fbpx

อีกไม่กี่วันหลังจากบทความนี้ออกมา ก็จะถึงช่วงของเทศกาลที่ทุกคนรอคอยอย่างการแข่งขันฟุตบอลโลก ซึ่งก็ยังดูวุ่นวาย ๆ อยู่พอสมควร เพราะพี่ไทยของเราก็ดันมีปัญหากับเรื่องของค่าลิขสิทธิ์อยู่

ดร.ก้องศักดิ์ ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ก็เพิ่งออกมายอมรับเองว่าเมื่อเอเย่นต์ทราบถึงกฎ Must Have ของ กสทช. นั้นก็เรียกราคามาค่อนข้างสูงพอสมควร แถมพอ กสทช. ต้องการจะออกเงินซื้อ ก็ดันมีปัญหา เพราะดันมีข่าวว่าจะใช้เงินของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) มาซื้อลิขสิทธิ์ ทั้ง ๆ ที่คนไทยก็ไม่ได้สนใจฟุตบอลทุกคน แถมไทยก็ไม่ได้เข้ารอบสุดท้ายด้วย ซึ่งก็ทำให้คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการด้านสื่อต้องออกแถลงการณ์มาคัดค้านกันไปแล้ว

ส่วน กสทช. ก็มีท่าทีว่าจะมีการพูดคุยถึงการคลายล็อกกฎ Must Have อีกครั้งหลังจบฟุตบอลโลกปีนี้ ส่องสื่อเราเลยต้องมาย้อนความถึงเรื่องวุ่น ๆ ของอาร์เอส ที่ทำอาร์เอสเข็ดไปอีกนานกันสักหน่อย

เมื่อปี พ.ศ. 2549 สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ (หรือที่เรา ๆ รู้จักกันในนาม “เฮียฮ้อ”) ซึ่งในขณะนั้นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการได้กล่าวไว้ในข่าวแจ้งสื่อมวลชนว่า 

บริษัทได้ร่วมทุนกับกลุ่มนายวรวุฒิ โรจนพานิช ผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในธุรกิจกีฬาและคร่ำหวอดอยู่ในวงการกีฬามากว่า 30 ปี จัดตั้งบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเม้นท์ หรือ RSbs เพื่อดำเนินงานบริหารจัดการธุรกิจทางด้านกีฬาทุกประเภทแบบครบวงจร ภายใต้คอนเซ็ปต์ Know the Games”

ในข่าวนั้นได้พูดถึงโครงการใหญ่ของ RSbs อย่างการแข่งขันฟุตบอลโลกว่า “สำหรับโครงการสำคัญของ RSbs ได้แก่ การได้รับลิขสิทธิ์บริหารจัดการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ( World Cup ) ในทุกสื่อจำนวน 2 สมัย คือ ในปี 2010 และปี 2014 ซึ่งการได้ลิขสิทธิ์บริหารจัดการในครั้งนี้ แตกต่างจากในอดีต ที่เคยได้ลิขสิทธิ์บริหารจัดการถ่ายทอดสดเวิล์ดคัพทั้ง 2 สมัยที่ผ่านมา เช่น สามารถจัดกิจกรรมโปรโมทเวิล์ดคัพตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป อาทิ ร่วมกับสปอนเซอร์จัดกิจกรรมนำเยาวชนเยี่ยมชมสนามแข่งขัน ฯลฯ”

ก็ให้ลองคิดเล่น ๆ เลยนะครับว่าอาร์เอสซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกทั้งปี ค.ศ. 2010 และ 2014 ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2548 ตั้งแต่ก่อนที่ค่าย “กามิกาเซ่” จะปล่อยผลงานแรกออกมาเสียอีก!? ซึ่งในช่วงเดียวกันนั้นเอง อาร์เอสก็ได้ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดกีฬาอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก 

ฟุตบอลโลกครั้งแรกของอาร์เอสหนะไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ แต่ครั้งที่สองของเขาเนี่ยสิ น่าอนาถใจยิ่งกว่า และความบันเทิงเริ่มขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อนที่ฟุตบอลโลก 2014 จะเปิดฉาก เมื่อ กสทช. ออกกฎที่เรียกว่า Must Have เกิดขึ้นมาในปี พ.ศ. 2555

