fbpx

พฤติกรรมการดูทีวีของคนไทยในปี 2562

จากโครงการสำรวจพฤติกรรมและแนวโน้มการบริโภคสื่อภาพเคลื่อนไหวของไทย ปี 2562 จัดทำโดยสำนักนโยบายและวิชาการ กระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช. ร่วมกับสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนิน การสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 10,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ  โดยแบ่งพื้นที่เป็น 5 ภูมิภาคตามเกณฑ์ของสำนักงาน สถิติแห่งชาติ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคใต้ ซึ่งมีพื้นที่จังหวัดที่เป็นตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้จำนวน 26 จังหวัด

จากการสำรวจจะแบ่งกลุ่มคนออกเป็น 5 กลุ่ม คือ

เริ่มด้วย กลุ่มเจเนอเรชัน แซด เป็นกลุ่มที่ายุน้อยกว่า 23 ปี ต่อมา กลุ่มเจเนอเรชัน วาย อยู่ในช่วงอายุ 24-41 ปี  กลุ่มเจเนอเรชัน เอกซ์ ช่วงอายุ 42-56 ปี กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ ช่วงอายุ 57-75 ปี และกลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มเจเนอเรชัน จี.ไอ. อยู่ในช่วงอายุ 76 ปีขึ้นไป

พฤติกรรมการรับชมโทรทัศน์ตามช่วงอายุนั้น จากผลการวิจัย พบว่า กลุ่มเจเนอเรชัน เอกซ์ มีการรับชมรายการโทรทัศน์ทั้งรายการปกติและผ่านอินเทอร์เน็ต สูงที่สุด 90.5% ส่วนอีก 2 กลุ่มอายุ คือ กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ และกลุ่มเจเนอเรชัน จี.ไอ. มีการรับชมสูงรองลงมา คือ 89.1% และ 88.6% ตามลำดับ ส่วนกลุ่มเจเนอเรชัน วาย อยู่ที่ 86% และต่ำที่สุดคือ กลุ่มเจเนอเรชัน แซด 78.9%

แต่ละกลุ่มดูอะไรกันบ้าง

กลุ่มเจเนอเรชัน จี.ไอ. กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ กลุ่มเจเนอเรชัน เอกซ์ และกลุ่มเจเนอเรชัน วาย นิยมรับชม โดยรายการโทรทัศน์ประเภทรายการข่าวได้รับความนิยมมากที่สุด ตามมาด้วยรายการละคร/ ซีรีส์ รายการวาไรตี้ ส่วนกลุ่มเจเนอเรชัน แซด นิยมรายการโทรทัศน์ประเภทรายการละคร/ซีรีส์ มากที่สุด 16.8% รองลงมาคือ รายการวาไรตี้ 16.3% และรายการภาพยนตร์ 15.5%

อุปกรณ์และสถานที่ที่ผู้ชมใช้รับชม

อุปกรณ์หลัก คือ เครื่องรับโทรทัศน์ดิจิตอล 33.6% โทรศัพท์เคลื่อนที่ 27.2% เครื่องรับโทรทัศน์แอนะล็อก 20.1% สมาร์ททีวี 11.1% ที่เหลือเป็นการรับชมผ่านทางคอมพิวเตอร์ทั้งตั้งโต๊ะ และคอมพิวเตอร์พกพา (โน๊ตบุ๊ก) รวมกัน 8%

สถานที่รับชมนั้น ส่วนใหญ่เป็นการรับชมจากที่พัก 93.6% ที่เหลือเป็นการรับชมจากที่ทำงาน 4.9% รับชมระหว่างเดินทาง 1.2% และสถานที่อื่นๆ 0.3%

ช่วงนาทีทองของโทรทัศน์

ระยะเวลาโดยเฉลี่ย คือ ผู้ชมส่วนใหญ่ใช้เวลามากกว่า 2-4 ชั่วโมง ต่อวัน เป็นมีมากถึง 36.9% รองลงมาคือ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน 32.6% ในขณะ ที่กลุ่มที่ใช้เวลามากกว่า 4-6 ชั่วโมงต่อวันมี 15.6% กลุ่มที่เหลืออื่นๆ ใช้เวลามากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน และน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวันมีเพียงแค่  7.9% และ 7.0% ตามลำดับ

