fbpx

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2565 หลักสูตรผู้บริหารยุทธศาสตร์การสื่อสารมวลชนระดับสูง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บยสส.) รุ่นที่ 2 ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดงานสัมมนาสาธารณะในหัวข้อ “คอนเทนต์คุณภาพกับโอกาสเติบโตในสมรภูมิเรตติ้ง” ณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยในงานสัมมนามีการนำเสนอผลงานของผู้ที่เข้าเรียนหลักสูตร บยสส. รุ่นที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นผลิตแพลตฟอร์มร่วมระหว่าง TV และ OTT, การผลิตสื่อในรูปแบบ Subscription, การสร้างแอพพลิเคชันในการตรวจสอบข่าว เป็นต้น แต่ในช่วงสำคัญคือการร่วมถกเถียงวงคุยในหัวข้อเดียวกับงาน โดยได้คนสื่อ นักวิชาการ และตัวแทนผู้บริโภคมาร่วมถกถามกัน

วัชร วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจ บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด กล่าวว่า สื่อยังคงติดกับดักเรื่องของเรตติ้งอยู่ แต่เราก็ต้องหาจังหวะและโอกาสในการเสริมคุณค่าให้กับประชาชน ซึ่งปัญหาสำคัญของการเกิดสื่อหิวเรตติ้งอยู่ที่การได้มาซึ่งใบอนุญาตที่มาจากการประมูล ทำให้ราคาใบอนุญาตสูงมาก และทำให้กลายเป็นช่องที่เน้นการโฆษณาเป็นหลัก เพราะทุกคนต้องแข่งขันเพื่อหาเงินมาจ่ายค่าประมูล แล้วยิ่งทุกวันนี้เราต้องแข่งขันกับจออื่นๆ ทุกวันนี้เรายังต้องแข่งกับออนไลน์ด้วยเช่นกัน รวมถึงการวัดเรตติ้งคุณภาพก็มีคำถามว่าเราวัดคุณภาพแบบไหน? คุณภาพของใคร ซึ่งทางไทยรัฐทีวีก็ยินดีที่จะพัฒนาคอนเทนต์คุณภาพเช่นกัน

รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สื่อโทรทัศน์ไทยตอนนี้ถูกแบ่งเป็น 2 ขา คือขาโทรทัศน์ดั้งเดิม ซึ่งเป็นส่วนที่มีรายได้มากที่สุดมากกว่าร้อยละ 60 แต่ส่วนของ OTT เป็นส่วนที่เกิดจากการลงคอนเทนต์ซ้ำจากทีวี ซึ่งเริ่มเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ปัจจุบันพบว่าโครงสร้างการดำเนินธุรกิจมีมากกว่าหนึ่งช่องทาง สิ่งที่โทรทัศน์ไทยจะวางจุดยืนก็ต้องมาดูว่าควรทำอย่างไร แต่สื่อไม่ได้เหมือนสินค้าทั่วไป สื่อเป็นสินค้าที่กระทบวิธีคิดของคน ฉะนั้นหลายครั้งสื่อต้องเป็นตะเกียงให้กับสังคมด้วย แต่หลายครั้งสังคมก็เป็นตะเกียงเคาะสื่อ ซึ่งมันเป็นไปในทางกลับกัน ฉะนั้นสื่อที่ดีคือสื่อที่สร้างสังคมและไม่เป็นภาระ

เราจะเห็นว่านิเวศสื่อในบ้านเราค่อนข้างครบถ้วนมากๆ ซึ่งไทยพีบีเอสเน้นการเป็นยาขมแต่มอบสังคมด้วยคอนเทนต์ดี เป็นต้น ในหลายๆ ครั้งเราต้องสร้างจุดสมดุลของการกระหายเรตติ้งกับการให้คุณค่ากับสังคม ซึ่งในหลายๆ เหตุการณ์นั้นก็สะท้อนถึงคุณภาพของจรรยาบรรณ และจรรยาบรรณก็คือการมี Common Sense หรือมีจิตสำนึกในการทำงาน เช่น ในกรณีการกราดยิง เราไม่ควรสร้างเนื้อหาที่เป็นภัยต่อเหยื่อ หรือให้ผู้กระทำกลายเป็นฮีโร่ แม้กระทั่งการถ่ายทอดสดก็ต้องโดนแบนในแพลตฟอร์มเช่นกัน

สิ่งสำคัญในตอนนี้คือ กสทช. พยายามลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเรื่อย ๆ จนถึงจุดที่ลดไม่ได้แล้ว ส่วนต่อมาคือผังรายการโทรทัศน์กับส่วนของ OTT ว่าจะควบคุมและกำกับดูแลอย่างไร เป็นโจทย์ที่ยากมาก ซึ่งนิเวศสื่อบ้านเราติดกระดุมผิดเม็ดกันตั้งแต่แรก ไทยพีบีเอสควรจะเป็นการจ่ายค่าธรรมเนียมของประชาชนมาผลิตผลงาน หรือการประมูลโทรทัศน์ก็มีราคาที่สูงเกินจากความเป็นจริงไปมาก กลับมาที่ OTT เราจะไปอย่างไร? อย่างแรกคือการลดต้นทุน และการสร้างความแตกต่างในการผลิตข่าว ไม่ใช่มาแข่งในน่านน้ำเดียวกัน ข่าวทุกวันนี้ไม่ได้ทำให้ทุกคนดูได้ แล้วสุดท้ายก็กลับมาถามว่าเพราะทีวีผลักเราไปดู OTT มากกว่าหรือเปล่า? ต่อมาคือหา Business Model ใหม่ รวมไปถึงระบบการวัดเรตติ้งที่แต่ละช่องยังต้องจ่ายค่าวัดเรตติ้งให้กับเจ้าเดียวอยู่หรือเปล่า? ต้องทำให้ต้นทุนต่ำที่สุด และสุดท้ายคือการหาช่องทางโปรโมทให้ผู้ประกอบการไปสู่ต่างประเทศได้

สารี อ๋องสมหวัง – เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวต่อว่า คนดูต้องการคุณภาพในการเสพสื่อ แต่คนทำสื่อต้องการเรตติ้ง ฉะนั้นสื่อต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงก่อน สื่อสามารถสร้างความรู้ไปพร้อมกับความสนุกและมีคุณภาพได้ สื่อต้องมีจุดยืนเรื่องนี้ ไม่ใช่ช่วงก่อนหวยจะออกมาทำข่าวเชิงความเชื่อ เชิงตัวเลข ไม่งั้นสื่อจะตกหลุมพรางเรตติ้งเพราะวนแต่ข้อมูลแบบนี้ สื่อต้องไม่มีมายาคติเรื่องคอนเทนต์คุณภาพ อย่าไปโทษผู้บริโภคว่าเสพคอนเทนต์ไม่มีคุณภาพ เราต้องทำให้คนดูยอมจ่ายด้วยคอนเทนต์คุณภาพให้ได้ในราคาที่คุ้มค่า