fbpx

สวัสดีครับ ห่างหายมานานกับบทความเชิงเทคนิคเกี่ยวกับวงการสื่อ คราวนี้ทางส่องสื่อไปพบสิ่งที่น่าสนใจที่อยากนำมาเล่าให้ฟัง ในเรื่องของโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกที่เคยรับใช้ผู้ชมมานานจนถึงจุดสิ้นสุดนั้นมีการแบ่งระบบภาพออกอากาศหลายรูปแบบ ทั้ง PAL (แบบในไทยและยุโรป) SECAM และ NTSC แบบในอเมริกา

ซึ่งระบบโทรทัศน์แอนะล็อกนั้นมีการแยกความถี่ที่ออกอากาศระหว่างความถี่ของภาพและความถี่ของเสียง แต่เครื่องรับโทรทัศน์เมื่อจูนรับชมแล้ว จะทำการจับคู่คลื่นความถี่ทั้งสองอย่างมามัดรวมกัน เรียกว่า “Channel” หรือช่องสัญญาณ ตัวอย่างเช่นในระบบ NTSC มาตรฐาน M (NTSC-M) ที่ออกอากาศในช่องสัญญาณที่ 5 (VHF Channel 5) ภาพออกอากาศที่ความถี่ 77.25 MHz และเสียงออกอากาศที่ความถี่ 81.75 MHz ซึ่งเป็นระบบ FM (คุ้น ๆ ไหม) มันคือระบบเดียวกับวิทยุ FM นี่เอง

แต่ทว่าในอเมริกาที่ใช้มาตรฐานระบบโทรทัศน์แอนะล็อกแบบ NTSC-M  นั้น ที่ช่องสัญญาณที่ 6 (VHF Channel 6) ซึ่งมีความลับ (แต่ทางเรายังหาที่มาไม่ได้ว่ามันบังเอิญใช้ย่านความถี่ตรงกันหรือเขาจงใจให้เป็นแบบนี้ ผู้อ่านท่านไหนทราบ Inbox มาที่เพจ “ส่องสื่อ” ของเราได้นะครับ) ภาพออกอากาศที่ความถี่ 83.25 MHz แต่เสียงออกอากาศที่ความถี่ 87.7 MHz หรือ 87.75 MHz

แปลว่าผลพลอยได้คือ สามารถฟังเสียงจากสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวผ่านทางวิทยุได้นั่นเอง และทางเทคนิคสัญญาณเสียงไปได้ไกลกว่าภาพทำให้บางส่วนของพื้นที่ที่รับสัญญาณภาพอนาล็อกช่องสัญญาณ VHF Channel 6 ไม่ชัดเจนก็เปิดฟังเสียงได้ชัด

และพื้นที่ไหนที่ไม่มีการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ช่องสัญญาณนี้ แต่มีสถานีวิทยุที่ความถี่ 87.7 FM ก็จะเปิดฟังผ่านทีวีแอนะล็อกที่ช่อง 6 ได้ด้วย

และนอกจาก NTSC-M ระบบอื่นมีแบบนี้ไหม

ทางเราก็สงสัยจนไปหาข้อมูลเพิ่มเติมมาอีก พบว่า ระบบ PAL-B ในยุโรป มีบางพื้นที่ใช้ช่องสัญญาณ Channel 4A (และ Channel C ในอิตาลี) ออกอากาศเสียงที่ความถี่ FM 87.75 MHz เช่นกัน แต่ในส่วนของยุโรปตะวันออกและรวมถึงเอเชียที่เกาหลีเหนือ ระบบ PAL-D ช่องสัญญาณ Channel 4 ออกอากาศเสียงที่ความถี่ FM 91.75 MHz, ช่องสัญญาณ Channel 5 ออกอากาศเสียงที่ความถี่ FM 99.75 MHz

ระบบ PAL-D/K ที่ใช้ในเยอรมันตะวันออก ช่องสัญญาณ Channel 3 ก่อนปี 1957 ออกอากาศเสียงที่ความถี่ FM 106.40 MHz