และเวลาที่ผู้ชมส่วนใหญ่รับชมคือ 18.01-22.00 น. มีมากถึง 70.9% จากทั้งหมด เรียกได้ว่าเป็นช่วงนาทีทองของโทรทีศน์เลยก็ว่าได้ เนื่องจากช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาหลังเลิกงาน และเป็นเวลาว่าง ในขณะที่ช่วงเวลาอื่นมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ได้แก่ ช่วง 10.01-14.00 น. และ 22.01-02.00 น. มี 7.8% เท่ากัน และช่วงเวลาที่น้อยที่สุดคือ 02.01-06.00 น. มีเพียงแค่ 0.3% เท่านั้น

มูลค่าตลาดโฆษณาที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง

มูลค่าโฆษณาดิจิตอลในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (2557-2562) โดยรวมแล้วมีทิศทางที่ลดลง เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ในปี 2558 มีมูลค่ามากถึง 78 หมื่นล้านบาท และค่อยๆลดลงเรื่อยๆ จนในปี 2561 เหลือเพียงแค่ 6.7 หมื่นล้านบาท แต่ในทางกลับกันมูลค่าโฆษณาของช่องโทรทัศน์กลุ่มใหม่ๆเติบโตในตลาดโฆษณาอย่างต่อเนื่อง จากเดิมมีเพียงแค่ 12.69% ของรายได้ทั้งหมด แต่ในปี 2561 เติบโตถึง 43.29% และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

โดยมูลค่าตลาดโฆษณาที่ประมาณการจากทุกช่องของโทรทัศน์ภาคพื้นดิน จัดทำโดย นีล เส็น ได้แบ่งมูลค่าตลาดโฆษณาออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มช่องเดิม  คือ ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 และ NBT และกลุ่มทีวีดิจิตอลช่องใหม่ทั้งหมด พบว่า รายได้ของกลุ่มช่องเดิม มีสัดส่วนลดลงทุกปี จากปี 2557 มีสัดส่วน 87.31% หรือ มูลค่า 63,776.30 ล้านบาท ในขณะที่ช่องใหม่มีเพียง 12.69% หรือ 9,265.77 ล้านบาท แต่ในปี 2561 มูลค่าตลาดช่องเดิมลดลงเหลือเพียง 56.71% หรือ 38,529.86 ล้านบาท แต่กลุ่มช่องใหม่เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 43.29% หรือ 29,417.35 ล้านบาท เรียกได้ว่าช่องใหม่ๆ เริ่มเขามามีครอบครองตลาดมากขึ้น

หากจัดมูลค่าโฆษณาของช่องตามประเภทใบอนุญาตของ กสทช. ในช่องหมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD)  หมวกหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) ช่องหมวดหมู่ข่าวสารและสาระ ช่องหมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว และช่องทีวีสาธารณะ

พบว่า มูลค่าโฆษณาของกลุ่ม HD ยังคงสูงสุด ซึ่งประกอบด้วย 2 ช่องใหญ่ คือ ช่อง 7HD และช่อง 3HD และอีก 5 ช่องคือ ช่อง 9 MCOT HD ช่องไทยรัฐทีวี ช่อง One ช่อง AMARIN TV และช่อง PPTV โดย ช่อง 7HD ช่อง 3HD ช่อง One และช่องไทยรัฐทีวี มีการเติบโตเพิ่มขึ้นพร้อมกับเรตติ้งเฉลี่ยก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ ในช่วง 2557-2561 ตลาดไม่ได้ลดลงมากนักจากปี 2557 มีสัดส่วน 73.32% ของมูลค่ารวมหรือ 53,551.89 ล้านบาท และค่อยๆลดลงอยู่ที่ 62.06% หรือ 42,170.34 ล้านบาท ในปี 2561

ในขณะที่กลุ่มช่อง SD จำนวน 7 ช่อง ประกอบด้วย ช่องเวิร์คพอยท์ทีวี ช่อง  True4U ช่อง GMM25 ช่อง SPRING 26 ช่อง 8 ช่อง 3SD และช่อง Mono 29 เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าของตลาดโฆษณาสูงที่สุด จากเดิมในปี 2557 มีเพียง 6.21% ของมูลค่ารวมหรือ 4,536.83 ล้านบาท และค่อยๆเติบโตขึ้นเรื่อยๆจนในปี 2561 มีมูลค่า 26.56% หรือ 18,045.28 ล้านบาท ของมูลค่ารวมทั้งหมด

กลุ่มช่องข่าวสารและสาระ ในปี มีทั้งหมด 7 ช่อง คือ ช่อง TNN ช่องไทยทีวี ช่อง NEW 18 ช่องสปริงนิวส์ ช่อง Bright TV และช่อง Nation TV มีมูลค่าเป็นสัดส่วน 3.31% หรือคิดเป็น 2,420.53 ล้านบาท ในปีถัดมาเหลือเพียงแค่ 6 ช่อง เนื่องจาก ช่องไทยทีวีได้หยุดกิจการไป และมูลค่าตลาดค่อยๆ ลดลงเหลือเพียง 3.82% หรือ 2,592.38 ล้านบาท ในปี 2561ของมูลค่ารวม

