fbpx

แน่นอนว่าทุกวันนี้สื่อที่เรารับมานั้นมีหลากหลายช่องทางมากๆ ซึ่งก็ทำให้มีทั้งสื่อที่ดีและไม่ดีปะปนกันไป ที่สำคัญทำให้เราไม่สามารถหยิบสื่อที่ดีมาต่อยอดได้เลย กลับกันด้วยเงื่อนไขทางธุรกิจ จึงทำให้สื่อมวลชนต่างต้องผลิตสื่อเพื่อชิงเรตติ้ง อันส่งผลต่อเม็ดเงินโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์หรือสื่อออนไลน์ก็ตาม ส่งผลทำให้เกิดสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ขึ้นจำนวนมาก และยังทำให้สื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์นั้นถูกบีบเพื่อให้ทำเรตติ้งและความอยู่รอดด้วยเช่นกัน

แต่จะดีกว่านี้ไหม? ถ้าเรามีกองทุนที่สามารถตอบโจทย์สื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้ นี่จึงเป็นแนวคิดและที่มาของ “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” หรือที่เรารู้จักในนามกองทุนสื่อฯ นั่นเอง ซึ่งกองทุนนี้เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ในการสร้างสื่อดี ขจัดสื่อร้าย มุ่งเน้นให้สังคมสามารถมีที่ยืนให้กับสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์

โดยวัตถุประสงค์ของกองทุนนี้ ตามการจัดตั้งพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 นั้นคือมุ่งเน้นการสนับสนุน ส่งเสริมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมไปถึงสร้างภูมิคุ้มกันในการรู้เท่าทันสื่อให้กับเด็ก เยาวชน และครอบครัว และยังสามารถใช้สื่อในการพัฒนาตนเองและชุมชนได้ด้วย ตลอดจนพัฒนานวัตกรรมสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ และทำให้ทุกคนเข้าถึงสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้นั่นเอง

กองทุนสื่อฯ ยังมีเป้าหมายในการที่จะให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัย สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้เพิ่มขึ้น ได้เรียนรู้ พัฒนาตนเองและครอบครัว พัฒนางานและเกิดความเข้าใจสังคมที่แตกต่างหลากหลาย สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมานฉันท์ ซึ่งเป็นเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์ของกองทุนสื่อฯ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2561 – 2565) อีกด้วย

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานั้น กองทุนสื่อฯ เน้นการทำงานในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในเชิงการผลิตและเผยแพร่สื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยอาศัยกลไกเครือข่ายภาคีการทำงาน และกลายเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย, การทำงานเชิงวิจัยและสร้างองค์ความรู้, การส่งเสริมกลไกเชิงพื้นที่และขยายผลจากพื้นที่ต้นแบบในการรู้เท่าทันสื่อ และการสร้างเครือข่ายพันธมิตรในการสร้างสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์

จริงๆ ที่เล่ามานี่แค่คร่าวๆ เท่านั้น ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560-2563 ได้จัดสรรโครงการไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 446 โครงการ นับเป็นมูลค่ากว่า 1,139 ล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งลำดับการจัดสรรทุนในแต่ละปีก็มีมูลค่าและการจัดสรรเงินทุนที่มากขึ้นและครอบคลุมในหลากหลายมิติมากขึ้น โดยเริ่มจากในปี 2561 ที่จัดสรรทุนไปกว่า 100 ล้านบาท ทั้งหมดกว่า 53 โครงการ และมีโครงการเด่นหลากหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็น “บรูด้าน้อยผจญภัย” ภาพยนตร์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทะเลไทยสำหรับเด็กอายุ 3-6 ปี หรือโครงการ “วันไมค์” ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้สะท้อนปัญหาสังคมผ่านสื่อสร้างสรรค์อย่างตรงไปตรงมา ผ่านการ Rap เตือนใจให้คนเห็นและแก้ไขปัญหาสังคมร่วมกันด้วย

ซึ่งนอกเหนือจากนั้น ในปี 2561 ก็ได้มีการปรับหลักเกณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานในหลากหลายมิติมากขึ้น โดยในปีนั้นจัดสรรทุนไปมากกว่า 149 โครงการ นับเป็นเม็ดเงินกว่า 350 ล้านบาท และมีโครงการที่หลายคนคุ้นหน้าคุ้นตากันดี ไม่ว่าจะเป็น “วาฬบอกที” ภาพยนตร์สารคดีที่มีเนื้อหากระตุ้นให้คนไทยเกิดแรงบันดาลใจรักษาและหวงแหนสิ่งแวดล้อม, ละครหุ่นมือที่ทุกคนคิดถึงอย่าง “ฉงน ฉงาย สองควายช่างสงสัย” ซึ่งต่อยอดมาจากเรื่องเจ้าขุนทอง เพื่อให้เด็กไทยได้เรียนรู้การใช้ภาษาไทย ซึ่งในปีนี้ได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ โครงการเปิดรับทั่วไป และโครงการเชิงยุทธศาสตร์เป็นครั้งแรกอีกด้วย

