fbpx

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและเกาหลีใต้ ร่วมกันจัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “Korean Media Landscape and the Opportunities for Thai-Korean Co-production…ภูมิทัศน์สื่อเกาหลี และโอกาสในการร่วมผลิตเนื้อหาไทย-เกาหลี” ซึ่งส่องสื่อได้นำเนื้อหาบางช่วงมาสรุปประเด็นให้ทุกท่านได้อ่านกัน โดยในบทความนี้เป็นการสรุปถึงที่มาที่ไปของการกำเนิด K-Culture ที่โด่งดังไปในระดับโลก จนถึงการขยายและต่อยอดในระดับโลกอีกด้วย โดยได้เกียรติจาก Michael Jung MD, CJ ENM HK / Co-CEO, True CJ Creations มาแลกเปลี่ยนในครั้งนี้

การกำเนิดของ K-Culture ที่ทำให้โด่งดังไปจนถึงระดับโลก

ในช่วงปีค.ศ. 1990 เป็นต้นมา วงการบันเทิงของเกาหลีใต้เริ่มมีการพัฒนามากขึ้น จากการประยุกต์แนวทางการผลิตคอนเทนต์ โดยเฉพาะวงการเพลงที่เริ่มสร้างสรรค์สินค้าที่มีกระบวนการ มีสูตรการผลิตที่ชัดเจนมากขึ้น เช่น มีผู้แต่งเพลงโดยเฉพาะ การสร้างแฟนคลับ มีกระบวนการคัดเลือกศิลปินและฝึกฝนพัฒนาเพื่อต่อยอดผลงานไปอีก ซึ่งทำให้สามารถสร้างแรงกระเพื่อมเป็นอย่างมากในวงการเพลง โดยมีแกนนำอย่าง SM Entertainment

ในขณะที่วงการโทรทัศน์นั้น ก็มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่มีแค่ KBS ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ของรัฐ ในปี 1990 SBS ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์เอกชนเข้ามารับใบอนุญาตโทรทัศน์ภาคพื้นดิน และยังถือกำเนิดยุคแห่งวงการเคเบิลทีวี โดยเฉพาะการกำเนิดช่อง Mnet ที่เป็นช่องเพลงของเกาหลีใต้ เกิดขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับโทรทัศน์เคเบิลช่องเพลงของต่างประเทศ จนชนะในที่สุด

ในวงการภาพยนตร์เอง ด้วยความที่เกาหลีมีศักยภาพผู้กำกับและทีมงานที่มีคุณภาพ ซึ่งทีมผู้กำกับภาพยนตร์ก็ได้สร้าง Busan Film Festival ขึ้นมา เพื่อเป็นเวทีกลางในการพัฒนาวงการภาพยนตร์ให้ดียิ่งขึ้นและมีพื้นที่ให้ปล่อยของด้วยเช่นกัน

แล้วรัฐบาลสนับสนุนอย่างไรบ้าง?

ฝั่งของรัฐบาลนั้นสนับสนุนออกมาเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนของการพัฒนา K-Content, การพัฒนาการผลิต K-Film และการยกเลิกกฎระเบียบที่เป็นการบังคับคนผลิตคอนเทนต์ โดยให้ไปเน้นกฎกติกาที่ส่งเสริมคอนเทนต์เกาหลีเป็นส่วนใหญ่แทน เช่น การให้พื้นที่รายการหรือภายนตร์เกาหลีใต้บนพื้นที่ฉาย (ทีวีหรือโรงภายนตร์) และปรับกฎจากการเซนเซอร์ก่อนฉาย เป็นการเตือนหากมีการร้องเรียนหลังฉายแทน ทำให้คนเกาหลีใต้มีโอกาสพัฒนาเนื้อหาแทน

นอกเหนือจากนี้ ยังมีการสร้าง Academic หรือโรงเรียนสำหรับสร้างผู้ผลิตคุณภาพ โดยสามารถเลือกช่องทางการพัฒนาตนเองและความสนใจของตนเองได้ เพื่อทำให้กระจายบุคลากรไปได้ดีขึ้นด้วย หลังจากนั้นในยุค 2000 รัฐบาลเกาหลีใต้ก็ได้ส่งเสริมและผลักดันให้บริษัทเกาหลีใต้ โดยเฉพาะบริษัทเพลงให้ส่งออกคอนเทนต์ไปยังต่างประเทศได้มากขึ้น

ในส่วนของละครและภาพยนตร์เกาหลีนั้น ผู้ผลิตใช้แนวคิดว่าไม่ได้เน้นผลิตแค่ขายในเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเท่านั้น แต่คิดถึงความต้องการในระดับโลกด้วยว่าเขาต้องการคอนเทนต์แนวไหน เพื่อที่จะหาแนวทางการผลิตต่อไปให้ขยายกว้างและขายได้มากกว่าแค่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเท่านั้น ซึ่งทำให้แนวทางการผลิตเนื้อหาแตกต่างมากขึ้น โดยสิทธิ์การนำเสนอไอเดียจะอยู่ที่ Producer ไปให้ Director ช่วยพัฒนาอีกทางหนึ่ง เพื่อที่ให้คอนเทนต์ที่นำเสนอออกมามีความแตกต่างมากขึ้น และนอกเหนือจากนี้ยังสร้าง Partner ในการจัดจำหน่ายคอนเทนต์ของเกาหลีในแต่ละประเทศ เพื่อส่งออกคอนเทนต์ให้ได้ตรงความต้องการของแต่ละพื้นที่ที่ได้จัดจำหน่ายอีกด้วย

แล้วอนาคตของ K-Entertainment จะเป็นอย่างไร?

สำหรับวงการเพลงนั้น ในอนาคตจะเน้นการ M&A ข้ามชาติมากขึ้น และใช้คัมภีร์วิธีการพัฒนาศิลปินของเกาหลีใต้ไปใช้กับตลาดเพลงในต่างประเทศ รวมถึงการส่งเสริมและจับมือกับบริษัทไอทีในการต่อยอดคอนเทนต์ไปอยู่ใน Metaverse มากขึ้น หรือกระจายเนื้อหาไปสู่รูปแบบอื่นๆ เช่นเดียวกับวงการละครและภาพยนตร์ที่จะเน้นใช้สูตรการผลิตคอนเทนต์ไปยังต่างประเทศ จับมือกับ Local Producer ในการพัฒนาเนื้อหาให้ออกมาดูแตกต่าง นอกจากนี้จะเน้นบุกไปตลาดสหรัฐอเมริกา เพื่อต่อยอดเนื้อหาให้ออกเป็นหลากหลายช่องทางและทำให้คอนเทนต์เกาหลีใต้เป็นที่รู้จักมากที่สุด