ระบบ NTSC ในญี่ปุ่น ช่องสัญญาณ Channel 1 ออกอากาศเสียงที่ความถี่ FM 95.75 MHz, ช่องสัญญาณ Channel 2 ออกอากาศเสียงที่ความถี่ FM 101.75 MHz, ช่องสัญญาณ Channel 3 ออกอากาศเสียงที่ความถี่ FM 107.75 MHz (ความถี่เหล่านี้ถูกใช้ในเคเบิลทีวีอนาล็อกในอเมริกาด้วย ที่ช่องสัญญาณ  95, 96, 97 ตามลำดับ)

ระบบ PAL-B ในออสเตรียเลีย ช่องสัญญาณ Channel 3 ออกอากาศเสียงที่ความถี่ FM 91.75 MHz, ช่องสัญญาณ Channel 4 ออกอากาศเสียงที่ความถี่ FM 100.75 MHz, ช่องสัญญาณ Channel 5 ออกอากาศเสียงที่ความถี่ FM 107.75 MHz

ระบบ PAL-D ในจีนแผ่นดินใหญ่ ช่องสัญญาณ Channel 5 ออกอากาศเสียงที่ความถี่ FM 91.75 MHz

สถานีโทรทัศน์โปรโมทว่าเป็นอีกช่องทางติดตาม

จากกรณีนี้ทำให้มีหลายสถานีมีการโปรโมทว่าสามารถฟังเสียงรายการของสถานี (โดยส่วนมากนิยมโปรโมทรายการข่าวและการเตือนภัย สภาพอากาศ การจราจร) ผ่านทางวิทยุได้

โดยเมื่อมีการยุติออกอากาศระบบอนาล็อก จะส่งผลให้สถานีต่อไปนี้ไม่สามารถฟังผ่านวิทยุ FM ได้ ถึงกับต้องแจ้งผู้ฟังเลย ทำให้มีแฟนคลับพูดถึงเสียดายที่จะไม่ได้ฟังทางวิทยุ (โดยเฉพาะในรถยนต์)

โพสต์นี้แสดงถึงความหวังที่อยากให้กลับมาจริง ๆ

What Happened To TV Sound On 87.7 FM?

What Happened To TV Sound On 87.7 FM? (newson6.com)

ปิดทีวีแอนะล็อก จะทำอย่างไรดีกับ 87.7 FM

เนื่องจากบทความนี้เน้นที่ฝั่ง US เราจึงขอพูดถึงเรื่องของฝั่งนี้นะครับ เริ่มจากสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินของอเมริกาจะยุติระบบแอนะล็อกภายใน 12 มิถุนายน 2009 ทำให้ช่องที่มีฐานผู้ฟังจาก 87.7 FM บางช่องต้องปรับตัวโดยการทำแบบช่องอื่น ๆ ที่มีการนำรายการของตัวเองไปออกอากาศกับวิทยุ FM, AM ทั้งในเครือตัวเองหรือจับมือกับพาร์ทเนอร์ ซึ่งการทำแบบนี้ไม่สามารถยกไปออกอากาศได้ตลอด 24 ชั่วโมงนั่นเอง ส่วนมากจะเน้นรายการข่าวและการพยากรณ์อากาศ รายงานสภาพการจราจร เตือนภัยต่าง ๆ

ตัวอย่างเช่นสถานี “WECT NBC 6”

Goodbye 87.7, Hello 102.7

Goodbye 87.7, Hello 102.7 (wect.com)

