่งถ้าเจอวิธีการดำเนินรายการที่ดีที่สุดแล้ว หลังจากนั้นจึงจะทำงานได้สะดวกขึ้น การอัดเดโมเป็นการตรวจสอบว่า เรามีบาดแผลตรงไหนบ้าง และมีส่วนไหนที่ต้องปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง

คุณโจ้ยกตัวอย่างรายการที่พบปัญหาตอนอัดเดโม เช่น Host พูดเร็วมาก จึงต้องมี Co-host เข้าไปร่วมด้วย หรือรายการ Survival Trip ที่ค้นพบหลังจากอัดเดโม ว่าควรมีสรุปท้ายรายการถึง Take out ที่คนฟังได้จากการฟังเรื่องราวของทริปนั้น สิ่งเรานี้มักจะพบหลังจากอัดเดโม และนำไปพัฒนาต่อ

เดโททำให้เห็นทิศทางของแต่ละรายการ ก่อนหน้าที่จะเป็นเดโมนั้น มีการคุยถึงทิศทางคอนเทนต์กันประมาณนึง คุณโจ้ได้ยกตัวอย่างรายการ Untitled Case ซึ่งมีทิศทางในการอยากเล่าเรื่องลี้ลับที่ไม่ใช่เรื่องผี ให้ Host ทั้งสองคน เล่าคนละเรื่องมาเล่ากัน และอัดส่งให้แก่คุณโจ้ หลังจากฟังจึงพบว่า มีการเล่าเรื่องได้ดี แต่เนื้อหายังไม่เข้าที่ จึงทำให้ รายการ Untitled Case มีการกำหนดธีมขึ้นใส่ในแต่ละตอน เช่น เล่าเรื่องแม่มด หรือ การฆาตกรรม 

กว่าจะเป็นแต่ละรายการใน Salmon Podcast

จะมีการคุยไอเดียรายการที่อยากทำกับในทีม รวมไปถึงการคุยถึง Host ที่มีอยู่ในใจ ต่อไปจึงทำการนัด Host เพื่ออัดเดโม่ “ยิ่งได้เดโมเร็วเท่าไหร่ เราจะรู้เร็วเท่านั้นว่าสิ่งนี้รอดหรือไม่รอด” เปรียบเสมือนการทอยลูกเต๋าที่ออกได้หลายหน้า บางครั้งทำให้พบว่า Host คนนี้ยังไม่เหมาะ การพบว่ารายการควรพูดคุยสองคน หรือควรใส่อะไรเพิ่มเติมลงในคอนเทนต์ หลังจากเดโมเสร็จ จะนำไปตัดต่อเพื่อดูโครงสร้างและทำการแก้ไข นำปัญหาที่พบไปคุยกับ Host เพื่อปรับเปลี่ยน หลังจากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนของการทำงานจริง เป็นการลงว่าแต่ละตอนจะคุยถึงเรื่องอะไรบ้าง และนัดมาอัดสต๊อกเก็บไว้

สิ่งที่ Salmon Podcast ให้ความสำคัญในการทำแต่ละตอน

คุณโจ้ได้พูดถึงสามสิ่งที่ Salmon Podcast คำนึงถึง ประกอบไปด้วย เนื้อหา คุณภาพเสียง รวมไปถึงบรรยากาศในการจัดรายการ คุณโจ้กล่าวว่า บรรยากาศคือสิ่งที่จะทำให้คนฟังรู้สึกได้ถึงเสน่ห์ในการจัดรายการ ในส่วนของเสียง ไม่จำเป็นจะต้องเงียบสงัด แต่บรรยากาศของเสียง ไม่ควรทำให้รู้สึกรำคาญจนคนฟังไม่อยากที่จะฟังต่อ ความสม่ำเสมอของเสียงก็เช่นกัน และไม่ควรมีเสียงรบกวนมากจนเกินไป

