fbpx

2 เมษายน 2564 เป็นอีกหนึ่งปีที่ส่องสื่อ โคแฟค – COFACT Thailand และ 39 องค์กรภาคีเครือข่าย รวมไปถึงกองทุนสื่อเพื่อความยุติธรรมในสังคมได้ร่วมมือกันทำงานเพื่อป้องกันภัยจากข่าวลวงต่างๆ ให้เกิดขึ้นในระยะเวลา 1 ปี (2 เมษายน 2564-2565) ภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบาก อย่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างมากมายอีกด้วย ในขณะเดียวกันก็เป็นวันตรวจสอบข่าวลวงโลกอีกเช่นกัน

หลังจากนั้น ทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ส่องสื่อจึงเริ่มต้นค้นหาว่าเว็บไซต์สื่อในบ้านเรามีเว็บไซต์ไหนที่มีคอลัมน์เกี่ยวกับการตรวจสอบข่าวลวงบ้าง? แล้วก็ค้นพบเว็บไซต์ต่างๆ ดังต่อไปนี้ที่เราจะรายงานกัน ซึ่งแน่นอนว่าต้องยอมรับว่าค่อนข้างหายากเลยทีเดียว ในขณะเดียวกันคอลัมน์นี้บางครั้งก็ไม่ได้ทำงานต่อเนื่องเท่าไหร่ด้วย เรามาดูกันดีกว่าครับ

TNN Online – Fact Check

เริ่มต้นกันที่ TNN ฝั่งออนไลน์กันก่อน เจ้านี้มีคอลัมน์ที่ชื่อว่า “Fact Check” ที่จะเน้นข่าวลวงที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว รวมไปถึงข่าวประเภทที่สร้างความเข้าใจผิดอีกด้วย เน้นประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพและการเงินเป็นหลัก โดยจะมีอัพเดตข่าวเป็นระยะๆ และครั้งล่าสุดคือเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2564 ซึ่งได้ตรวจสอบข่าวเกี่ยวกับการให้วัคซีนที่โรงพยาบาลหนองจอกว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

Website: https://www.tnnthailand.com/news/tnnfactcheck/

ชัวร์ก่อนแชร์

อีกหนึ่งรายการที่มีคอลัมน์ออนไลน์ด้วยก็คือ “ชัวร์ก่อนแชร์” ซึ่งอยู่ภายใต้เว็บไซต์ของสำนักข่าวไทย ที่มีทั้งตัวบทความและรายการที่ออกอากาศในข่าวภาคค่ำของทุกวัน ยังไม่รวมกับอินโฟกราฟิกที่นำเสนอตลอดบนสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งมีทั้งข่าวที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ สังคมที่มีผลกระทบ และแน่นอนว่าเกี่ยวข้องกับสุขภาพด้วย ซึ่งหลักๆ จะเน้นตรวจสอบข่าวลวงกับข่าวที่แชร์ได้ แต่ต้องอธิบายเพิ่มด้วยนั่นเอง

Website: https://tna.mcot.net/category/sureandshare

SPRING Online – ข่าวจริงเช็กแล้ว

 อีกหนึ่งเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ที่เน้นการทำงานกับข่าวลวงถึงขนาดแยกหมวดหมู่ใหม่ออกมาเลยก็เห็นจะเป็นเว็บไซต์ของสปริงออนไลน์ ที่มีคอลัมน์ “ข่าวจริงเช็กแล้ว” และแน่นอนว่าจะมีการตรวจสอบข่าวทั้งเรื่องเทคโนโลยี สุขภาพ และนโยบายที่ส่งผลต่อสังคม โดยมีทั้งประเภทข่าวจริงและข่าวลวงที่ผ่านการตรวจสอบมาแล้ว โดยความถี่อยู่ที่ประมาณ 4-5 ข่าวต่อเดือนเช่นกับ TNN Online นั่นเอง

Website: https://www.springnews.co.th/category/truth

AFP Fact Check ประเทศไทย

และเว็บไซต์สำนักข่าวอีกหนึ่งเว็บไซต์ที่มีการตรวจสอบข่าวลวง ถึงขนาดตั้งกองบรรณาธิการแยก นั่นก็คือเว็บไซต์ของสำนักข่าว AFP ประจำประเทศไทยที่เน้นการตรวจสอบทั้งข่าวการเมืองในและต่างประเทศ ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวสังคม และอื่นๆ อีกด้วย โดยทีมกองบรรณาธิการได้มีการตรวจสอบข่าวลวงในประเทศไทย และแปลจากส่วนกลางอีกด้วย

Website: https://factcheckthailand.afp.com/

และนี่คือ 4 เว็บไซต์ที่มีคอลัมน์ตรวจสอบข่าวลวง โดยนอกเหนือจาก 4 เว็บไซต์นี้แล้ว ยังมีของ COFACT ที่เน้นประเด็นทางด้านสุขภาพ, Anti-Fake News ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่เน้นการทำงานตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวกับรัฐ รวมไปถึงสุขภาพอีกด้วย โดยท่านสามารถติดตามทั้งสองเว็บไซต์ได้ทาง COFACT – https://cofact.org และ Anti-Fake News – https://www.antifakenewscenter.com เพื่อตรวจสอบข่าวที่ได้มา ถ้าไม่แน่ใจอย่าเพิ่งแชร์ เช็กก่อนนะครับ