fbpx

ทุกวันที่ 1 เมษายนของทุกๆ ปี เราจะมีเทศกาลหนึ่งที่ทุกคนพร้อมใจกันออกมาโกหก นั่นก็คือเทศกาล April Fool’s Day แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อทุกคนโกหกกันได้ทุกวัน ไม่ใช่แค่วันที่ 1 เมษายน เท่านั้น และการพร้อมใจโกหกในครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ข่าวลวงที่มีมากมายมหาศาลอีกด้วย

เมื่อวานนี้ (31 มีนาคม 2564) ทาง Cofact จึงได้จัดถ่ายทอดสดภายใต้หัวข้อ “What to do when every day is April fools?” ซึ่งเป็นการประเดิมก่อนงานในวันที่ 2 เมษายน ซึ่งทุกๆ ปีจะเป็นวัน International Fact-Checking Day เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นข่าวลวงและส่งเสริมให้เกิดการตรวจสอบ ซึ่งคนก่อตั้งคือ International Fact-Checking Network (IFCN) เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่สนับสนุนการทำงานในการตรวจสอบข่าวลวงในแต่ละประเทศอีกด้วย

ในวันนี้ ส่องสื่อจึงขอสรุปให้ได้อ่านกันแบบรวดเดียวจบกัน เพื่อเรียนรู้ประเด็นจากการทำงานข่าวลวงเชิงพื้นที่ต่อไปด้วย

โดยเริ่มต้นจาก ณัฐกร ปลอดดี – บรรณาธิการ AFP Fact-Check Thailand ได้พูดถึงการทำงานของ AFP Fact-Check ไว้ว่าปัจจุบันได้ทำงานในการตรวจสอบข่าวลวงให้กับ Facebook และยังเป็นสมาชิกของ IFCN อีกด้วย ซึ่งในขั้นตอนการทำงานจะเน้นความโปร่งใส และเน้นจุดเด่น คือมีนักข่าวอยู่ทั่วโลก ซึ่งในบางครั้งอาจจะต้องเน้นการร่วมมือกับเครือข่ายในพื้นที่ในการตรวจสอบข่าวลวงเฉพาะพื้นที่ เพราะในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันพอสมควร โดยการที่ AFP ไม่ใช้คำว่า “ข่าวปลอม” เนื่องจากเป็นวาทกรรมทางการเมืองที่ผู้นำระดับโลกคนเก่าอย่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” เคยนำมาพูดเพื่อปิดกั้นการนำเสนอและตรวจสอบข่าวลวง แต่จะใช้คำว่า “ข่าวลวง” หรือคำต่างๆ เช่น ข้อมูลเท็จ เท็จบางส่วน ทำให้เข้าใจผิด หรือล้อเลียนนั่นเอง

การทำงานของ AFP อีกส่วนที่สำคัญคือพยายามทำงานให้รัดกุมมากที่สุด โดยเน้นการหาต้นตอของแหล่งข่าวนั้นๆ หรือที่เราจะเรียกกันว่า “แหล่งข่าวปฐมภูมิ” นั่นเอง และณัฐกรยังย้ำว่า ไม่ใช่ทุกข่าวที่จะสามารถตรวจสอบข่าวลวงได้ เพราะเราไม่สามารถฟันธงในบางสถานการณ์ได้นั่นเอง สำหรับสื่อใหม่เองที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน ในบางครั้งก็อาจจะมีข้อผิดพลาดอยู่บ้าง แต่ถ้าเกิดข้อผิดพลาดแล้วก็แก้ไขได้เสมอ

ในขณะที่ พีรพล อนุตรโสตถิ์ – ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ บมจ.อสมท กล่าวต่อถึงการทำงานของชัวร์ก่อนแชร์กับพื้นที่ว่า จริงๆ แล้วสื่อระดับพื้นที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการช่วยตรวจสอบข่าวลวงให้กับประชาชน และส่งผลทำให้ข่าวลวงในพื้นที่ลดลงอีกด้วย สิ่งที่เครือข่ายท้องถิ่นทำได้คือการตั้งเครือข่ายร่วมตรวจสอบข่าวลวงและหาประเด็นที่สำคัญๆ ในพื้นที่มาร่วมตรวจสอบข่าวลวง ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมาก แต่ในบางพื้นที่ก็จะมีความยากของการตรวจสอบข่าวลวงเพิ่มขึ้นไปอีก เช่น ที่ภาคใต้ที่จะมีประเด็นเรื่องภาษาที่แตกตจ่างกัน รวมไปถึงเรื่องของความมั่นคงเข้ามาเพิ่มอีกด้วย

