fbpx

ในปี 2563 อุตสาหกรรมสื่อในประเทศไทยดูเหมือนจะไม่ค่อยมีอนาคตสักเท่าไหร่ แต่ยังมีอีกสื่อหนึ่งที่มีทีท่าดีขึ้นและดูสวนกับกระแสของสื่อประเภทอื่นๆ อีกด้วย นั่นก็คือสื่อวิทยุนั่นเอง เพราะด้วยสถานการณ์การ Lockdown ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งผลทำให้จำนวนคนฟังวิทยุมีอัตราที่สูงขึ้น และยังเป็นทางเลือกแรกๆ ที่คนจะเสพอีกด้วย ถึงแม้ว่าการมี Podcast อาจจะทำให้สื่อวิทยุได้รับผลกระทบบ้างก็ตาม วันนี้ส่องสื่อสรุปยอดการฟังตลอด 11 เดือนที่ผ่านมาให้ติดตามกันครับ

จำนวนยอดผู้ฟังในบ้านเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วง Lockdown

ข้อมูลโดย Nielsen ระบุว่าอัตราการฟังรายการวิทยุของคนไทยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วง Lockdown คือตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม และพุ่งสูงที่สุดในช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงต้นของสถานการณ์หลังการแพร่ระบาด หรือที่เรียกกันว่า New Normal โดยผู้ฟังสูงที่สุดคือ 13,879,000 คน โดยผู้ฟังเน้นนิยมฟังวิทยุในประเภท เพลงลูกทุ่ง ,เพลงไทยสากล ,ข่าวและกีฬา และเพลงสากล โดยในประเภทเพลงลูกทุ่งมีอัตราการเพิ่มขึ้นในช่วงหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ในขณะที่ประเภทเพลงไทยสากลมีอัตราการฟังที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงปิดเมือง และพุ่งมากที่สุดในช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงผ่อนปรนสถานการณ์แล้ว

ในขณะที่กลุ่มข่าวและกีฬามีอัตราการฟังเพิ่มสูงขึ้นในช่วงพฤษภาคม-มิถุนายน เนื่องจากเป็นช่วงปิดเมือง ซึ่งมีการรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดเป็นระยะๆ และในส่วนประเภทเพลงสากลนั้นมีอัตราการฟังสูงที่สุดคือช่วงเดือนมิถุนายนนั่นเอง

หน่วย : พันคน / ข้อมูลจาก Nielsen

สำรวจยอดคนฟังแต่ละเดือน ฟังทางไหน? ยังไง?

จากข้อมูลการฟังวิทยุตลอด 11 เดือนที่ผ่านมา มีผู้รับฟังวิทยุเพิ่มขึ้นในระดับไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคนตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน ซึ่งตรงกับช่วงปิดเมืองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  และสูงสุดในช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงเริ่มกลับมาเข้าสู่สถานการณ์ปกติ และค่อยๆ ลดลงไป โดยในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงปิดเมือง คนไทยมีอัตราการฟังวิทยุภายในบ้านสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยมากที่สุดในช่วงเดือนพฤษภาคม ในขณะเดียวกันการรับฟังภายในรถในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน กลับตกลงมา เนื่องจากคนออกจากบ้านน้อยลง แต่สิ่งที่น่าตกใจนั่นก็คือ คนเริ่มกลับมาฟังวิทยุในสถานที่ทำงานมากขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงปลายของการปิดเมืองนั่นเอง และเริ่มมากขึ้นในเดือนมิถุนายน

สำหรับเทรนด์การฟังวิทยุ หัวใจหลักยังคงเป็นผ่านทางหน้าปัดวิทยุอยู่ แต่สำหรับปีนี้เรียกได้ว่าหน้าปัดวิทยุอาจจะเริ่มเป็นยุคเสื่อมถอยแล้วก็เป็นไปได้ โดยเฉพาะในช่วงพฤษภาคม – กันยายน ยอดผู้ฟังผ่านวิทยุตกลงมาเหลือเพียงต่ำกว่าร้อยละ 70 และสามารถขึ้นมามากกว่าร้อยละ 70 ได้ในช่วงเดือนตุลาคมเพียงเดือนเดียวเท่านั้น ในขณะที่ ยอดคนฟังวิทยุผ่านคอมพิวเตอร์กลับมากขึ้นในช่วงเดือนเมษายน – สิงหาคม อันเนื่องมาจากการทำงานไปด้วย ฟังวิทยุไปด้วยเริ่มกลับมามีบทบาทมากขึ้นในระยะสั้น และคนฟังวิทยุผ่านมือถือมีอัตรามากที่สุดในช่วงเดือนพฤษภาคมที่แตะไปถึงร้อยละ 30 เลยทีเดียว และกลับมาแตะที่ร้อยละ 30 อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าอัตราการฟังวิทยุผ่านโทรศัพท์อยู่ในแนวที่เพิ่มสูงขึ้น และโควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นนั่นเอง

เม็ดเงินโฆษณารอบ 11 เดือน กวาดรวม 3,000 ล้านบาท

สำหรับเม็ดเงินโฆษณาในรอบ 11 เดือนที่ผ่านมา กวาดรายได้ไปรวมทั้งสิ้นมากกว่า 3,279 ล้านบาท โดยในเดือนที่มีเม็ดเงินโฆษณามากที่สุด นั่นก็คือเดือนมีนาคมที่มีรายได้มากกว่า 330 ล้านบาท แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลทำให้เม็ดเงินโฆษณาเดือนเมษายนลดลงไปกว่า 55 ล้านบาท ตกไปอยู่ในระดับที่ 200 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเกิดจากการที่เอเจนซีและแบรนด์ตัดสินใจลดงบการตลาดลง ซึ่งจุดที่ตกต่ำที่สุดคือเดือนมิถุนายนที่ลดลงไปเหลือเพียง 267 ล้านบาทเท่านั้น แน่นอนว่าตกลงมาจากปีที่แล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน (นับจาก 12 เดือนของปี 2562 เทียบกับ 11 เดือนของปี 2563)