คุณโจ้แนะนำแก่ Podcaster ว่า หากต้องการทำรายการ Podcast ขึ้นมาใหม่ ควรมีเรื่องที่อยากจะเล่า รูปแบบรายการประมาณไหน หากรูปแบบชัดจะทำงานง่ายขึ้น สำหรับคนที่ริเริ่มทำ ควรให้คนอื่นฟังด้วย เพื่อให้ทราบถึงฟีดแบค และรู้ว่าต้องปรับปรุงอย่างไร สำหรับคนอยากทำสถานี แบรนด์ดิ้งนั้นควรมีความชัดเจน มองการทำรายการภายใต้สถานีที่จะทำให้ภาพลักษณ์ของสถานีดูกลมกล่อมขึ้น

ทิศทางของ Salmon Podcast ในอนาคต

มีความต้องการอยากพาแซลมอนไปในสองทิศทาง  อย่างแรก คือการทำรายการที่แมสมาก ๆ เพื่อให้ใคร ๆ ก็ฟังได้ อีกทิศทางคือ คุณภาพดีมาก ๆ ใช้ทุกศาสตร์ของการทำเนื้อหาและ Podcast เพิ่มขึ้น


มาในฝั่งของ THE STANDARD Podcast ที่ทางส่องสื่อเอง ได้มีโอกาสพูดคุยถึงเรื่องการทำให้รายการยั่งยืนและมีลายเส้นเรื่องเป็นของตัวเอง โดยได้คำแนะนำจาก คุณฝัน อธิษฐาน กาณจนะพงศ์ และ คุณนัท ปวริศา ตั้งตุลานนท์

องค์ประกอบการเริ่มต้นคิดค้นรายการแต่ละรายการของ THE STANDARD

ในการเริ่มต้นแต่ละรายการนั้น ประกอบไปด้วยหลายองค์ประกอบ ใน ส่องสื่อ Saturday Live คุณฝันได้เล่าถึง 4 องค์ประกอบดังนี้

  1. แบ่งได้จาก ตัว Host ซึ่งขึ้นกับความสนใจของบุคคลนั้น ๆ และเนื้อหาที่ต้องการจะสื่อ
  2. แบ่งจากความสนใจของทีมโปรดิวเซอร์ ซึ่งตัวโปรดิวเซอร์เองนั้น แต่ละคนมีเรื่องราวที่ต้องการสื่อสาร และต้องการส่งออกสู่สังคม
  3. Audience Centric ในการทำรายการบางครั้งอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ Host หรือทีมงานเป็นผู้ที่สนใจ แต่เป็นสิ่งสังคมสนใจ และสามารถนำมาพูดได้เป็นพอดแคสต์ โดยยึดจากคนฟังเป็นหลัก และจึงนำความต้องการของคนฟังนั้นมาพัฒนาต่อ
  4. รูปแบบของลูกค้า (In partnership with) เป็นการทำรายการ โดยมองจาก Value ที่ลูกค้ามีความต้องการในการสื่อสาร เกิดการพัฒนาและออกแบบร่วมกันเป็น Podcast

องค์ประกอบโดยรวมที่กล่าวมานั้น มีการทำงานไปพร้อม ๆ กัน แม้กระทั่งตัวรายการของลูกค้าเอง ทางโปรดิวเซอร์ จะพยายามหาจุดสนใจเข้าไปร่วมด้วย

คุณนัทยกตัวอย่างรายการ ‘Somewhere I Belong’ ซึ่งได้รับโจทย์จากลูกค้า ในการขายบ้าน และต้องการสื่อสารกับคนว่า สามารถออกมาอยู่ในที่ของตัวเองได้ ทางโปรดิวเซอร์จึงค้นพบว่า เจอข้อมูลเชิงลึกบางอย่างของตัวเอง จึงนำสิ่งนี้มาผสมให้เข้ากับรายการ และสร้างขึ้นมา และไม่ทิ้ง Value ของลูกค้า

การทำพอดแคสต์คือการเล่าเรื่องให้เป็น

สิ่งที่ต้องคำนึงในการจัดรายการพอดแคสต์

ต้องเห็นภาพให้ชัดถึงคนฟังว่าเป็นใคร ในแง่ของ ‘Persona’ THE STANDARD มีการมองภาพไปถึง เพศ อาชีพ อายุ การศึกษา และความสนใจของคนๆนั้นคืออะไร และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ สิ่งไหนที่เป็น ‘Pain Point’ ของคน

