fbpx

วันที่ 2 เมษายน ซึ่งทุกๆ ปีจะเป็นวัน International Fact-Checking Day เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นข่าวลวงและส่งเสริมให้เกิดการตรวจสอบ ซึ่งคนก่อตั้งคือ International Fact-Checking Network (IFCN) เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่สนับสนุนการทำงานในการตรวจสอบข่าวลวงในแต่ละประเทศอีกด้วย ภาคีโคแฟคจึงได้จัดงานวันตรวจสอบข่าวลวงในประเทศไทยขึ้น วันนี้ส่องสื่อจึงสรุปช่วงบ่ายที่สำคัญๆ มาให้ติดตามกันครับ

นำเสนอข้อค้นพบเชิงวิชาการในประเด็นข่าวลือข่าวลวงในโลกออนไลน์

ดร.อิสระ อนันตวราศิลป์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่ปรึกษาโครงการวิจัย Wisesight กล่าวว่า จากงานวิจัยชุดนี้ได้แบ่งการทำงานระหว่างสถาบันศึกษาและสื่อมวลชน และแบ่งการวิจัยเป็นสองส่วนคือตรวจสอบข้อความที่แชร์ว่าเพราะอะไรจึงแชร์ และอีกสัดส่วนคือการแชร์ข่าวลวงว่าเกิดจากอะไร? ในการวิจัยครั้งนี้ใช้เครื่องมือของ Wisesight สองส่วนคือ Spider และ Zocialeye โดยคัดเลือกจากข่าวที่น่าสนใจของสังคม และคัดข่าวที่สามารถวิจัยได้ว่าจริงหรือปลอม กรองเนื้อหาที่ต้องการ และจะตรวจว่าข่าวจริง ข่าวลวง หรืออยู่ระหว่างกลาง

โดยแบ่งสัดส่วนของข่าวตามช่วงที่ทำวิจัย ได้แก่ ข่าวการเมือง กรณีศึกษา และข่าวนโยบายสาธารณะ ซึ่งในทั้งสามหัวข้อหลักนี้มีทั้งข่าวที่สร้างความเข้าใจผิด กับอาจจะไม่ได้เกิดความเสียหายมากนัก โดยมีข้อความทั้งหมด 1,024 ข้อความที่เก็บได้แบ่งเป็นข่าวลวงจริงๆ 8 ข้อความ และโดยส่วนใหญ่เกิดจากผู้ใช้นำเสนอออกไปมากกว่าสื่อที่นำเสนอข่าว แต่สิ่งหนึ่งที่ค้นพบก็คือจากการทำวิจัยค้นพบว่าข่าวที่มีความดรามาจะมีการแชร์มากกว่า แต่ข่าวที่คิดว่าจะมีความไม่น่าเชื่อถือก็จะไม่ค่อยแชร์กัน ในขณะเดียวกันข่าวแต่ละหมวดหมู่ก็จะถูกเช็คข่าวลวงแตกต่างกันไป แต่ข่าวการเมืองมักจะถูกสื่อภาคพลเมืองเล่นมากกว่าสื่อมวลชน ทำให้เกิดช่องว่างในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร สำหรับในช่วงวิกฤตนั้น ข่าวลวงมีออกมาจำนวนมากกว่าที่เป็น และในบางครั้งก็มักจะเป็นคนใช้สื่อสังคมออนไลน์มากกว่า

ดร.จิรเวทย์ รักชาติ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การดำเนินโครงการนี้จัดทำเพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถ และพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ โดยใช้ประสบการณ์ส่วนตัวจากทักษะในการหาข้อมูลต่างๆ และต่อยอดไปยังข่าวลวง โดยเน้นทักษะของนักสื่อสารมวลชนในโลกยุคใหม่ที่คุยกันด้วยข้อมูล ในการทำโครงการมีการผนวกระหว่างวารสารศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์เชิงข้อมูลร่วมกัน โดยเริ่มต้นจากการเรียนรู้ข้อมูลว่าจะจับเก็บและเรียนรู้อย่างไร ต่อจากนั้นจะนำไปปรับใช้อย่างไรบ้าง? ทั้งหมดใช้เวลา 2 เดือนในการอบรม และใช้กระบวนการในการหาข้อมูล ดัดแปลงและทำให้น่าติดตามได้ นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือกับนักข่าวท้องถิ่นร่วมกัน และพัฒนาข้อมูลให้เป็น Data Visualization อีกด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา คณะวิทยาการสื่อสาร (วสส.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ที่ปรึกษาโครงการวิจัย Deep South COFACT กล่าวถึงการทำงานในภาคใต้ว่าเนื่องจากท้องถิ่นเป็นส่วนสำคัญในการตรวจสอบข่าวลวงต่างๆ ทำให้การทำงานในภาคใต้จึงเกิดขึ้น โดยในอดีตมีปัญหาที่เกิดขึ้นค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการตีตราต่อคนสามจังหวัดชายแดนใต้ ทางมหาวิทยาลัยฯ จึงได้เริ่มติดอาวุธแก่นักศึกษาในการรู้เท่าทันสื่อ รวมไปถึงเครือข่ายภาคีด้วย แต่เนื่องจากบริบททางการสื่อสารมีการเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ต้องมีการปรับไป โดยก่อนหน้านี้ได้มีการสำรวจก่อนการทำโครงการ และค้นพบว่าในพื้นที่มีการใช้มือถือสูงขึ้นเป็นอย่างมาก จึงทำการศึกษาในหลายกรณี และค้นพบว่าในบางกรณีมีทั้งการสร้างความเข้าใจผิดที่มุ่งร้าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายทหารและฝายที่ต่อต้านทหาร โดยมีเรื่องของภาษา ศาสนา กฎหมาย และชาติพันธุ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้ต้องเลือกประเด็นและกรองจากภาษาเพื่อเผยแพร่และหาต้นตอข่าวลวงด้วย