ถัดมาในปี 2562 ก็ได้มีการจัดสรรโครงการไปมากกว่า 149 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 405 ล้านบาท โดยยังมีโครงการที่น่าสนใจอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “The Blind Art Project” โครงการผลิตรายการโทรทัศน์ที่เน้นการถ่ายทอดศิลปะของผู้พิการทางสายตา ซึ่งสะท้อนความคิดและแง่มุมในการใช้ชีวิตอีกด้วย และโครงการ “ความสุขของผู้ค้นพบ” เป็นโครงการที่ให้เยาวชนได้ค้นหาตัวเองผ่านสื่อสารคดีที่ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตของบุคคลที่น่าสนใจ

และในปี 2563 ก็ได้มีการปรับหลักเกณฑ์ โดยได้แบ่งการให้ทุนเป็น 3 หมวดหมู่ คือ โครงการเปิดรับทั่วไป 39 โครงการ จำนวน 89 ล้านบาท, โครงการเชิงยุทธศาสตร์ 48 โครงการ จำนวน 180 ล้านบาท และโครงการประเภทความร่วมมือ 8 โครงการ จำนวน 16 ล้านบาท รวมกันเป็นจำนวน 95 โครงการ มูลค่ามากกว่า 285 ล้านบาท ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการอยู่นั่นเอง

อีกหนึ่งโครงการที่ต่อยอดและทำให้คนไทยได้รู้จัก และกองทุนสื่อได้ให้การสนับสนุนเสมอมาในฐานะการทำงานเชิงรุกร่วมกันกับภาคี นั่นก็คือโครงการ “ชัวร์ก่อนแชร์” ซึ่งเป็นรายการสั้นและแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อการตรวจสอบข่าวลวง ทำให้ประชาชนรู้ทันข่าวสารที่ไหลไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งนอกจากจะออกอากาศผ่านทางช่อง 9MCOT HD แล้ว ยังต่อยอดไปยังโครงการ “นักสืบสายชัวร์” อีกด้วย ซึ่งเป็นการสร้างแกนนำเยาวชนที่รู้เท่าทันสื่อ มีศักยภาพในการตรวจสอบสื่อ และสามารถสื่อสารประเด็นสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้ ทำให้เกิดเยาวชนนักสืบสายชัวร์จำนวน 36 คน เป็นแกนนำรู้เท่าทันสื่อและสื่อสารประเด็นสื่อที่ปลอดภัยได้ในโรงเรียนอีกด้วย

นี่เป็นเพียงโครงการเล็กๆ น้อยๆ ที่ทางกองทุนสื่อฯ ได้สนับสนุนในช่วงเวลาที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าสื่อมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมและเปลี่ยนแปลงประเทศมากน้อยขนาดไหน ซึ่งสำหรับใครที่รอคอยหรือมีแนวคิดในการสร้างสรรค์สื่อดีๆ แต่ไม่รู้จะหางบมาจากไหน วันนี้กองทุนสื่อฯ ได้เปิดช่องทางในการรับทุนเพื่อผลิตสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์กันแล้ว โดยในปี 2564 นี้มีการปรับหลักเกณฑ์เล็กน้อย เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ซึ่งก็เกิดจากการไปรับฟังความเห็นมาทั่วประเทศนั่นเอง

สำหรับปีนี้ทางกองทุนสื่อฯ ได้แบ่งการให้ทุนเป็น 3 ประเภท ได้แก่ การให้ทุนประเภทเปิดรับทั่วไป (Open Grant) กรอบวงเงินไม่เกิน 90 ล้านบาท โดยทุกคนสามารถส่งแนวคิดหรือโครงการที่จะทำสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์เข้ามาได้ โดยไม่ได้จำกัดว่าจะเป็นประเภทใด ออกอากาศแนวไหน ซึ่งในปีนี้แบ่งประเภทเป็น กลุ่มเด็กและเยาวชน วงเงินไม่เกิน 30 ล้านบาท, กลุ่มผู้สูงอายุ วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท, กลุ่มคนพิการและผู้ด้อยโอกาส วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท และกลุ่มประชาชนทั่วไป วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท

ส่วนการให้ทุนประเภทเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) กรอบงบวงเงินไม่เกิน 180 ล้านบาท นั้นปีนี้ได้แบ่งออกเป็น 3 ก้อน เพื่อให้แต่ละกลุ่มที่จะขอสามารถแข่งขันกันได้ด้วยกำลังและแนวทางของโครงการที่เหมาะสม โดยแบ่งเป็นโครงการหรือกิจกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นผลิตภาพยนตร์เสริมสร้างความรักชาติ มีวงเงินไม่เกิน 30 ล้านบาท, โครงการหรือกิจกรรมขนาดกลาง วงเงินทั้งหมดไม่เกิน 100 ล้านบาท ซึ่งปีนี้เน้นในเรื่องของ การเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมือง, การสร้างเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว, การสร้างจิตสำนึกผ่านการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทย และการสร้างความสามัคคีของคนในชาติ มีวงเงินประเด็นละไม่เกิน 25 ล้านบาท สำหรับโครงการที่มากกว่า 5 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 20 ล้านบาท

และโครงการหรือกิจกรรมขนาดเล็ก ตามประเด็นในปีนี้ที่จะทำ ได้แก่ การทำนุบำรุงสถาบันหลักของชาติ, การสร้างสื่อเพื่อส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม, วัฒนธรรมกับการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ, การสร้างสื่อเพื่อเชิดชูบุคคลที่ทำความดี และโทษและความเสี่ยงของสื่อออนไลน์ โดยวงเงินทั้งหมดไม่เกิน 50 ล้านบาท และในแต่ละประเด็นนั้นประเด็นละ 10 ล้านบาท สำหรับโครงการที่น้อยกว่า 5 ล้านบาท

และการให้ทุนประเภทความร่วมมือ (Collaborative Grant) กรอบงบวงเงินไม่เกิน 30 ล้านบาท ซึ่งมีขอบเขตของโครงการหรือกิจกรรมไว้สำหรับผู้ขอรับการสนับสนุนที่เป็นภาคีเครือข่ายหรือผู้ผลิตสื่อที่เป็นนิติบุคคลซึ่งมีประสบการณ์หรือผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ และมีวัตถุประสงค์โครงการหรือกิจกรรมสอดคล้องกับภารกิจของคณะอนุกรรมการตามมาตรา 21 (13)

มาถึงบรรทัดนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วเงินกองทุนสื่อมาจากไหนบ้าง? ทำไมเขาถึงสามารถจัดสรรมาให้สื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้? งานนี้เราเลยสอบถามไปยัง “ดร.ธนกร ศรีสุขใส” ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ถึงกรณีนี้ โดย ดร.ธนกร กล่าวกับทางทีมส่องสื่อว่า เงินที่จัดสรรมานั้น เป็นเงินที่มาจาก กสทช. ซึ่งจะมีกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และเงินที่จัดสรรนั้นมาจากเงินที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ที่เอาไปใช้ในกิจการวิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคมอีกที นอกจากนั้นในรายปี ผู้รับใบอนุญาตทั้งหลายที่ประกอบกิจการ ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมประกอบกิจการายปี ก็ส่งเงินเข้าไปที่กองทุนไม่เกิน 2% และเงินบางส่วนก็จะถูกจัดสรรตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 มาตรา 52 (5) ที่ต้องจัดสรรเงินให้กับกองทุนสื่อฯ อีกด้วย

ก่อนทิ้งท้าย ผู้จัดการกองทุนสื่อฯ ฝากถึงทุกคนที่จะเขียนขอทุนว่า “การขอทุนมีข้อมูลรายละเอียดเยอะ เพราะฉะนั้นใครที่จะขอทุน ขอให้อ่านประกาศให้ละเอียด จะทำให้จัดความคิดได้ว่ากองทุนสื่อฯ ต้องการอะไร แล้วต้องทำอะไร เริ่มจากต้องอ่านประกาศ ต้องคุยกันเองก่อน เสร็จแล้วมาค้นหาตัวเองและต้นทุนที่เรามี อย่าไปนึกว่าเสนอเรื่องอะไร ให้ไปค้นหาสำรวจว่าต้นทุนที่เรามี เรา ณ ที่นี้คือผู้ที่จะเสนอทุน ต้นทุนที่คุณมีนั้นคืออะไร แล้วค่อยมาดูว่าที่กองทุนเปิดรับทั่วไป หรือกองทุนยุทธศาสตร์ รวมถึงประเภทความร่วมมือตัวไหนที่มาจับคู่ชนกันได้ แล้วถึงไปสู่การลงมือเขียนผลิตโครงการ ซึ่งผมเชื่อว่าโครงการที่ดีจะขายตัวมันเองได้”

สำหรับการขอทุนในปีนี้นั้น ได้เปิดให้ขอทุนตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 16.30 น. ผู้สนใจสามารถยื่นข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมได้ที่ www.thaimediafund.or.th และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร 02-273-0116-9 หรือผ่านทาง Facebook กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

อย่าลืมมาสร้างสรรค์สื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์กันเยอะๆ นะ