คุณนัทยกตัวอย่างรายการ THE SECRET SAUCE ที่ทีมงานเองมีการมองภาพว่า คนฟังรายการนี้ เป็นนักธุรกิจ อาจเป็นทั้งคนที่เป็นผู้ประกอบการ หรือ ผู้จัดการมือใหม่ หรือคนที่อยากลุกขึ้นมาพัฒนาตนเองในด้านความเป็นผู้นำ ไม่เพียงแต่พัฒนาเพื่อตนเอง แต่พัฒนาเพื่อองค์กร เมื่อเห็นภาพคนชัดขึ้น จึงมองภาพความสนใจของคนกลุ่มนั้น ๆ เช่น เมื่อมีโควิด-19 มีเรื่องหุ้น หรือ นโยบายรัฐ ที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องรู้และนำไปใช้ต่อได้

ช่องทางการลงพอดแคสต์ก็เป็นส่วนสำคัญ ยิ่งมีทางเลือกให้เแก่คนฟังจะยิ่งได้ผลตอบรับที่ดี แรกเริ่ม THE STANDARD Podcast ยังไม่มีการลงใน YouTube แต่เมื่อนำมาลง จึงค้นพบว่า กลับกลายเป็นแพลตฟอร์มที่เข้าถึงคนได้มากที่สุด มีการปรับเปลี่ยน Format ตามสิ่งที่คนสนใจ เช่นมีการจัดรายการแบบเปิดหน้าเพิ่มเข้ามา

คุณนัทพูดถึงในส่วนของระยะเวลา เนื้อหาที่สั้นเกินหรือยาวเกินไปไม่ดีเท่ากับเนื้อหาที่ฟังแล้วอิ่ม จบในตัวตอนนั้น ๆ มีหลายตอนที่ลากยาวกว่าหนึ่งชั่วโมง แต่เนื้อหาไม่สามารถบีบลดลงมาได้

คุณฝันเสริมว่า สิ่งที่ทีมงานคำนึงก่อนเริ่มทำรายการ จะมีการคิดเสมอว่า ‘คนฟังได้อะไร’ คนฟังต้องได้บางสิ่งบางอย่างกลับไปจากการเสียสละฟัง Podcast ซึ่งสิ่งที่ได้นั้น อาจไม่ใช่สาระเพียงอย่างเดียว อาจเป็นความบันเทิง ความสบายใจหรือ ความรู้สึกมีเพื่อนคลายเหงามาคุยให้ฟัง หรืออยากทราบข้อมูลเชิงลึกทางการเมือง เราต้องมองให้ชัดว่าคนฟังได้อะไรจากสิ่งนี้ หาก shape สิ่งนี้ได้ชัดจะง่ายต่อการสื่อสารแก่คนฟังมากขึ้น

ทุก ๆ รายการของ THE STANDARD Podcast เปรียบเสมือนแบรนด์ดิ้งหนึ่ง คนจำ R U OK ได้ว่าเป็นแบรนด์ดิ้งที่ว่าด้วยเรื่องของจิตวิทยา The Secret Sauce คือรายการธุรกิจ และคำนี้ดี คือรายการซึ่งเกี่ยวกับภาษาอังกฤษ

สิ่งที่ให้ความสำคัญมาก ๆ คือ ‘Audience Centric’ การยึดคนฟังเป็นศูนย์กลาง แล้วเราจึงพยายามหาอินไซด์สิ่งนั้นว่าคนฟังต้องการจริง ๆ หรือไม่ และเราสามารถนำเสนอในวิธีไหนได้บ้าง ความท้าทายคือการเปลี่ยน Presentation อย่างไร ให้คนฟังรู้สึกว่าไม่ซ้ำเดิม รู้สึกใหม่ และเป็นสิ่งที่คนฟังต้องการจริง ๆ เช่น อาจตอบโจทย์ในความต้องการพัฒนาตนเอง หรือ ต้องการความบันเทิง