ในกลุ่มช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว ในปี 2557 มีทั้งหมด 3 ช่อง คือ ช่อง 3Family ช่อง MCOT Family และช่อง LOCA ของกลุ่มไทยทีวี และในปี 2558 ช่อง LOCA ได้หยุดการออกอากาศไป จึงเหลือเพียง 2 ช่อง และมูลค่าโฆษณายังคงทรงตัว ไม่เติบโตมากนัก

ส่วนกลุ่มช่องหน่วยงานภาครัฐ มีทั้งหมด 4 ช่อง ได้แก่ ช่อง 5 ช่องไทยพีบีเอส และช่องรัฐสภา แต่ช่องที่สามารถโฆษณาได้มีเพียง 2 ช่อง ได้แก่ ช่อง 5 และช่อง NBT ซึ่งจากข้อมูลในปี 2557 มูลค่าโฆษณารมกันได้ 11,995.25 ล้านบาท รายได้ส่วนใหญ่มาจากช่อง 5 ที่มีผู้ผลิต รายการจำนวนมากมีการเชาออกอากาศ แต่ตั้งแต่ปี 2558 ช่อง 5 ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิตอล จึงได้ถอดรายการตัวเองออกจากช่อง 5 แล้วมาออกอากาศที่ช่องดิจิตอลแทน ทำให้มูลค่าโฆษณาลดลงมาก และส่งผลกระทบของช่องภาครัฐโดยรวม จนในปี 2561 มีมูลค่าโฆษณาประมาณ 4,515.43 ล้านบาท เรียกได้ว่าลดลงกว่าร้อยละ 50 จากปี 2557

มูลค่าโฆษณาดิจิตอลในแต่ละเดือนของปี 2562

ในเดือน กุมภาพันธ์ มีมูลค่ามากกว่าเดือนมกราคม ที่มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 4,667 ล้านบาท แสดงว่าโฆษณาเริ่มเข้ามามากขึ้นหลังจากช่วงเทศกาลวันหยุด กลุ่มช่อง HD รายได้ส่วนใหญ่ยังอยู่ที่ช่องหลักคือช่อง 7 และช่อง 3

ในเดือน มีนาคม เป็นช่วงที่แต่ละช่องเริ่มจัดคอนเทนต์ลงผัง ทั้งนี้ประมาณการรายได้ทั้งหมดนี้ยังเป็นราคาที่ยังไม่รวมส่วนลดและของแถม ช่อง 7 และช่อง 3 ยังคงเป็นช่องหลักที่ทำรายได้มากที่สุด คิดเป็น 41% ของรายได้รวมทั้งหมด แม้ว่าช่องใหม่ๆเริ่มมีการกระจายรายได้บ้างแล้ว ซึ่งเรตติ้งมีส่วนสัมพันธ์กับช่องเช่นกัน เรตติ้งอันดับ 1-2 ยังคงทิ้งห่างกับคู่แข่งพอสมควร เรตติ้งเฉลี่ยของช่อง7 อยู่ที่ 1.943 ส่วนช่อง 3 อยู่ที่ 1.321

เดือนเมษายน เป็นเดือนที่มีเทศกาลวันหยุดยาว ซึ่งจะเป็นช่วงที่เม็ดเงินโฆษณาน้อยที่สุดช่วงหนึ่งของปี ลดลงจากเดือน มีนาคม ที่ผ่านมา เมื่อแยกข้อมูลตามช่องของ กสทช. พบว่า กลุ่มที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม HD และ SD วาไรตี้ ซึ่งกลุ่มที่เหลือกลุ่มมช่องข่าว ช่องเด็ก และช่องสาธารณะของรัฐ มีมูลค่าลดลง

เดือนพฤษภาคม เมื่อแยกมูลค่าตามช่องของ กสทช. พบว่า มูลค่าโฆษณารวมของ 7 ช่องในหมวดหมู่ช่อง SD เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าโฆษณาสูงขึ้นเพียงกลุ่มเดียวในขณะที่กลุ่มช่อง HD ช่องข่าว ช่องเด็ก และช่องสาธารณะล้วนแต่มีมูลค่าลดลง