Must Have คือข้อกำหนดสำหรับการถ่ายทอดสดกีฬา 7 รายการ อันประกอบไปด้วย 

  1. ซีเกมส์ 
  2. อาเซียนพาราเกมส์
  3. เอเชียนเกมส์
  4. เอเชียนพาราเกมส์
  5. โอลิมปิก
  6. พาราลิมปิก
  7. ฟุตบอลโลก 

ทั้ง 7 รายการนี้จะต้องออกอากาศใน “บริการของใบอนุญาตกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่” เท่านั้น ซึ่ง กสทช. รับประกันว่าจะสามารถชมรายการ 7 รายการ ผ่านบริการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และไม่มีคำใช้จ่ายเพิ่มเติม

เกือบ 2 ปีถัดมา อาร์เอสก็มีความมั่นใจเพิ่มขึ้น จากข่าวแจ้งสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2557 ว่า

“หลังจากที่เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 31 มีนาคม 2557 ที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ศาลปกครองกลางโดยที่ประชุมใหญ่มีมติให้เพิกถอนประกาศสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เกี่ยวกับหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 หรือที่เรียกว่ากฎมัสต์ แฮฟ (Must Have) ข้อ 3 ลำดับที่  7 การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final) เพราะเป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่มีผลกระทบต่อบุคคลผู้ทรงสิทธิโดยชอบ ที่มีอยู่ก่อนประกาศออกใช้บังคับ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ประกาศดังกล่าวใช้บังคับ เนื่องด้วยเป็นเหตุให้บริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเม้นท์ จำกัด ในเครือบมจ.อาร์เอส ในฐานะผู้ครอบครองสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 หรือผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย”

ในตอนนั้นอาร์เอสก็ยืนยันแบบหนักแน่นว่าจะถ่ายทอดสดให้รับชมผ่านฟรีทีวีเพียง 22 คู่เท่านั้น (ซึ่งตรงนี้ฟีฟ่าคิดมาให้แล้ว) ส่วนอีก 42 คู่ หากต้องการจะรับชม จะต้องรับชมผ่าน “กล่องบอลโลก” ซึ่งสนนราคาอยู่ที่ 1,590 บาท หรือหากท่านมีกล่อง Sunbox อยู่แล้ว เพียงแค่ซื้อแพ็กเกจในราคา 299 บาทก็สามารถรับชมได้ครบทุกคู่เช่นกัน หรือถ้าอยากรับชมในความคมชัดแบบ HD ก็สามารถรับชมได้ผ่านกล่องพีเอสไปรุ่น O2 HD หรือถ้าเป็นลูกค้าของทรูวิชั่นส์ก็สามารถรับชมได้เช่นกัน แน่นอนว่ากล่องบอลโลกสร้างรายได้ให้กับอาร์เอสอยู่พอสมควร เพราะสามารถทำยอดขายได้ถึงราว ๆ 300,000 กล่อง!

ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถ่ายทอดสดในวันที่ 11 มิถุนายนปีเดียวกัน ศาลปกครองสูงสุดได้มีการพิพากษาตัดสินให้ “อาร์เอส” เป็น “ผู้ชนะคดี” โดยมีมติไม่ให้บังคับใช้ ประกาศของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกี่ยวกับหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 หรือกฎมัสต์ แฮฟ (Must Have) ข้อ 3 ลำดับที่ 7 การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย

แต่สุดท้ายก็ฝันสลาย เมื่อ กสทช. ประสานงานมายังอาร์เอสแบบฟ้าผ่า ช็อตฟีลอาร์เอสไปอีก เมื่อ กสทช. ต้องการให้ถ่ายฟุตบอลโลกสดครบทุกคู่! โดยพร้อมให้เงินสนับสนุนเพื่อชดเชยค่าเสียหาย และค่าเสียโอกาสทางธุรกิจกว่า 427 ล้านบาท ซึ่งอาร์เอสมองว่ายังไม่เพียงพอ แต่ก็ยินดีให้ความร่วมมือ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ในขณะนั้น กล่าวกับผู้จัดการออนไลน์ว่า “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งการให้ กสทช. หาแนวทางนำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) มาจ่ายชดเชยให้กับอาร์เอส เพื่อให้สามารถถ่ายทอดฟุตบอลโลกผ่านฟรีทีวีให้ประชาชนได้รับชมได้ทุกช่อง”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ที่ได้หารือกับ กสทช. และบริษัท อาร์เอส ในการคืนความสุขให้คนไทยทั้งประเทศ โดยเติมเต็มการแข่งขันฟุตบอลโลกคู่ที่ไม่ได้ถ่ายทอดสดทางช่อง 7 และช่อง 8 อาร์เอส ให้มาถ่ายทอดผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5

