fbpx

หลายคนคงเคยที่จะติดตามรายการสนทนาเชิงข่าวและเหตุการณ์ปัจจุบัน หรือที่เราเรียกกันว่า News Talk กันอยู่แล้ว ซึ่งก็คือรายการที่เชิญแขกรับเชิญที่อยู่ในความสนใจ มาพูดคุยประเด็น ณ ขณะนั้นที่เป็นที่สนใจของสังคมโดยทั่วไป โดยรายการประเภทนี้จะมีหลากหลายรายการ เช่น โหนกระแส หรือคมชัดลึก เป็นต้น

แต่ทราบหรือไม่ว่าในอดีต จุดเริ่มต้นของรายการประเภทนี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2524 เมื่อสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ได้ผลิตรายการ “สนทนาปัญหาบ้านเมือง” ขึ้น เพื่อเป็นเวทีตรงกลางในการพูดคุยประเด็นที่เป็นที่สนใจของประชาชน ซึ่งหลังจากนั้นรายการประเภทนี้ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีหลายสถานีโทรทัศน์เริ่มทยอยผลิตบ้าง เช่น สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ที่มีรายการสนทนาข่าวยามเช้าอย่าง “เหตุบ้านการเมือง”, สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ก็มีรายการ “สนทนา 45 นาที” ส่วนสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยก็มีรายการในอดีตที่เป็นที่นิยมอย่าง “กรองสถานการณ์” หรือ “มองต่างมุม” เป็นต้น

แสงชัย สุนทรวัฒน์ – ภาพจาก คมชัดลึก

สำหรับสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 ในอดีต (ปัจจุบันคือช่อง 9 เอ็มคอต เอชดี) ในช่วงเวลานั้นที่มี “แสงชัย สุนทรวัฒน์” เป็นผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) เมื่อปี 2537 ก็ได้มีการปรับผังรายการหลังข่าว เปลี่ยนแปลงเป็นรายการสนทนาข่าวที่สดใหม่ เช่น เนชั่นนิวส์ทอล์ก, ขอคิดด้วยคน, ลานบ้านลานเมือง เป็นต้น ซึ่งหลายรายการได้รับความนิยมในขณะนั้น มิหน่ำซ้ำบางรายการก็ได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบันนี้อีกด้วย

แน่นอนว่ารายการประเภทสนทนาเชิงข่าว พิธีกรก็มีส่วนสำคัญในการเล่าประเด็นด้วยเช่นกัน โดยหลักๆ นั้น จะเป็นผู้ที่ทำงานด้านสื่อ เช่น นักข่าว ผู้ประกาศข่าว หรือบรรณาธิการข่าว ซึ่งมีทักษะทางด้านการทำงานข่าวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเช่น สุทธิชัย หยุ่น, สุภาพ คลี่ขจาย, ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล, สรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นต้น หรือแม้กระทั่งวิษณุ เครืองาม ก็ยังเคยออกรายการในฐานะนักวิชาการในขณะนั้นด้วยเช่นกัน

สุทธิชัย หยุ่น – ภาพจาก PPTVHD36

แต่แล้วในยุคที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ก้าวเข้ามาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รายการประเภทนี้ก็ลดลงไป โดยเฉพาะช่อง 9 ที่ตัดสินใจโละผังเก่าออกทั้งหมด หนึ่งในนั้นที่โดนคือรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ซึ่งเริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อปี 2546 โดยมีผู้ดำเนินรายการคือ สนธิ ลิ้มทองกุล และสโรชา พรอุดมศักดิ์ โดยแรกเริ่มได้ใช้ชื่อรายการว่า “เมืองไทยรายวัน” ออกอากาศเมื่อปี 2544 โดยในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์นั้นจะเน้นเนื้อหานำเสนอเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง โดยเฉพาะการวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลยุคทักษิณ ซึ่งหลังจากนั้นได้มีการสั่งให้ยุติการออกอากาศที่ช่อง 9 และ ดร.ทักษิณ ก็ได้ฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาท

รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ – ภาพจาก วิกิพีเดีย

หลังจากที่รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ยุติการออกอากาศที่ช่อง 9 ลง สนธิและสโรชาก็ได้จัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี (ปัจจุบันคือ NEWS1) เน้นการวิจารณืการทำงานของรัฐบาลทักษิณเช่นเคย และแน่นอนว่าในเวลาต่อมากลายเป็นกระบอกเสียงสำคัญให้กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการขับไล่รัฐบาลทักษิณนั่นเอง

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญจากการจัดรายการสนทนาข่าว คือกรณีศึกษาของรายการ “ตอบโจทย์ประเทศไทย” โดยสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่ขณะนั้นมีพิธีกรคือ ภิญโญ ไตยสุริยธรรมา ซึ่งในขณะนั้นรายการได้มีการหยิบยกเรื่องราวเกี่ยวกับ “สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” มาพูดคุยในช่วงระหว่างวันที่ 12-14, 18 มีนาคม 2556 ทั้งหมด 5 ตอน ส่งผลให้เกิดการวิจารณ์ในวงกว้าง และภิญโญต้องยุติการดำเนินรายการในที่สุด

รายการ “ตอบโจทย์ประเทศไทย” – ภาพจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

ในปัจจุบันนี้รายการสนทนาข่าวกลับมาเป็นที่สนใจเป็นระยะๆ จากในช่วงปีที่ผ่านมาที่ความเห็นทางการเมืองระหว่างวัยไม่ตรงกัน อีกทั้งประเด็นทางสังคมเป็นที่น่าสนใจในวงกว้างมากขึ้นจากการมีสื่อสังคมออนไลน์ เช่น โหนกระแส หรือถามตรงๆ (ที่ล่าสุดได้ยุติรายการไปแล้ว) ซึ่งแน่นอนว่ารายการประเภทนี้ต้องขึ้นอยู่กับเสรีภาพของสื่อในขณะนั้น ความเป็นที่สนใจของสังคม และความสนใจของผู้ชม รายการสนทนาข่าวจึงจะอยู่รอดนั่นเอง

อ้างอิง –หนังสือ “จดหมายเหตุ 60 ปี โทรทัศน์ไทย” : วิวัฒนาการกิจการโทรทัศน์ไทย