fbpx

การจัดแสดงนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ อาจจะสามารถสื่อสารได้หลายรูปแบบ เช่น การจัดงานศิลปะ หรือการแสดงสิ่งของบางอย่าง แต่ถ้าไม่มีผู้ที่คอยให้ข้อมูลหรือคอยให้คำแนะนำ พาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ การรับชมนิทรรศการหรือพิพิธภัณฑ์ก็อาจจะไม่สามารถสมบูรณ์แบบได้ และอาจจะไม่ได้ใจความสำคัญกลับไปด้วย การเกิดขึ้นของอาชีพ “เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการความรู้” จึงเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่เติมเต็มประสบการณ์การรับชมนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ได้อย่างครบรส เปรียบเสมือนได้อ่านหนังสือที่สามารถมีส่วนร่วมในพิพิธภัณฑ์ได้ด้วย

ผมและทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ส่องสื่อ ขอพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับอาชีพ “เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการความรู้” ผู้ซึ่งให้คำแนะนำและดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ ให้เติมเต็มความรู้ ในขณะเดียวกันก็เป็นปราการหน้าสำคัญในการรับคำติชม คำแนะนำ และปัญหาจากหน้าพื้นที่ทำงาน กลับมาเป็นเสียงของพิพิธภัณฑ์ในการปรับปรุงประสบการณ์ในการรับชมต่อไปด้วยเช่นกัน

โดยเราเลือกที่จะเข้ามาสัมผัสและพูดคุยกับผู้ที่ทำอาชีพนี้ ซึ่งเรามาเจอันที่มิวเซียมสยามนั่นเอง และผู้ที่จะมาไขความกระจ่างของอาชีพนี้ นั่นก็คือ กรภัค สุทธิยะรักษ์ เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการความรู้ ประจำมิวเซียมสยาม นั่นเอง วันนี้ส่องสื่อพามาทำความรู้จักอาชีพนี้ผ่านบทสัมภาษณ์กันครับ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมาก ๆ ที่ทำให้นิทรรศการในพิพิธภัณฑ์มีชีวิตและใกล้ชิดกับผู้คนมากขึ้นด้วย

จุดเริ่มต้นในการเข้ามาทำอาชีพนี้คืออะไร?

กรภัคจึงตอบด้วยความมั่นใจว่า ส่วนตัวตนเองเรียนจบด้านโบราณคดี ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ในช่วงแรกตนจึงสนใจทั้งพิพิธภัณฑ์ ทั้งโบราณคดี ทั้งประวัติศาสตร์ ในช่วงแรกจึงตัดสินใจทำงานด้านโบราณคดีก่อน แต่ก็พบว่าการทำงานในด้านนั้นค่อนข้างยาก เกินความสามารถตนเอง ซึ่งงานโบราณคดีมีความยากตรงที่การจัดการคน ความเชื่อ เช่น นักโบราณคดีก็ต้องคุมโฟร์แมนให้ทำงานตามงานที่ตนวางไว้ แต่แท้จริงแล้วตนเรียนพิพิธภัณฑ์ด้วยและประกอบกับสนใจงานด้านนี้พอดี และพอเพื่อนชวนมาทำ ตนเลยตัดสินใจเลยมาทำ เพราะเนื้องานก็ไม่ได้หนีกันมาก พิพิธภัณฑ์ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ก็อยู่ในเครือเดียวกัน ก็เลยทำได้

อาชีพนี้มีเสน่ห์ตรงไหน?

กรภัคกล่าวต่อเลยว่า จริง ๆ ก่อนจะมาทำงานที่นี่ ตนมาเป็นอาสาก่อนจะมาทำงานที่นี่อยู่แล้ว คือจ้างมาทำงานในวันที่ตนเองไม่มีเรียน พอเข้ามาในครั้งแรก ตนรู้สึกว่าที่นี่มีความแปลกใหม่ ผู้ชมเหมือนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่เป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ที่อื่น จึงคือเสน่ห์อย่างหนึ่ง นอกจากนั้นคือสภาพแวดล้อม ซึ่งตึกของมิวเซียมสยามตัวตึกอายุเกือบร้อยปีแล้ว แล้วสภาพแวดล้อมสดชื่น มีต้นไม้เยอะมาก มีพื้นที่ในการทำกิจกรรมค่อนข้างเยอะ แล้วงานค่อนข้างอิสระในกรอบของตัวงานพิพิธภัณฑ์ จึงมีความสุขในการทำงานที่นี่นั่นเอง