สำหรับสิ่งสำคัญที่ทำให้การตรวจสอบข่าวลวงในพื้นที่เกิดขึ้นได้รวดเร็ว คือการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ เช่น การตรวจสอบรูปภาพต้นตอจาก Google Image และมีหลักการในการตรวจสอบข่าวลวงว่าประเด็นนี้ทำได้หรือไม่ได้ ซึ่งกระบวนการคือการหาว่าส่วนไหนคือข้อคิดเห็น ส่วนไหนเป็นข้อเท็จจริง แล้วมาหาเครื่องมือในการตรวจสอบ จนสามารถแน่ใจได้ว่าข้อมูลนี้จริงหรือไม่? และพีรพลยังย้ำเช่นเดียวกันว่าไม่ใช่ทุกประเด็นที่จะสามารถ Fact-Checking ได้เสมอไป นอกจากนี้พอได้ตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว การหาวิธีการนำเสนอข้อเท็จจริงที่ได้ตรวจสอบออกไปแล้วก็สำคัญ ซึ่งเป็นความสามารถเฉพาะพื้นที่เช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อให้ถึงกลุ่มเป้าหมายที่แต่ละพื้นที่ต้องการได้นั่นเอง

มาถึงเรื่องราวการทำงานในพื้นที่กันบ้าง โดยเริ่มต้นจาก กมล หอมกลิ่น – ตัวแทนศูนย์ Esan Cofact ได้แลกเปลี่ยนในการทำงานว่าในพื้นที่ภาคอีสานนั้นที่ผ่านมามีข่าวลวงมานานมาก และเชื่อมโยงกับความเชื่อต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดการยัดเยียดความรู้ที่ผิดๆ ออกไปและทำให้หาทางออกไม่ถูก ภาคอีสานเองจึงทำงานกับ 3 องค์กรภาคีเครือข่าย และ 7 สถาบันการศึกษา เพื่อเน้นทำงานสร้างการตระหนักรู้และรับมือ เพื่อตั้งประเด็นในการทำงานเชิงพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาในการจัดตั้งเครือข่ายก็ค้นพบว่าภาคอีสานเองมีการทำงานที่ซับซ้อนในรูปแบบเชิงประเด็น และมีความยากมาก บางคนนั้นที่แชร์ข่าวลวงก็เพียงเพราะความสนุกโดยขาดการคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ภาคอีสานจึงเน้นทำงานเชิงรับและหาประเด็นที่สามารถต่อยอดได้ แต่ในอนาคตก็จะเพิ่มการทำงานเชิงรุกมากขึ้น และเน้นการสร้างความจริงในพื้นที่ก่อนด้วย

ส่งท้ายด้วย รุสลีนา มูเล็ง – บรรณาธิการ Deep South Cofact ได้แปปลกเปลี่ยนมุมมองการทำงานของภาคใต้ว่า ในส่วนของภาคใต้เองเน้นการทำงานเชิงรุก โดยการตรวจสอบข่าวในพื้นที่แต่ละวันว่ามีประเด็นไหนที่ตรวจสอบได้บ้าง? เพื่อตรวจสอบและผลิตเนื้อหาลงช่องทางออนไลน์ต่อไป อีกส่วนคือนำเนื้อหามาลงทางเว็บไซต์ของ Cofact เพื่อสร้างการแลกเปลี่ยนและตระหนักรู้ให้กับสมาชิกเว็บไซต์ต่อไปด้วย ซึ่งก็ยอมรับว่าในหลายๆ ประเด็นก็มีความยากในการตรวจสอบเช่นกัน

และนี่เป็นเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น สำหรับใครที่สนใจประเด็นข่าวลวงต่างๆ สามารถร่วมฟังและชมการถ่ายทอดสดกิจกรรมสัมมนาไฮบริดเนื่องในวันตรวจสอบข่าวลวงโลก (International Fact Checking Day 2021) โดยปีนี้ทาง Cofact ร่วมมือกับ IFCN เครือข่าย​องค์กร​ตรวจสอบ​ข่าวสากล กองทุนสื่อเพื่อความยุติธรรมในสังคม​ และภาคีเครือข่ายกว่า 40 องค์กร​ไทยและนานาชาติ​ แลกเปลี่ยน​กันในประเด็น​ “ความท้าทายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกัน” ซึ่งส่องสื่อเป็นองค์กรภาคีเช่นกัน งานจะจัดขึ้นนัวนพรุ่งนี้ (2 เมษายน 2564) ตั้งแต่เวลา 9.00 น.เป็นต้นไป สามารถรับชมได้ผ่านทาง Facebook : Cofact – โคแฟค และ Facebook : ThaiPBSFan