เดือนมิถุนายน เป็นเดือนที่วงการดิจิทัลเหนื่อยหนักมาก เนื่องจากมีการชลอตัวของการใช้เงินของภาคธุรกิจทำให้ประมาณการมูลค่าโฆษณาเดือนนี้เป็นเดือนที่ยากลำบากทั้งวงการ แม้แต่กระทั่งช่อง 7 ที่ต้องเข้ามาจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย เพื่อช่วยดึงเม็ดเงินโฆษณากันด้วย และเมื่อแยกมูลค่าตามช่องของ กสทช. พบว่า  มูลค่าโฆษณารวมของ 7 ช่องในหมวดหมู่ช่อง HD เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าโฆษณาสูงขึ้นเพียงกลุ่มเดียวในขณะที่กลุ่มช่อง SD ช่องข่าว ช่องเด็ก และช่องสาธารณะล้วนแต่มีมูลค่าลดลง

ต่อมาในเดือน กรกฎาคม จากเดิมในเดือนมิถุนายนมีทั้งหมด 24 ช่องทีวีดิจิทัลไม่รวมช่องไทยพีบีเอส และช่องทัวัรัฐสถา แต่ในเดือนนี้มีจำนวนช่องทีวีดิจิทัลที่มีโฆษณาได้เพียง 22 ช่อง เนื่องจากช่องสปริงนิวส์และวอยซ์ทีวีออกจากระบบการวัดเรตติ้ง และการเก็บข้อมูลมูลค่าโฆษณาตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นมา แต่มูลค่าโฆษณารวมก็ยังมีการเพิ่มจากเดือนที่แล้วจากเดิม 5,927.76 ล้านบาทเป็น 5,982.81 ล้านบาท และเมื่อแยกมูลค่าตามช่องของ กสทช. พบว่า กลุ่มช่องข่าวที่มีการออกจากระบบการเก็บข้อมูลมีมูลค่าลดลงจาก 203.43 ล้านบาท เหลือเพียง 158.11 ล้านบาท

และในเดือนสิงหาคมมีเรื่องที่น่าเศร้า เนื่องจากมีการคืนใบอนุญาตทั้งหมด 4 ช่อง ได้แก่ ช่อง สปริง26 สปริงนิวส์ และไบร์ททีวี ที่ยุติการออกอากาศในวันที่ 15 สิงหาคม และวอยซ์ทีวี ออกจากระบบทีวีดิจิทัลในวันที่ 31 สิงหาคม และ จากช่องสปริงนิวส์และวอยซ์ทีวีออกจากระบบการวัดเรตติ้งของนีลเส็นตั้งแต่เดือนกรดฎาคมที่ผ่านมา ตอนนี้การวัดโฆษณากลุ่มข่าวเกลือเพียงแค่ 3 ช่องเท่านั้นคือ ช่องเนชั่นทีวี ทีเอ็นเอ็น และนิวทีวี ในเดือนนี้กลุ่มช่อง HD มีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากยังไม่มีช่องในขอเลิกใบอนุญาตและเป็นช่วงที่มีการเปิดฤดูการฟุลบอลพรีเมียร์ลีก ที่พีพีทีวีซื้อลิขสิทธิ์เพื่อออกอากาศ ส่วนช่อง 9 มีการปรับปรุงผังและดึงรายการถ่ายทอดสดมวยไทย ที่ย้ายมาจากช่องสปริง 29 มาลงผังช่อง 9 แทน

ต่อมาในเดือนกันยายนเป็นเดือนที่น่าเศร้าอีกเช่นกันเนื่องจากเป็นเดือนสุดท้ายที่มี สถานีโทรทัศน์ช่องเด็ก เนื่องจากการประกาศปิดตัวของช่อง 3Family พร้องกับ 3SD เมื่อทั้ง 2 ช่องนี้มีการประกาศปิดตัวเม็กเงินก็ได้ถูกโยกไปช่องอื่นหรือสื่ออื่นแทน เม็ดเงินก้อนโตยังคงกระจายอยู่ในช่องหลัก แม้ว่าช่องน้อย ๆ หลายช่องจะทุ่มเติมคอนเทนต์มากมาย

ในเดือนตุลาคม เป็นเดือนแรกที่ไม่มีกลุ่มช่องเด็กในทีวีดิจิทัล และมีผู้ประกอบกิจการทั้งหมด 19 ช่อง แต่มีการหารายได้จากค่าโฆษณาเพียง 18 ช่องอย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในเดือนตุลาคมไม่ค่อยดีนักเนื่องจากการประสบปัญหาธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เป็นเดือนที่ยากลำบากเดือนนึงก็ว่าได้ แต่ถึงแม้ว่าจะยากลำบากแต่ในมูลค่าโดยรวมก็ยังเพิ่มขึ้นมากเดือนที่แล้วจาก 5,603.03 ล้านบาท เพิ่มเป็น 6,055.64 ล้านบาท