เวลาผ่านไปจนถึงวันที่ 25 สิงหาคมอาร์เอสก็ได้ส่งหนังสือถึง พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในขณะนั้นอีกครั้ง หลังจากที่เคยส่งครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้พิจารณาเร่งรัดการชำระเงินสนับสนุนการถ่ายทอดสดเกมการแข่งขันฯ ที่เหลืออีกจำนวน 308,890,000 บาท

ในวันที่ 11 กันยายนปีนั้น พรพรรณ เตชะรุ่งชัยกุล ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของอาร์เอส ได้กล่าวว่า “ถ้าจะบอกว่าไม่มีใครจะรู้ซึ้งกับปัญหาของประกาศมัสต์แฮฟเท่ากับอาร์เอสก็คงไม่ผิด มาวันนี้ กสทช. ซึ่งเป็นผู้ออกประกาศฉบับนี้ก็จะได้ตระหนักด้วยตนเอง ที่ผ่านมาเราไม่เคยเห็นด้วยกับประกาศมัสต์แฮฟ แต่เมื่อท่านประกาศมาบังคับใช้แล้ว เราก็ยอมรับมันตอนที่ฟ้องศาลปกครองก็แค่ฟ้องว่าไม่ควรบังคับใช้ย้อนหลัง ดังนั้น ในฐานะผู้ออกกฎและบังคับใช้ วันนี้ กสทช. จะได้เข้าใจว่าแก่นของปัญหาของประกาศมัสต์แฮฟมันคืออะไร”

เมื่อไม่นานมานี้ พรพรรณ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการ กรรมการบริหาร ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง เลขานุการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ของอาร์เอสได้ทวิตข้อความถึงเรื่องนี้ว่า “ในอนาคตเวลา regulator จะออกกฎ ต้องคิดให้รอบคอบ ไม่ใช่กะจะได้หน้าแล้วไม่ดูว่ามันจะสร้างปัญหาอะไรในอนาคตให้กับประชาชนและประเทศชาติ วันนั้นเราก็บอกแล้วว่าอย่าเอาบอลโลกเข้า must have”

“42 ล้านน่ะค่าสิทธิอย่างเดียว ไม่รวมค่าผลิตและส่งสัญญาณ ถ้าไปดูสำนวนที่เราฟ้อง กสทช ในปี2014 เราก็อธิบายชัดว่า ทางฟีฟ่าเค้าคิดมาให้แล้วว่าที่กำหนดให้ดูฟรี 22 คู่ รวมเปิด ปิด รองชนะเลิศ เราจะมาหาเรื่องบังคับให้ดูฟรี64คู่เพื่ออะไร”

“ก่อนหน้านี้ Laostar โทรมาหา ถามว่าคุณกุ้งซื้อสิทธิบอลโลกมั๊ย อยากขอให้เจรจาเผื่อลาวให้ด้วย บอกเค้าไปว่าไม่น่ามีใครซื้อ เพราะมันอยู่ใน must have มาถึงวันนี้เราอาจจะต้องไปเกาะสัญญาณเค้าดู โห ประเทศไทย เรามาไกลมาก น่าสงสารจริงๆ”

ฟุตบอลโลกปีนี้อาจจะเป็นบทเรียนให้กับผู้มีอำนาจว่ากฎที่ออกมานั้นอาจดูเหมือนเป็นผลดี แต่อาจเป็นผลเสียมากกว่าในระยะยาว และก็คงเป็นบทเรียนว่าทำไมอาร์เอสถึงเลือกที่จะไม่ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกอีกเลย…

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/general/news-1109849
https://www.isranews.org/article/isranews-news/113443-TTTYYY.html
https://www.matichon.co.th/wc2022/news_3653532
https://mgronline.com/daily/detail/9570000065696
https://www.pptvhd36.com/sport/news/184162
https://positioningmag.com/57829
นักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท อาร์เอส จำกัด(มหาชน)
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)