และด้วยความที่นิทรรศการที่มิวเซียมสยามมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงมีความท้าทายพอสมควร กรภัคจึงพูดถึงความท้าทายที่เกิดขึ้นว่า ตัวงานมีความท้าทายทุกวัน เพราะที่นี่รองรับคนหลากหลายกลุ่ม กลุ่ม baby-bloomer ก็มีชุดความเชื่อของเขาชุดหนึ่ง กลุ่มนักศึกษาก็มีชุดความเชื่อของเขาอีกชุดหนึ่ง ก็มีความท้าทายแบบเขามาบอก “ตรงนี้ไม่ถูกหรือเปล่า ควรแก้ content ตรงนี้นะ เพราะพี่เรียนมาเป็นแบบนี้” ตนก็ต้องบอกเขาว่า “อ้อ โอเคค่ะ ยังไงนะคะ ช่วยเล่าให้หนูฟังหน่อย” เป็นการแก้ปัญหา เป็นการแชร์กัน บางทีผู้ชมกลุ่มนี้ก็มีความสุขที่จะได้เล่า ที่จะได้แชร์ ซึ่งตนจะเอามาถกกันทีหลัง เอาเข้าที่ประชุมว่า ตรงนี้สามารถเปลี่ยนได้ไหม? ซึ่งเป็นหนึ่งในคำติชมที่ทำให้สามารถแก้จุดอ่อนของนิทรรศการได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

พอมีความท้าทายเรื่องช่วงอายุ ฉะนั้นจึงเป็นปัญหาหลักเลยหรือไม่?

กรภัคอธิบายต่อเลยว่า จริง เพราะอย่างเด็กอนุบาลมา ตนจะไปนำชมแบบนำชมนักวิชาการก็ไม่ได้ เด็กก็จะเบื่อ ต้องทำยังไง? แบบสิ่งที่เขาสนใจไหม ใกล้ตัวเขาไหม เอาการ์ตูนละครมาสอดแทรกลงไปตรงนี้ไหม เด็กก็จะมีความสุข หรือแม้กระทั่งทำกิจกรรมก่อนที่จะขึ้นชม หรืออาจจะมีใบความรู้เล็ก ๆ ให้เขาไปได้เล่นสนุก ก็จะได้ดึงดูดเขาให้อยู่กับพิพิธภัณฑ์ จริง ๆ คือ ถ้านำชมแล้วผู้ชมไม่สนใจก็ต้องปล่อยเขาไป ตนไม่สามารถที่จะดึงเขาให้กลับมาได้ แต่ถ้าตนดึงได้มันก็ดีกว่า โดยที่แก้ปัญหาที่ตัวเองเป็นหลัก ซึ่งจะต้องมีการวางแผนว่ากลุ่มนี้จะต้องพูดยังไงบ้าง ดูความสนใจ สังเกตพฤติกรรมของผู้ชมว่าต้องการความรู้ในแง่ไหนบ้าง เพราะถ้าให้ความรู้ไปบางคนก็เอาไปต่อยอดได้นะ บางคนกลับมาบอก “ฉันเอาความรู้ตรงนี้ไปนะ ขอบคุณมาก” ตนก็ภูมิใจและมีความสุขในการทำงาน

แล้วภาษามีความสำคัญบ้างไหม? ต้องพูดภาษาที่สอง ที่สามได้รึเปล่า?