การเดินทางของแต่ละตอน

ที่มาของตอนของ THE STANDARD Podcast นั้น มาได้หลายรูปแบบ มาจากความสนใจของโปรดิวเซอร์ในการอยากนำเสนอ อาจเป็นจากกระแส หรือประเด็นในช่วงนั้น ๆ คุณฝันยกตัวอย่างการสังเกตเห็นกระแสในข่าว ที่พูดถึงโรคซึมเศร้า เรื่องการฆ่าตัวตาย รายการ R U OK จึงต้องการสื่อสารให้คนเข้าใจ หรือคนรอบข้างเข้าใจ เมื่อได้ประเด็นที่ต้องการแล้ว จึงนำไปคุยกับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็น Host ของรายการ (คุณดุจดาว วัฒนปกรณ์) พูดคุยถึงเนื้อหาในแต่ละตอน ต่อไปจึงเป็นขั้นตอนการเขียนบท ซึ่งเรียงลำดับการเปิด และมี Take away ให้แก่คนฟัง หลังจากเขียนบทเสร็จจึงให้ Host กลับไปทำการบ้าน และมาเจอกันในวัน Production

หลังจากนั้นจะเป็นหน้าที่ของ Sound Engineer เพื่อจัดการกับเสียงรบกวน เสียงที่พีคจนเกินไป คอยควบคุมทำให้เสียงมีความลื่นไหล เพื่อเป็นไฟล์ที่พร้อมจะตัด การตัดต่อนั้นไม่ใช่การตัดต่อเพื่อเปลี่ยนสาร หรือเปลี่ยนแปลงคำพูด แต่สิ่งที่ยึดถือเสมอคือการทำให้ Host และแขกรับเชิญ พูดออกมาแล้วดูดีที่สุด จึงมีการตัดเสียงหายใจเพียงหนึ่งห้วง หรือการเว้นวรรคคลิปยาวๆ ถัดจากนี้จะเป็นหน้าที่ของ Editor เมื่อตัดต่อเสร็จจะเข้าสู่กระบวนการมิกซ์เสียง การใส่เพลง การใส่ Transition Music แล้วจึงแปลงไฟล์ออกมา เป็นไฟล์ที่สำเร็จพร้อมเผยแพร่

ในส่วนของรายการสัมภาษณ์ อย่างรายการ The Secret Sauce มีขั้นตอนเพิ่มขึ้นในการติดต่อกับแขกรับเชิญ การส่งประเด็นคำถามให้แก่แขกรับเชิญเพื่อทำการบ้าน มีการหาข้อมูลมากพอสมควร การตั้งคำถามที่ให้ได้มาซึ่งคำตอบที่เป็นประโยชน์ที่สุด เนื่องจากแขกรับเชิญแต่ละท่านเป็นผู้บริหารที่สละเวลาให้ ต้องทำให้แขกมีความรู้สึกพึงพอใจ

“ธรรมชาติของพอดแคสต์ไม่มีถูกไม่มีผิด จะอัดและเผยแพร่เลย ก็สามารถทำได้”

การทำพอดแคสต์ให้ยั่งยืนและมีฐานคนฟังเรื่อยๆ

การที่จะทำให้ยั่งยืน คือความสม่ำเสมอของคนทำ Commitment และการทำแบรนด์ดิ้งของพอดแคสต์นั้น ๆ ให้ชัดเจน เห็นได้ชัดว่า The Secret Sauce มีแบรนด์ดิ้งที่ค่อนข้างชัดเจน จนทำให้เห็นฐานคนฟังอย่างเป็นรูปธรรม

โดยมีการรักษากลุ่มคนฟังเอาไว้ เช่น การสร้างแฟนเพจรายการแยกออกมาจากแฟนเพจหลัก หรือการสร้างกลุ่มในเฟซบุ๊ก ต้องหาสาวกของแบรนด์ให้เจอ และเข้าไปทำความรู้จักกับคนฟังให้มากที่สุด

ความสำคัญของฟีดแบคคนฟังนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้รายการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น

