fbpx

เมื่อวันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานเปิดกิจกรรม “TMF Power Fusion” โดย “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” จัดขึ้น เพื่อเปิดเวทีให้นักศึกษาและประชาชน  5 ภูมิภาค ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันสื่อและผลิตสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคม ภายในงานครั้งนี้  ประธานได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ พร้อมด้วย  นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม, รศ.ดร. พนา ทองมีอาคม, นางสาวลัดดา ตั้งสุภาชัย, ผศ.ดร. วรัชญ์ ครุจิต, นายสมชาย เจริญอำนวยสุข, ดร.ธนกร ศรีสุขใส, ดร. สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน และ นายธวัชชัย ไทยเขียว จัด TMF Talks ในหัวข้อ “การบูรณาการแผนพัฒนา ด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ระยะที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๖๓ – ๒๕๖๕)” และ เสวนาวิชาการ การสร้างสื่ออย่างสร้างสรรค์ด้านพลังการมีส่วนร่วม

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในทุกวันนี้ที่เราอยู่กับสื่อ สื่อในที่นี้คือการส่งข่าวสาร ส่งความหมายไปยังอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งถ้าไปถึงคนจำนวนมาก เราเรียกว่าสื่อสารมวลชน ถ้าไปถึงคนจำนวนน้อยเราจะเรียกว่าสื่อเฉพาะบุคคล สื่อมวลชนที่มีโอกาสเข้าถึงเนื้อหาสาระทีละมากๆ นับว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะถ้าเป็นสื่อที่ไม่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ เช่น สื่อที่เท็จ สื่อที่ระรานผู้อื่น หรือแม้แต่ข่าวสารใดๆ ก็ตามที่ทำให้เกิดความจงเกลียดจงชัง เกิดความเป็นศัตรู ทั้งหมดนี้เป็นสื่อที่ไม่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีแต่ทำให้เกิดความแตกร้าว มองหน้ากันไม่ติด เพราะถ้าเกิดความหลงเชื่อกัน ก็อาจจะทำให้เกิดผลร้าย

วันนี้สื่อมีบทบาทมากกว่าอดีต ซึ่งสื่อมีส่วนที่ทำให้เราเปิดภูมิทัศน์ได้รวดเร็วกว่าอดีต ผมเคยอ่านประวัติศาสตร์ในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ 1 แต่ข่าวมาถึงเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 นี่สะท้องให้เห็นว่าการข่าวในอดีตมันช้า แต่ในปัจจุบันกลับรวดเร็วมากขึ้น คนอาจจะรู้ได้ในนาทีเดียวกัน ความรวดเร็วนี้ถ้าเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ก็จะทำให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น แต่ถ้าเกิดนำมาใช้ในแนวทางที่ผิด ก็อาจจะทำให้เกิดผลเสียได้ต่อสังคม

ด้วยเหตุนี้เอง รัฐบาลจึงมอบหมายให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นหน่วยงานที่จะช่วยทำให้เกิดสื่อสร้างสรรค์ขึ้นมา ใหเกิดสื่อที่มีความปลอดภัยขึ้นมา เราทำกองทุนขึ้นมาก็มีเงินเล็กน้อยและคนจำนวนน้อย รวมถึงระยะเวลาในการก่อตั้งก็ไม่นานนัก เราจะทำยังไงกัน? ก็มีหลักการง่ายๆ คือ เราต้องหาพันธมิตร อาสาสมัคร เครือข่ายจิตอาสา เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้มากขึ้น

แผนพัฒนาสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ฉบับที่ 1 ปี 2562-2565 เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วประเทศ รวมไปถึงผู้ผลิตสื่อต่างๆ ด้วยเช่นกัน ตลอดจนครูและอาจารย์ คนเหล่านี้มีความคิดดีๆ เราแค่ให้พื้นที่ให้เขาไปคิดต่อยอดสร้างสรรค์ ทำให้ได้ผลดีกว่าคนรุ่นเราที่ตามไม่ทัน ด้วยเหตุอย่างนี้เอง แผนพัฒนาในระยะที่ 1 ยังกำหนดให้ระดมการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน และยังเน้นไปที่ผู้ผลิตสื่อให้มาช่วยกันคิดทำสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ และยังควานหาพันธมิตรมาช่วยระมัดระวังเรื่องสื่อที่ไม่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ว่าอยู่ที่ไหน จะได้จัดการกันไป

นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องของการรู้เท่าทันสื่อ คำนี้ฟังดูใหม่แต่มีความสำคัญมากในวันนี้ ถ้ารู้เท่าทันก็ทำให้ความคิดเราไม่ถูกครอบงำ อย่างเช่นที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยาจะมีการสอนวิชาการรู้เท่าทันสื่อ โดยมีเหตุผลคือการทำให้เกิดการคัดกรองก่อนเกิดความเชื่อ และตรวจสอบข่าวจริง โดยใช้หลักทางพระพุทธศาสนา ซึ่งสอนมากว่า 20 ปีแล้ว แสดงว่าการรู้เท่าทันสื่อมันถูกสอนกันได้ ฉะนั้นจะอยู่ในแผนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ผมได้ทราบว่าการจัดเวทีระดมรับฟังความเห็น ครั้งนี้จัดเป็นครั้งสุดท้าย ผมต้องขอขอบคุณสำนักงานกองทุนฯ ที่ทำให้เกิดงานแบบนี้ขึ้น มีทั้งสื่อมวลชนที่ทั้งได้และไม่ได้ ซึ่งผมอยากจะรับฟังความเห็นว่าเขารู้สึกอย่างไรและจะพัฒนาอย่างไรต่อไปในอนาคต ทำให้เกิดการถามตอบอีกด้วย วันนี้เราเชิญตัวแทนจังหวัดในฐานะที่มีอนุกรรมการวัฒนธรรมประจำจังหวัด เพราะท่านต้องเป็นหูเป็นตา และให้ข้อมูลกับนักเรียนนิสิตนักศึกษาในการทำสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ เวทีแบบนี้จึงมีประโยชน์ ปีหน้าผมก็อยากให้จัดอีก แต่อาจจะจัดเป็นกลุ่มเป้าหมายก็ได้ เมื่อโควิด-19 คลี่คลายลง เพราะอย่างไรกองทุนนี้ยังต้องทำงานต่อไป

ผมต้องขอขอบคุณทุกท่าน และขอให้ตักตวงและใช้ประโยชน์ให้เต็มที่จากการประชุมวันนี้ เพื่อที่ท่านจะได้เป็นพันธมิตรของเราต่อไปในอนาคต เพื่อที่จะได้ทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อไป และสามารถเชื่อมโยงไปยังเครือข่ายอื่นๆ ต่อไปในอนาคตอีกด้วย

“หลงเชื่อเพราะรู้ไม่เท่าทันสื่อ ถ้ามันไม่จริงและเป็นเท็จ มันเกิดผลร้ายมหาศาล เกิดผลกระทบต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การใช้ชีวิตของผู้คนก็จะเปลี่ยนไปจากการรับรู้ข่าวปลอมและเกิดความเสียหายในที่สุด”

ด้าน รศ.ดร. พนา ทองมีอาคม ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เผยว่า งานวันนี้จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกท่าน ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับพวกเราชาวกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในปัจจุบัน การมีส่วนร่วมของประชาชนถือเป็นหลักการสากลที่สำคัญ นิยามของคำว่า “การมีส่วนร่วมของประชาชน” ก็คือ การกระจายโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมสำคัญของการบริหารบ้านเมือง ร่วมตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน  บทบาทในการมีส่วนร่วมนั้น เบื้องต้นเลยคือการที่ ประชาชนเข้ามามีส่วนในการให้ข้อมูล มีโอกาสได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมในการวางแผน และมีส่วนร่วมลงมือปฏิบัติร่วมกัน นี่เป็นกรอบคิดโดยรวมเกี่ยวกับการมีส่วนร่วม กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นกองทุนของรัฐในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อให้เป็นแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการผลิต การพัฒนา และการเผยแพร่สื่อที่มีคุณภาพ  เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพฤติกรรมที่ดีของเด็กและเยาวชน ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาสื่อ

กฎหมายจัดตั้งให้กองทุนทำงานได้เป็นอิสระ แต่ก็มีองค์ประกอบของคณะกรรมการที่มีทั้งข้าราชการประจำและผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่าง ๆ 9 ท่านจากภายนอก กองทุนมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการ และได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี ดร.วิษณุ เครืองาม ทำหน้าที่ มีรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม นายอิทธิพล คุณปลื้ม เป็นรองประธานฯ และมีผู้จัดการกองทุน เป็นเลขานุการการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสื่อเป็นพันธกิจสำคัญของกองทุน ที่กฎหมายกำหนดไว้ มีคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำหน้าที่ในการเสนอมาตรการเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและประสานงานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน เพื่อให้ประสานความร่วมมือพัฒนาด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมุ่งหมายให้การพัฒนาสื่อปลอดภัยละสร้างสรรค์เกิดประโยชน์แก่ประชาชน

ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการมีส่วนร่วมที่กองทุนสื่อฯ เลือกใช้ในปัจจุบัน คือการจัดให้มีกลไกภาคีเครือข่าย เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การเฝ้าระวัง และการรู้เท่าทันสื่อกองทุนปรารถนาจะสร้างเครือข่ายผู้ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่มีจำนวนและมีความหลากหลายมากขึ้น สร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน เกิดข้อเสนอเชิงนโยบายระดับชาติ ที่เกี่ยวข้องกับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเป็นเจ้าของร่วมกัน