กรภัคอธิบายว่า จำเป็นจะต้องเก่งภาษาส่วนหนึ่ง เพราะว่าจริง ๆ แล้วพิพิธภัณฑ์มีตัวช่วย คือ audio guide ที่มีด้วยกัน 5 ภาษา ส่วนมากต้องบอกว่า ธรรมชาติคนไทยกับคนต่างชาติจะต่างกัน คนไทยจะชอบการนำชม แต่ต่างชาติพอเขามาเขาชอบที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือแค่มี audio guide ให้เขาแค่นี้ก็พอ เขาไม่ถามอะไรเลย ถ้าคนไทยเขาถามอันนี้หมายความว่าอะไร ดึงเล่นตรงนี้แล้วมันได้อะไร คือต่างชาติพอเข้ามาแล้วเขาจะสนุกของเขา อยู่ของเขา ไม่ถามอะไรเลย

กรภัคยังอธิบายต่อด้วยว่า กลุ่มที่ต้องการการดูแลมากที่สุดส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา เพราะนักศึกษาโดนบังคับให้มาตอบคำถาม แต่ส่วนใหญ่ที่ไม่ต้องเข้าไปเลยจะเป็นครอบครัว คุณพ่อ คุณแม่จะเป็นคนอธิบายลูกอยู่แล้ว แต่ตนก็ยืนอยู่ไม่ไกลตรงนั้น เผื่อเขาต้องการความช่วยเหลืออะไรอยู่แล้ว เพราะว่าบางอันถ้าไม่บอกก็เล่นไม่ถูก เหมือนห้องไทยชิม (นิทรรศการปัจจุบันที่จัดแสดงอยู่) ที่มีจานสองแบบ จานหนึ่งเป็นจานอาหาร กับจานเปล่า บางทีคนไทยเข้ามาเขาก็ถาม “อันนี้มันเล่นยังไง มันทำยังไง” ตนยืนตรงนั้นอยู่แล้วก็เข้าไปช่วยเหลือได้ แต่บางคนถ้าเป็นพ่อแม่ลูกมา คุณพ่อก็จะ “ทำอย่างนี้ไหม?” ก็คอยสังเกต ถ้าผู้ชมงง ๆ ก็ต้องเข้าไปชาร์จทันทีเลย

แล้วถ้าคนอยากจะทำงานนี้ อะไรที่สำคัญที่สุด?

กรภัคตอบต่อเลยว่า ตนคิดว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลมากกว่า เรื่อง attitude ในการทำงาน คือถ้าไม่มีใจรัก แล้วจะไม่ให้ความสำคัญกับงาน ถ้าให้ความสำคัญอะไรมันก็ดี กับรักงานบริการ มันก็จะทำให้ตนทำงานอย่างมีความสุขเป็นเลิศในด้านนี้ ใจรักอันนี้สำคัญมาก ส่วนความรู้อันนี้มาเติมทีหลังได้

แน่นอนว่าด้วยความที่เป็นงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ ทุกวัน กรภัคเลยมีเป้าหมายให้ตนเองในทุก ๆ วัน โดยสมมติว่าเราทักทายผู้เข้าชม ผู้เข้าชมตอบกลับก็จะ +1 คะแนน ถ้าผู้ชมถามแล้วเขาตอบกลับ ก็ +5 คะแนน แล้วก็บวกคะแนนทุก ๆ วัน เพื่อจะเอาเงินจริงตรงนี้ ไปซื้อของที่เราชอบ แล้วมันทำให้เราไม่เบื่อ หรืออย่างวันนี้เราอยากได้สัก 20 คะแนน ทักผู้ชมหน่อย มันเหมือนให้รางวัลตัวเอง มันทำให้ตนไม่เบื่อ ถ้าอยู่ไปวัน ๆ นั่งอ่านหนังสือ มอง.. “เบื่อจังเลย” หมดไปวัน ๆ เพราะฉะนั้นทำแบบนี้ก็เหมือนให้รางวัลตัวเองอย่างที่บอก แล้วมันยังเป็นผลดีต่อองค์กรด้วย ถ้าเราคุยกับผู้ชม มันจะมีคำติชมออกมา จริง ๆ มันคือการจัดการตนเอง ไม่ได้จัดการใครเลย