โดยในขณะที่บางแบรนด์ก็ยังตัดสินใจลงเงินกับสื่อวิทยุอย่างต่อเนื่อง แม้ในภาวการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดย 10 อันดับแรกประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง ,อาหารเสริมวาย-กิง ,ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม OK Herbal ,ธนาคารออมสิน ,สำนักนายกรัฐมนตรี ,ศูนย์บริการรถยนต์ B-Quik ,ยาสีฟันเทพไทย ,กระทรวงคมนาคม ,รถยนต์มาสด้า และสบู่ Bennett ซึ่งสวยทางกับแบรนด์อื่นๆ ที่ทยอยตัดลดงบโฆษณาเพื่อที่ประคองเอาตัวรอดนั่นเอง

ยอดคนฟังวิทยุในเมืองไทย Gen X ยังครองตำแหน่ง

สำหรับยอดผู้ฟังวิทยุในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในรอบ 11 เดือนที่ผ่านมามีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงสถานการณ์การปิดเมือง กล่าวคือช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม มีอัตราที่เพิ่มขึ้นมากเท่าตัว แต่ในบรรดากลุ่มผู้ฟังวิทยุ กลุ่มที่ฟังมากที่สุดเป็นกลุ่มคนอายุตั้งแต่ 40-59 ปีขึ้นไป ซึ่งในเดือนมิถุนายนเดือนเดียว มีผู้ฟังมากกว่า 5 ล้านคนเลยทีเดียว ส่วนกลุ่มอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปมีผู้ฟังเฉลี่ยเดือนละ 2 ล้านคน และกลุ่มอายุ 20-39 ปีมีผู้ฟังเฉลี่ยเดือนละ 4 ล้านคนโดยประมาณ ซึ่งคนฟังมากที่สุดในช่วงเดือนมิถุนายนที่เป็นช่วงกลับเข้ามาสู่สภาวะปกติแล้ว มีคนฟังมากกว่า 14 ล้านคนเลยทีเดียว  และยอดเฉลี่ยตลอด 11 เดือนอยู่ที่ 11 ล้านคน ซึ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้กระตุ้นการฟังของคนไทยมากขึ้นอีกด้วย

คลื่นไหน ใครฟังมากกว่ากัน?

จากอัตราการฟังที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้แต่ละสถานีมีการฟังที่สูงขึ้นมากเช่นกัน โดยเฉพาะ 5 อันดับแรกที่เราหยิบยกขึ้นมา มีอัตราการฟังที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยอันดับ 1 ยังคงเป็นคลื่น 95 ลูกทุ่งมหานครอยู่ โดยมีอัตราเฉลี่ยในการฟังอยู่ที่ 3 ล้านคน โดยฟังมากที่สุดในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 3,282,000 คน ในขณะที่อันดับที่ 2 นั้นยังคงเป็น Cool Fahrenheit 93 ที่มียอดคนฟังโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2 ล้านคนต่อเดือน และมีคนฟังมากที่สุดในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 2,203,000 คน

ส่วนอันดับ 3 – 5 มีการสลับปรับเปลี่ยนกันไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นคลื่นหลักๆ ได้แก่ จส.100 ที่มีคนฟังเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 1 ล้านคน คนฟังมากที่สุดในช่วงเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 1,417,000 คน , 90 ลูกทุ่งรักษ์ไทย มีคนฟังเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 6 แสนคน มีคนฟังมากที่สุดในเดือนมิถุนายน มีคนฟังเฉลี่ยอยู่ที่ 977,000 คน และ 103.5 FM ONE ที่มีคนฟังเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 5 แสนคน โดยคนฟังมากที่สุดคือเดือนมิถุนายนที่มีคนฟังอยู่ที่ 615,000 คน

เม็ดเงินโฆษณาเข้าคลื่นไหนมากที่สุด?

สำหรับเม็ดเงินโฆษณาวิทยุนั้น ในช่วงเดือนเมษายน เม็ดเงินโฆษณามีการลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเป็นช่วงที่ประเทศ Lockdown จึงทำให้เม็ดเงินโฆษณาลดลงด้วยเช่นกัน และในช่วงของเดือนสิงหาคมก็มีการลดลงของเม็ดเงินโฆษณาเช่นเดียวกัน ซึ่งในปีนี้ถือเป็นปีที่แข่งขันในเชิงของเม็ดเงินโฆษณาดุเดือดเช่นกัน ถึงขั้นทุกอันดับมีการปรับเปลี่ยนไม่เว้นเดือนเลยทีเดียว

โดยรวมคลื่นหลักยังยึดเม็ดเงินโฆษณาหลักอยู่ โดยเฉพาะ Cool Fahrenheit 93 ที่ในรอบ 11 เดือนมีเม็ดเงินโฆษณาอยู่ที่ 320 ล้านบาท ในขณะที่ Greenwave 106.5 นั้นก็มีเม็ดเงินโฆษณารวม 11 เดือนอยู่ที่ 282 ล้านบาท , 94.5 ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค มีรายได้ตลอด 11 เดือนที่ผ่านมารวมอยู่ที่ 254 ล้านบาท , 102.0 คลื่นคนทำงาน มีรายได้รวมอยู่ที่ 169 ล้านบาท และยังมีคลื่น EFM 94 ที่ในรอบ 11 เดือนมีเม็ดเงินโฆษณาอยู่ที่ 155 ล้านบาท


Infographic : ทินวุฒิ ลิวานัค
ข้อมูลอ้างอิงจาก สำนักงาน กสทช.