“KOTV CBS 6” ก็ประเทศไว้ท้ายบทความลิงก์นี้เช่นกัน

แต่ก็มี 2 สถานีที่เสนอแหวกแนว เพราะต้องการคู่ขนานทางวิทยุทั้งผังของสถานี โดยสถานี WRGB CBS 6 ได้เสนอทาง FCC (หน่วยงานเหมือน กสทช. ในอเมริกา) โดยเสนอว่าขอให้ใช้งานเครื่องส่งวิทยุ FM เพื่อรักษาความเข้ากันได้กับเครื่องรับวิทยุในรถยนต์ (แสดงให้เห็นว่ามีคนฟังทางวิทยุในรถเยอะพอสมควร เลยเน้นที่จุดประสงค์นี้ ทั้งที่คลื่น FM ไม่ได้จำกัดเฉพาะวิทยุในรถ) หรือวิทยุ FM อื่น ๆ โดยทาง WRGB หวังว่า FCC จะช่วยเหลือได้ (อ้างอิงจากเว็บไซต์ของสถานี WRGB)

อย่างไรก็ตาม ไม่มีช่องอื่น ๆ ในอเมริกาที่ใช้ช่องสัญญาณแอนะล็อก VHF 6  มาก่อน เข้าร่วมแนวคิดนี้ มีเพียง WPVI 6ABC ที่ให้ความสนใจด้วย

ต่อมา WRGB ได้รับการอนุญาตชั่วคราว ทดสอบออกอากาศเสียงทาง 87.7 FM ได้ แต่ต่อมาต้องหยุดดำเนินการเมื่อพบว่ามีสัญญาณ RF รบกวนสัญญาณทีวีดิจิตอลที่รีฟาร์มกลับมาที่ VHF 6 หลังจากยุติระบบแอนะล็อกได้สักพักใหญ่ (ที่อเมริกาช่องแอนะล็อกเดิมพอมาดิจิทัลทีวีจะตั้ง MUX เอง และมีการรีฟาร์มกลับไปใช้ความถี่เดิมที่เคยออกอากาศระบบแอนะล็อก)

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2009 WRGB กลับมาออกอากาศคู่ขนานทางวิทยุอีกครั้งบนความถี่ 87.9 FM โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก FCC ไม่ถึงสองเดือนต่อมาในวันที่ 24 สิงหาคม FCC สั่งให้ WRGB ปิดเครื่องส่ง 87.9 MHz เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ความถี่ดังกล่าว

ทาง WRGB ก็ยังไม่หยุดที่จะหาทางออกเรื่องของการคู่ขนานวิทยุตลอดทั้งผัง จึงเจรจากับทาง WMIL-FM สถานีวิทยุที่มีการออกอากาศในระบบดิจิทัล (ที่อเมริกาใช้มาตรฐาน HD Radio) เพื่อนำเสียงของสถานีไปคู่ขนานในช่องย่อยของ WMIL-FM MUX ซึ่งเป็นช่องที่ 3 นั่นเอง และทำให้มีบางสถานีก็หันมาใช้วิธีนี้ตามไปด้วย

87.7 FM ในปัจจุบัน ยังมีสถานีโทรทัศน์ประเภท Low power ใช้?

เนื่องจากสถานีโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกประเภทกำลังส่งต่ำ (Low power) ยังไม่มีการยุติการออกอากาศ ทำให้ถูกนำมาใช้ออกอากาศรายการวิทยุในคราบความถี่ของสถานีโทรทัศน์ ทำให้สามารถรับฟังได้ทั้งจากโทรทัศน์ทางช่องสัญญาณแอนะล็อก Channel 6 VHF และทางวิทยุ 87.7 MHz FM ได้ โดยให้บริการในบางพื้นที่ของอเมริกา อย่างเช่นสถานี WRME-LP 6 หรือชื่อแบรนด์ MeTV FM 87.7 ในชิคาโก เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม สถานีแอนะล็อกแบบ Low Powered ทั้งหมดก็มีแผนจะปิดตัวลงในปี …. ซึ่งก็ต้องดูว่าทาง FCC ของอเมริกาจะทำอะไรต่อกับสถานีเหล่านี้ จะย้ายขึ้นวิทยุดิจิทัล HD Radio หรือจะย้ายขึ้นทีวีดิจิทัล ATSC หรือปิดตัวไปเลย