THE STANDARD Podcast มีการอ่านข้อติชมจากทุกคอมเมนท์ของคนฟัง แต่การจะปรับปรุงรายการ จะดูที่ความเหมาะสม หากมีข้อติชมเรื่อง Quality Production จะสามารถแก้ให้ได้ทันที และในส่วนของ Content ก็มีความสำคัญที่นึกถึงอยู่เสมอ

อีกหนึ่งสิ่งที่จะทำให้เห็นถึงฐานคนฟัง หรือลักษณะของคนที่ฟังแต่ละรายการ คือการอ่านกราฟหลังบ้าน สิ่งนี้เป็นส่วนที่ทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าคนฟังคือใคร คุณฝันเปิดเผยลักษณะของคนฟังแต่ละรายการ จากการอ่านกราฟจากทางหลังบ้าน ยกตัวอย่างเช่น

  • รายการ R U OK  คนฟังจะจะเน้นเป็นผู้หญิงวัยมหาลัย จนถึงวัยทำงาน อายุ 25-38 ปี และสามารถตั้งสมมุติฐานได้คร่าวๆจากคอมเมนต์ หรือ Hashtag ตามทวิตเตอร์
  • รายการ Readery คนฟังคือคนที่สนใจในหนังสือ
  • รายการ THE POWER GAME คนฟังคือคนที่สนใจเรื่องของการเมือง และพร้อมจะฟังอย่างทันที
  • รายการคำนี้ดี ว่าด้วยเรื่องภาษาอังกฤษ ที่ส่วนใหญ่คนฟังมีตั้งแต่มัธยม มหาลัย ไปจนถึง First Jobber
  • รายการ Step Life คนฟังส่วนใหญ่คือนักวิ่งสาย Gadget กลุ่มคนทำงาน
  • รายการ Look Good Naked คนฟังคือคนที่สนใจในการออกกำลังกาย

สิ่งที่ทำให้เห็นถึงคนฟังชัดเจน คือการเปิดกลุ่มปิดในเฟซบุ๊ค คนที่กดเข้าร่วมกลุ่มเข้ามา จะมีตัวตนที่คล้ายคลึงกันมาก ๆ และสนใจในเรื่องเดียวกัน สังเกตได้จากการตั้งคำถามหรือการมีส่วนร่วมกันในบอร์ด หากคนทำ Podcast อยากรู้ว่าคนฟังคือใคร เราต้องหาวิธีทำให้คนเหล่านี้มาเจอกัน นอกจากนั้นข้อดีของการมีกลุ่มคือ ทางทีมงานยังได้สื่อสารแบบสองทางกับคนฟังอีกด้วย

นอกเหนือจากสถิติ ยังมีข้อมูลเชิงลึกอื่น ๆ เสริมให้เห็นคนฟังชัดเจน คุณฝันยกตัวอย่างการทำช่วงตอบปัญหาจากทางบ้าน ในรายการ R U OK ดยให้คนส่งคำถามมาที่รายการ ร้อยละ 90 นั้น มีความชัดเจนมากว่า ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในคนไทย มีรากฐานเกิดขึ้นจากที่บ้าน ซึ่งไม่ใช่สถิติเชิงตัวเลข แต่เป็น Core Inside ทำให้เห็นว่าคนต้องการที่ระบาย ต้องการการสนับสนุน นอกเหนือจากตอนที่ออกอากาศ สิ่งเรานี้ทำเป็นแคมแปญได้ในอนาคต

คำแนะนำในกรณีที่คิดคอนเทนต์ไม่ออก

ปัญหาของเหล่า Podcaster ที่อาจพบเจอได้ คือไม่สามารถคิดตอนต่อ ๆ ไปได้ หรือคอนเทนต์ตัน หมดเรื่องราวที่อยากจะเล่า คุณฝันแนะนำถึงกรณีที่ Podcaster ประสบปัญหาการคิดตอนใหม่ไม่ออก โดยเป็นสิ่งที่ THE STANDARD Podcast มักจะทำ นั่นคือการ Off-season (พักซีซั่น) เพราะคนทำก็จำเป็นจะต้องหาข้อมูลส่วนตัวเช่นกัน แต่ถ้ารายการมีพื้นที่ให้พูดถึงค่อนข้างกว้าง ก็สามารถพูดในมุมที่แตกต่างออกไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการพักซีซั่นไม่ใช่สิ่งที่ผิด และสามารถทำได้