บทเรียนจากชุมชนโคแฟคในประเด็นการตรวจสอบข่าวลวง

คุณมะรูฟ เจะบือราเฮง ผู้อำนวยการ ดิจิทัลเพื่อสันติภาพและ โคแฟคชายแดนใต้ (Deep South COFACT) กล่าวว่า ในภาคใต้เน้นการทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหลัก โดยการเกินเครือข่ายเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2552 จากกรณีของการร่วมมือกันจัดตั้งปฏิญาณปัตตานี เพื่อสร้างการลงมือทำเพื่อลดการสื่อสารที่บิดเบือน เน้นสร้างการสื่อสารเพื่อสันติ และจึงเกิดเครือข่ายโคแฟคภาคใต้ โดยใช้การทำงานแบบเปิด โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม รวมถึงประชาชนและสื่อท้องถิ่นร่วมมือกันทำงานในการตรวจสอบข่าวลวง และเน้นการทำงานผสมผสานระหว่างสื่อเก่าและสื่อใหม่ เพื่อให้ถึงคนทุกกลุ่ม โดยพยายามสร้างวัฒนธรรมให้ทุกคนสามารถตั้งคำถามและทำงานต่อยอดได้

ในขณะที่ คุณกมล หอมกลิ่น ผู้ประสานงาน อีสานโคแฟค (Esan COFACT) กล่าวต่อว่า ในส่วนของภาคอีสานเองก็มีการทำงานจากหลักเดิมคือ คนทั่วไปในภูมิภาคไม่รู้จะอยู่ในส่วนของตรงไหน ระหว่างความจริงกับความเชื่อ ซึ่งทำให้เกิดเครือข่ายโคแฟคขึ้น เน้นการทำงานภายใต้แนวคิด “อีสานเรา กำหนดเอง” และเชื่อว่าความขัดแย้งมีอยู่ทุกที่ ทำให้เราต้องทำให้คอยขจัดความขัดแย้งผ่านการตรวจสอบข่าวลวง และเน้นการทำงานในลักษณะการกระจายเครือข่ายในแต่ละท้องที่ และใช้วิธีการร่วมมือกันในที่สุด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณภัทร เรืองนภากุล เครือข่ายผู้บริโภคสื่อภาคเหนือ กล่าวถึงการทำงานว่า ในส่วนของภาคเหนือเน้นการทำงานเป็นกลุ่มเป้าหมาย เช่น นักเรียน นักศึกษาก็จะใช้วิธีการพูดคุย บรรยาย หรือเครือข่ายผู้บริโภคสื่อก็จะเน้นในการอบรม สร้างความเข้าใจมากขึ้น โดยในทุกๆ กลุ่มจะเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการอบรมให้กับ Generation C ในการเรียนรู้โดยเยาวชน เพื่อเยาวชน และมีทีมโคแฟคเป็นพี่เลี้ยง นอกจากนี้ในการทำงานยังทำงานกับแรงงานข้ามชาติในการทำความเข้าใจไม่ให้หลงเชื่อข่าวลวงอีกด้วย

ปิดท้ายด้วย รศ.ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การบริโภคสื่อของผู้สูงวัยในอดีตนั้นจะเน้นบริโภคสื่อโทรทัศน์และสื่อดั้งเดิม เนื่องจากเขาเชื่อว่าการเสพสื่อเหล่านี้จะมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งส่งผลทำให้ไม่มีความรู้เท่าทันสื่อ ในส่วนของอาจารย์จึงทำโรงเรียนผู้สูงวัย เพื่อช่วยทำความเข้าใจเกี่ยวกับผู้สูงวัยให้มีความรู้เท่าทันสื่อ โดยต้องทำความเข้าใจผู้สูงวัยในการใช้สื่อ รวมไปถึงเน้นการพูดคุยเพื่อเปิดใจการเรียนรู้ต่อไป

ทุกท่านสามารถติดตามโคแฟคได้ทาง www.cofact.org หรือ Facebook : Cofact-โคแฟค