นอกจากนั้น นางลัดดา ตั้งสุภาชัย กล่าวว่า ในสมัยของตนเองมีเพียงแค่ Hi5 แต่ปัจจุบันเรามีสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น แต่ปัญหาก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม มีหลายท่านถามว่าเมื่อไหร่จะหยุดเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์สักที? คำตอบคือ ต้องไม่มีใครเกิด เพราะเราทำงานเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยที่เป็นปัญหาสังคมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรง การเรียกร้องโดยการใช้คำหยาบคาย เราเห็นเรื่องของการนำเสนอเรื่องเพศ การกลั่นแกล้งกัน ตลอดไปจนสื่อที่ไม่สร้างสรรค์ ซึ่งส่งผลกระทบไปในสังคมเป็นอย่างมาก

ปัญหาพฤติกรรมของคนและการนำเสนอของสื่อยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้น ในวันนี้เด็กเล่นเกมส์ที่บ้านมากขึ้น บวกกับการใช้ความรุนแรง และการใช้ภาษาที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตายมากขึ้น ถ้าเราขาดสติและการใช้ศีล 5 บวกกับการร่วมด้วยช่วยกันในเครือข่าย ก็จะทำให้การเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ไม่สำเร็จนั่นเอง

นายสมชาย เจริญอำนวยสุข กล่าวว่า วันนี้กองทุนสื่อฯ จะคอยเป็นตัวเชื่อมให้ท่านสามารถทำงานถึงกันได้ สามารถสื่อสารให้เกิดขึ้นได้ โดยต้องเป็นสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทุกวันนี้ทุกท่านทั้งหลายเป็นสื่อได้ด้วยตัวของท่านเอง กองทุนสื่อฯ จะช่วยให้ท่านสามารถสร้างสรรค์สื่อได้ ถึงแม้เงินเพียงแค่ 300 ล้านบาท แต่ท่านจะสามารถสร้างสื่อให้ประชาชนหรือผู้บริโภคได้ประโยชน์ต่อไปได้ นอกจากนี้ท่านจะต้องคิดถึงส่วนรวมให้มากว่าผลกระทบในการส่งต่อข่าวปลอมจะมีมากน้อยเพียงใด

ถ้าท่านสื่อสิ่งที่ดีๆ ออกไป ก็จะส่งผลดี แต่ถ้าท่านส่งสื่อที่ไม่ดีออกไป ก็อาจจะส่งผลร้ายต่อตัวท่านและสังคมเองก็ได้ ขอให้ท่านคิดก่อนส่ง อย่าให้นิ้วเป็นเจ้านายสมอง ให้สมองเป็นเจ้านายนิ้ว ช้าหน่อยแต่จะมั่นใจได้ในการส่งต่อข่าวจริงต่อไป

ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต กล่าวว่า นวัตกรรมสื่ออาจจะเป็นสิ่งที่ต่อยอดจากสิ่งเดิม แล้วต่อยอดในรูปแบบใหม่ เราอาจจะคุ้นเคยสิ่งประดิษฐ์ แต่ไม่จำเป็นสำหรับนวัตกรรมสื่อ เพราะมีความหลากหลายมากกว่านั้น โดยแทนที่เราจะสร้างแอพพลิเคชั่น แต่สามารถสร้างนวัตกรรมกิจกรรมให้เด็กมีการเรียนรู้ ไม่ติดหน้าจอได้

นวัตกรรมทำได้ โดยมี 3 รูปแบบ คือ คนที่จะขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ๆ ในสังคม หรือที่เราเรียกว่านวัตกร โดยอยู่บนพื้นฐานของสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คิดแล้วอยู่ภายใต้โจทย์ที่สังคมดีขึ้น หลังจากนั้นคือสินค้าหรือชิ้นงานที่ดีขึ้นมาได้ โดยแบ่งเป็นคอนเทนต์หรือเนื้อหาที่มีรูปแบบใหม่ เล่าเรื่องได้น่าสนใจ และมีความคิดสร้างสรรค์ และช่องทางไม่ว่าจะเป็นการสร้างช่องทางใหม่ขึ้นมาได้เอง หรือการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมได้มากขึ้น ทำอย่างไรให้คนมารวมตัวกันให้ทำสิ่งที่ดี และรูปแบบสุดท้ายคือกระบวนการ เป็นความคิดในการจัดทำชิ้นงาน ทำให้เกิดการขับเคลื่อนงานที่ดีขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วยวิธีการที่ทำ เป็นที่ยอมรับ และการเผยแพร่กระบวนการว่าเป็นอย่างไรบ้าง? มีประโยชน์ต่อสังคมมากน้อยแค่ไหน? ทั้งหมดต้องอยู่บนพื้นฐานของสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์

ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน กล่าวว่า กองทุนสื่อฯ ถูกแบ่งเป็นสองขา คือ ซ่อมสังคม กับสร้างสังคม ซึ่งต้องเป็นมิติที่คู่ขนานกันไป เราจะซ่อมสังคมอย่างเดียวไม่ได้ เราจำเป็นที่จะต้องปลูกฝังให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ตั้งแต่เด็ก พูดกันเรื่องรู้เท่าทันสื่อ เราพูดกันมาอย่างยาวนาน แต่สังคมไทยยังอยู่ในหลุมของการไม่รู้เท่าทันสื่ออยู่

การศึกษาในยุคนี้ เราต้องศึกษานอกห้องเรียน การตอบโจทย์เรื่องการศึกษาแล้วเชื่อมโยงกับกองทุนสื่อฯ มันเป็นทางที่ใช่ โดยที่รู้จักการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนด้วย ซึ่งหลายโครงการในปีที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถพัฒนาการศึกษาผ่านสื่อได้จริง หรืออย่างการเพิ่มพื้นที่ทางสังคมให้กับเยาวชน เพื่อที่จะเห็นการเติบโตกับคนในพื้นที่แล้วก็สร้างสื่อที่เหมาะกับคนในพื้นที่ กองทุนสื่อฯ พยายามส่งเสริมให้เกิดขึ้นได้จริง บนพื้นฐานของความสนใจเราต้องหยิบยกออกมาให้เกิดขึ้น คุณต้องมีเนื้อหาที่มีความแตกต่างและสามารถสร้างสังคมให้เกิดความคุ้มค่าให้ได้มากที่สุด

นายธวัชชัย ไทยเขียว กล่าวว่า ในฐานะที่คนที่ทำงานกับเด็กมานาน ผมขอพูดในฐานะผู้ใหญ่ที่ทำงานกับเด็ก และเด็กที่ทำงานด้านสื่อ วันนี้เป็นเรื่องที่น่าเศร้าเล็กๆ ว่าผู้ใหญ่ไม่เข้าใจเด็กและเยาวชน เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ย่อส่วน จริงๆ แล้วเด็กสนใจทุกอย่าง เพราะเขาไม่เคยเจอ การศึกษาของเขาจะเปลี่ยนไปตามวัยของตนเอง ถ้าเราไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ เราจะไม่เหลือเด็กให้กอด

เพราะฉะนั้น ผู้ใหญ่ที่จะมาผลิตสื่อให้เด็ก ต้องเข้าใจพัฒนาการว่าเด็กด้านไหน ควรทำแบบไหน? ควรให้สื่อแบบไหน? เพราะฉะนั้นเราจะไม่สามารถสร้างสื่อที่เหมาะสมได้ รวมไปถึงช่วงเวลาที่เอาไปฉายด้วย ขณะนี้เราเกิดสื่อในหลายมิติ และยังมีกองทุนสื่อฯ ให้เด็กมาขอเฉพาะ เด็กเวลาที่ทำอะไรจะทำเกินตัวเพื่อที่จะให้สังคมยอมรับได้ ฉะนั้นเวลาที่เด็กจะผลิตสื่อจะผลิตใหญ่เกินตัว แต่เด็กในยุคนี้ฉลาดเกินกว่าเด็กยุคก่อน เพียงแต่แยกแยะไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องระมัดระวังในการให้เด็กทำงานสื่อ ต้องทำให้เกิดการถกแถลงมากขึ้น เพื่อให้พัฒนาผลงานได้ในที่สุด

ท้ายสุด ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าว สรุปปิดท้ายว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ส่งเสริมและมุ่งผลิตสื่อสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการในการคัดกรองสื่อที่ปลอดภัย รวมไปถึงการสร้างการมีส่วนร่วมในสื่อที่ปอดภัยและสร้างสรรค์ กองทุนจึงจัดตั้งเวทีทั้ง 5 ภาค โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนเข้าใจการรู้เท่าทันสื่อ การรับสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยกองทุนตระหนักดีว่าการขับเคลื่อนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ไม่สามารถทำได้แต่เพียงผู้เดียว

การจัดโครงการเราเริ่มมาทั้งหมด 4 ภาค 4 พื้นที่ จนถึงวันนี้เป็นเวทีสุดท้าย โดยในเวทีนี้จะเปิดให้มีส่วนร่วมในการทำเวิร์คช็อปในห้องทั้งหมด 3 อนุกรรมการฯ ซึ่งจะนำไปสู่การขับเคลื่อนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ต่อไป วันนี้เราจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ต่อไป หลังจากนี้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมการสัญจรทั้ง 5 ภาค จะนำไปกำหนดเป็นแบบแผนในการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ต่อไป