ในกรณีที่ไม่ต้องการพักซีซั่น อีกหนึ่งทางเลือกที่ชาว Podcaster สามารถทำได้ คือการทำซีรีส์ย่อยกับเนื้อหารายการ เช่น ตลอดเดือนนี้จะโฟกัสที่เรื่องนี้เป็นพิเศษ อาจมีการ Collaboration กับรายการอื่น หรือเมื่อไหร่ที่ไม่รู้จะนำเสนอคอนเทนต์อะไร เราสามารถหาคนที่เชี่ยวชาญมาเป็นตัวละคร เพื่อเดินเรื่องในรายการได้

การปรับรายการให้เข้ากับลูกค้า (การ Collaboration)

สิ่งที่ทำแล้วได้ผลตอบรับที่ดีที่สุดคือการขาย ‘Value’ และ การขาย ‘Branding’ ในกรณีที่มีผู้สนับสนุนเข้ามาในรายการ สิ่งที่ THE STANDARD Podcast คำนึงถึง คือการพยายามหารูปแบบ-แนวทางของลูกค้ากับตัวรายการให้มาเจอกันให้ได้ โดยไม่ทิ้งตัวตนของตัวเอง แต่การสนับสนุนรายการนั้นมีแตกต่างกันออกไป

ผู้สนับสนุนรายการ มี Value มาชนกัน จึงเกิดเป็น Presented ภายใต้ชื่อแบรนด์ จะมีการให้ Spot ตามที่อยากขายได้ เช่น รายการ Fit junction กลางรายการมีการพูดถึงสินค้าโดยตรง 30 นาที หรือ การหยิบโจทย์ของลูกค้ามาตี โดยนำรูปแบบนั้น ๆ มาทำเป็นคอนเทนต์ เป็นการคุยกับลูกค้าเพื่อหา Value ที่ต้องการสื่อสาร

สิ่งที่ Podcast ขายได้คือ ‘ความเชื่อ’’ และ ‘Value’  แต่หากยังไม่เจอรายการที่เหมาะสมกับ Value นั้น ๆ อาจมีการสร้างเป็นรายการใหม่ หรือซีรีส์สอดแทรกเข้าในรายการเดิม ควรมีการสื่อสารกับลูกค้าเพื่อจะให้ได้ผลประโยชน์ทั้งคู่

คุณฝันยกตัวอย่าง R U OK กับ ดีแทค ที่ต้องการสื่อสารเรื่อง Cyber Bullying ที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQ+ สุดท้ายแล้วต้องกลับมาคำนึงถึงสิ่งที่ดีแทคเองอยากที่จะสื่อสาร ผนวกกับสิ่งที่ R U OK เป็น มาชนกัน สปอนเซอร์เข้ามาได้ นอกจากจะเข้ามาในรูปแบบการขายอย่างตรงไปตรงมา จะต้องมีการขาย Value และ ความเชื่อ เพิ่มเข้าไปด้วย มองไปถึงสโลแกนของแบรนด์

ทั้งหมดนี้คือเคล็ดลับพร้อมทั้งคำแนะนำของ THE STANDARD Podcast จะเห็นได้ชัดว่า สิ่งที่ THE STANDARD Podcast เน้นย้ำคือ Audience Centric ที่ยึดถือคนฟังเป็นศูนย์กลาง จนทำให้เกิดเป็น Community ที่แข็งแรง รวมไปถึง Core Value ที่เป็นตัวตนหลักในการทำให้ Podcast เติบโตอีกด้วยนั่นเอง


สามารถติดตาม “ส่องสื่อ Saturday Live” ทุกตอนได้ที่ https://www.facebook.com/watch/songsue.co/2406127329685962/