fbpx

วันที่ 23 กันยายน 2563 ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นายณัฐพงศ์ เปาเล้ง ผู้แทนกลุ่มประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าฯสตง. เพื่อให้เร่งรัดดำเนินการตรวจสอบและยับยั้งการอนุมัติการให้ทุนสนับสนุนของผู้ขอรับทุนจากกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 300 ล้านบาท ที่อาจผิดวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ในการก่อตั้งกองทุนพัฒนาสื่อฯ 

ผู้แทนกลุ่มประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  กล่าวว่า พันธกิจและเจตนารมณ์ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อประโยชน์สาธารณะและเป็นกองทุนเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพการผลิตสื่อให้แก่ภาคประชาชน ชุมชน และองค์กรธุรกิจขนาดเล็ก แต่ผลการอนุมัติทุนของคณะกรรมการตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา กลับมุ่งเน้นที่เอกชนรายใหญ่ และหน่วยงานรัฐต่างๆที่มีงบประมาณในการดำเนินการเป็นของตนเองอยู่แล้ว ขัดแย้งกับ พระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2558  หมวด 1 มาตรา 5 (4) ที่กำหนดว่า ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดการพัฒนา สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ (6) ส่งเสริมบุคคล องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรสาธารณประโยชน์ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่ดําเนินกิจกรรมเกี่ยวกับสื่อให้มีการผลิตและพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ เนื่องจาก“องค์กรเอกชน” ตามนิยามในประกาศคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เรื่อง การเปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ประจำปี 2563 ข้อ 3.1.4 หมายความถึง สมาคม มูลนิธิ หรือองค์กรที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่จดทะเบียน เป็นนิติบุคคล หรือเป็นส่วนงานหรือโครงการในองค์กรนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อดําเนินกิจกรรม ที่เป็นสาธารณประโยชน์ และไม่แสวงหากําไร

“เพราะฉะนั้น แม้ว่าทางกองทุนจะกล่าวอ้างว่าคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับการสนับสนุนโครงการหรือกิจกรรมที่เป็นบริษัทเอกชนจะเข้าองค์ประกอบตามประกาศ ข้อ 3.1.2(1) มูลนิธิ สมาคม หรือนิติบุคคลอื่น ๆ ที่จดทะเบียนในประเทศไทยแต่ในขณะที่ประกาศตาม ข้อ 3.1.4  ระบุไว้ชัดเจนว่าจะต้องเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร จึงจะมีสิทธิยื่นขอรับทุนได้ และที่สำคัญหากกองทุน ตีความ ในข้อ 3.1.2(1) มูลนิธิ สมาคม หรือนิติบุคคลอื่น ๆ ที่จดทะเบียนในประเทศไทย ให้หมายความถึงบริษัทเอกชนที่แสวงกำไรด้วยนั้น นิยามในประกาศข้อนี้จึงขัดแย้งกับเจตนารมณ์ตาม พรบ. หลักของกองทุน”

ด้วยเหตุนี้ ภาคประชาสังคมจึงรวมตัวกันในนามกลุ่มประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  โดยมีความประสงค์ขอยื่นข้อมูลดังกล่าว เพื่อให้หน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการ ตรวจสอบความโปร่งใสของกระบวนการพิจารณาอนุมัติทุนของคณะกรรมการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 300 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563

“และขอให้ระงับการเซ็นสัญญาอนุมัติทุน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 24 กันยายน 2563 จนกว่าจะมีการตรวจสอบกระบวนการพิจารณาอนุมัติทุนของคณะกรรมการ จากหน่วยงานที่มีอำนาจ เพื่อรักษาประโยชน์สูงสุดของงบประมาณแผ่นดิน จำนวน 300 ล้านบาท ตลอดจน ขอให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ทบทวนการพิจารณาอนุมัติทุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ใหม่โดยละเอียด รอบคอบ เป็นธรรม โปร่งใส และทั่วถึงทุกภาคส่วน ตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งกองทุน และตาม พรบ. กองทุนฯ และหากมีการตรวจสอบจากหน่วยงาน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว พบว่ามีการทุจริตในการดำเนินการใด ๆ ของผู้ที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาทุน ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายโดยถึงที่สุด”ผู้แทนกลุ่มประชาชน กล่าว