และในเดือนก่อนสุดท้ายของปีคือเดือนพฤศจิกายน มูลค่าโฆษณารวมยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเดือนนี้เพิ่มเป็น 6,293.00 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วเกือบ 3 พันล้านบาท

ทั้งนี้มูลค่าโฆษณาทั้งหมดเป็นการประเมินมูลค่าจากราคาขายเต็มของแต่ละช่อง ไม่ได้รวมส่วนลดและโปรโมชั่นของแต่ละช่องแต่อย่างใด

ตอนนี้ทีวีเหลือกี่ช่อง

หลังจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2562 เรื่องมาตรการการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ที่เปิดทางให้คืนใบอนุญาต ให้บริการได้ และได้เงิยเยียวยา เมื่ออุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลไม่เป็นไปอย่างที่คาด โดยเปิดให้ยื่นหนังสือแสดงความจำนงกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ภายใน 10 พ.ค. 2562

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า  มีผู้ขอคืนใบอนุญาตทีวีดิจทัล ทั้งหมด 7 ช่อง ได้แก่  ไบร์ททีวี 20  วอยซ์ทีวี21  MCOT family ช่อง 13 Family ช่อง 28 “3SD”  ช่องสปริงนิวส์ 19 และ สปริง26 ของกลุ่มเนชั่นฯ

โดยคณะอนุกรรมการเยียวยาคืนเงินให้ทีวีดิจิทัลที่คืนใบอนุญาต ได้พิจารณาทยอยคืนเงินแล้ว คือ ช่อง 19 สปริงนิวส์ วงเงิน 500 ล้านบาท, ช่อง 26 สปริง วงเงิน 675 ล้านบาท, ช่อง 20 ไบรท์ทีวี วงเงิน 371 ล้านบาท, ช่อง 21 วอยซ์ ทีวี วงเงิน 378.45 ล้านบาท และ ช่อง 14 อสมท.แฟมิลี่ 163.29 ล้านบาท

ส่วนช่อง 13 แฟมิลี่ และช่อง 28 เอสดี นั้น ทางบริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด ได้ส่งรายละเอียดพร้อมจำนวนเงินคืนมาด้วย ช่อง 13 แฟมิลี่ ขอคืนวงเงิน 162.54 ล้านบาท ช่อง 28 เอสดี ขอคืน 680.08 ล้านบาท รวมทั้งหมดแล้วคิดเป็นเงิน 2,932 ล้านบาท ที่ กสทช. ต้องคืนเงินให้กับทีวีดิจิทัล 7 ช่อง

สำหรับการยุติการออกอากาศในวันที่ 16 สิงหาคม 2562 มีการยุติโดย 3 ช่อง คือ ช่อง 19 สปริงนิวส์ ช่อง 26 สปริง และ ช่อง 20 ไบรท์ 1 กันยายน 2562 จะมีช่อง 21 วอยซ์ทีวีที่ยุติการออกอากาศ ในเดือนเดียวกันวันที่ 16 กันยายน 2562 ช่องที่ยุติการออกอากาศคือ  ช่อง 14 อสมท. สุดท้ายในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 คือการยุติของช่องช่อง 13 ช่อง 28 เป็นต้นไป

เมื่อรวมกันช่อง LOCA และ Thai TV  ที่มีการยุติการออกอากาศไปตั้งแต่ปี 2558 แล้ว ทีวีดิจิตอลประเภทธุรกิจในประเทศไทยจากเมื่อ 5 ปีที่แล้ว มีทั้งหมด 24 ช่องที่ได้มีการประมูลใบอนุญาตกันไปตั้งแต่ปี 2556 จะเหลือเพียง 15 ช่องทั้งนี้ ช่องเด็กจากเดิมที่มี 3 ช่อง จะไม่มีการออกอากาศแล้ว ช่องข่าวที่เคยมี 7 ช่องจะเหลือเพียง 3 ช่อง และช่อง SD จากเดิมมี 7 ช่อง จะเหลือเพียง 5 ช่อง  แต่ช่อง HD ยังคงเหลือ 7 ช่องเช่นเดิม

เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการเว็บไซต์ส่องสื่อ : songsue.co


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
เว็บไซต์ TV Digital Watch
หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
สำนักข่าว Workpoint News
เว็บไซต์ไทยรัฐ ออนไลน์