และนอกจากการที่มีผู้ชมภาคปกติเข้ามาชมแล้ว ผู้ที่มีความต้องการพิเศษก็อยากชมเหมือนกัน กรภัคจึงเริ่มให้ความสนใจสื่อที่เกี่ยวกับคนพิการมาบ้าง โดยเริ่มจากเรียน AD Audio Description ซึ่งก็คือ การเขียนบทบรรยายภาพใช่ไหม เราเอาความรู้ที่เราเรียนตรงนี้มาประยุกต์ใช้กับงานพิพิธภัณฑ์ ต้องบอกว่าค่อนข้างยากเหมือนกัน เพราะเราต้องเป็นสายตาแทน โดยที่เราต้องไม่ใส่ความรู้สึกลงไป ตรง ๆ เลยว่าเห็นอะไร ผู้ชายคนหนึ่งนั่งอยู่ตรงหน้าฉัน ใส่เสื้อสีน้ำเงิน ผมสั้น ที่แขนด้านซ้ายใส่นาฬิกา อธิบายแบบนี้ แล้วต้องบวกกับเนื้อหาของตัวนิทรรศการลงไปด้วย แล้วเราต้องเป็นสายตาแทนเขาด้วย มันค่อนข้างยากกับการจัดการในเรื่องของเนื้อหา แต่ว่าเรื่องการดูแลไม่ยาก เพราะว่าผู้พิการทางสายตาจะมีผู้ช่วยพามาอยู่แล้ว ก็จะยากในเรื่องการจัดการเนื้อหามากกว่า

หลังจากนั้น กรภัคจึงพาทีมงานไปชมพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีทั้งนิทรรศการถาวรและนิทรรศการเคลื่อนที่ที่จะเปลี่ยนแปลงตลอดด้วยเช่นกัน ซึ่งในหลาย ๆ ช่วงต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการความรู้ในการให้ความรู้และบอกรายละเอียดพอสมควร ซึ่งจะทำให้เราสามารถมีส่วนร่วมและสนุกไปกับนิทรรศการอย่างแท้จริง ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งมิวเซียมสยามอย่างแท้จริงเลยทีเดียว

สุดท้ายก่อนจะจากลงกับกรภัค กรภัคฝากมาบอกถึงความสำคัญของอาชีพนี้ด้วยว่า จริง ๆ ต้องบอกว่าอาชีพนี้มีความสำคัญมาก แล้วก็เป็นอาชีพที่ค่อนข้างยาก เคยมีงานวิจัยบอกว่าอาชีพที่เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าสูงที่สุดอันดับ 1 คือ อาชีพงานบริการ เพราะว่าไม่ใช่แค่ตนปะทะกับผู้ชมอย่างเดียว บางทีต้องปะทะกับเจ้าหน้าที่ด้วยกันเอง เพราะฉะนั้นตนจะมีวิธีจัดการยังไง ถ้าเราจัดการอารมณ์ จัดการความรู้สึกไม่ได้ ตนไปอยู่กับผู้ชมแล้วก็อารมณ์เสียใส่คือจบ เพราะฉะนั้นต้องจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกไว้ข้างใน ข้างหน้าก็ “สวัสดีค่ะ มีอะไรสงสัยไหมคะ” เพราะฉะนั้นมีสิทธิ์เสี่ยงโรคซึมเศร้า อันนี้พูดจริง ๆ เหมือนอาชีพตลก มีเรื่องเครียด เรื่องเก็บกด พอขึ้นเวทีเราต้องหัวเราะเฮฮาทำให้คนมีความสุข แต่ข้างในเศร้าหมอง เพราะฉะนั้นเป็นอาชีพที่ควรให้ความสำคัญ และมีคุณค่ามากในเรื่องของการจัดการ เป็นการฝึกการจัดการอารมณ์ และฝากถึงหน่วยงานภาครัฐว่าควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับอาชีพนี้ เพราะจะเป็นส่วนที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ และจะทำให้พิพิธภัณฑ์สามารถสื่อสารได้ตรงกับแก่นของสิ่งที่อยากจะสื่อสารออกมาได้นั่นเอง

และนี่คืออีกหนึ่งอาชีพ ที่ไม่ลับแต่ไม่มีใครรู้ แน่นอนว่ามีความสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะอาชีพนี้เป็นส่วนที่จะทำให้การจัดแสดงนิทรรศการสมบูรณ์ได้อย่างแท้จริงนั่นเองครับ