fbpx

ปีนี้ยังเป็นอีกปีที่สื่อสารมวลชนไทยมีปัญหาร้อยแปดด้าน ทั้งเรื่องของเสรีภาพของสื่อมวลชนเองที่ถูกริดรอนเสรีภาพจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งในปีนี้ดูไม่คึกคักเท่าที่เคย ทั้งๆที่ควรจะเป็นปีที่แต่ละพรรค แต่ละสื่อควรจะนำเสนอและสร้างสีสันให้กับสังคมได้เป็นอย่างดี รวมถึงเรื่องของเทคโนโลยีที่ถูกสื่อใหม่เข้ามาแย่งพื้นที่การนำเสนอข่าวสาร ทำให้ต้องปรับตัวกันค่อนข้างมาก ทีวีดิจิทัลก็ขาดทุนอย่างมหาศาล นักข่าวต่างก็ต้องตกงานกันเป็นอย่างมาก

ปีนี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงรายงานสถานการณ์สื่อตลอดปี 2561 ผ่านทางเว็บไซต์ www.tja.or.th โดยยกให้ปีนี้เป็นปีแห่ง “ซึมแทรก ซึมทรุด” กันเลยทีเดียว โดยทางสมาคมฯ ได้ยก 4 สถานการณ์ที่น่าสนใจตลอดทั้งปี 2561 มาสรุปให้ฟังคร่าวๆ ประกอบไปด้วยเหตุการณ์ดังนี้

เสรีภาพถูกริดรอน

ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการไปแล้ว และหนึ่งในรัฐธรรมนูญก็มีการรองรับสิทธิในการแสดงความคิดเห็น การพูด การพิมพ์ไว้ ในมาตรา 34 และมาตรา 35 บัญญัติไว้ ให้บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ แต่ทว่าก็ยังคงมีคำสั่ง คสช. ที่ยังไม่ปลดล็อกให้สื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้อย่างอิสระเสรี ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งประชาชนควรจะได้รับสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารอย่างเต็มที่เพื่อประกอบการตัดสินใจในช่วงเลือกตั้งก็ตาม แม้ว่าองค์กรสื่อจะร่วมกันรณรงค์ เรียกร้องและออกแถลงการณ์มาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา แต่การยกเลิกประกาศคสช.และคำสั่งหัวหน้าคสช.ก็ไม่เป็นผล

โดยคำสั่งทั้ง 4 ฉบับของ คสช. ที่มีผลต่อสิทธิ เสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร ประกอบไปด้วยคำสั่งแและประกาศ ดังนี้

  1. ประกาศ คสช.ฉบับที่ 97/2557 เรื่อง การขอความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคสช.และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ
  2. ประกาศคสช.ที่ 103 /2557 แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคสช.ฉบับที่ 97 /2557 โดยห้ามวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของคสช.โดยเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคสช.ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ
  3. คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 (ข้อ 5) ให้อำนาจเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจออกคำสั่งห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด
  4. คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 41/2559 เรื่อง การกำกับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ โดยมีเจตนาในการขยายอำนาจ ตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ครอบคลุมไปถึงประกาศของคสช. ฉบับที่ 97/2557 และฉบับที่ 103/2557 รวมทั้งคุ้มครองการใช้อำนาจของ กสทช.

กฎหมายริดรอนสิทธิก็กำลังพิจารณา

ถ้าพูดถึง คสช. ไม่พูดถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก็คงไม่ได้ เพราะหนึ่งในหมวดที่ต้องจัดทำเลยก็คือแผนปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งก็มีการผลักดัน “พระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน. พ.ศ….” แน่นอนว่างานนี้องค์กรวิชาชีพสื่อเองก็ได้ออกมาคัดค้านกันพอสมควร แต่ทว่าสุดท้ายรัฐบาลก็ได้มีมติเห็นชอบในหลักการไปเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีข้อสังเกตบางประการ และคณะรัฐมนตรีได้ส่งให้คณะกรรมการกฤษฏีกาพิจารณาก่อนเสนอกลับคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง

ถึงแม้ว่าท้ายที่สุดแล้วร่างฉบับนี้จะนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติชุดนี้ไม่ทัน แต่สมาคมฯ และองค์กรวิชาชีพสื่อต่างๆก็ยังคงต้องการยึดหลักสากลมาใช้ นั่นก็คือ “การกำกับดูแลกันเอง” อีกทั้งจะต้องไม่มีตัวแทนฝ่ายรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง

นอกจากร่างฉบับนี้ ยังมีพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ที่ผ่านความเห็นชอบจากครม.แล้วเช่นกัน แต่หลายประเด็นอาจจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ รวมไปถึงกฏหมายอื่นๆที่ต้องติดตามต่อไปว่าจะริดรอนหรือกระทบต่อเสรีภาพของสื่อและประชาชนมากน้อยแค่ไหน?

ธุรกิจสื่อยังได้รับผลกระทบหนัก

ปีนี้ถือเป็นปีที่สื่อหลักทุกชนิดต่างต้องพบเจอสถานการณ์ที่ย่ำแย่พอๆ กัน ทั้งทางฝั่งวิทยุเอง ฝั่งโทรทัศน์ ฝั่งหนังสือพิมพ์ หรือแม้กระทั่งนิตยสารก็ตาม ทุกอย่างล้วนต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลาตามผู้ชมที่ปรับเปลี่ยนเสมอ

หนังสือ – นิตยสาร ปิดแผงกันระนาว

เริ่มต้นกันตั้งแต่ต้นปี ด้วย “เชียงใหม่นิวส์” ที่อำลาแผงหนังสือพิมพ์ไปเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา ปรับการนำเสนอเป็นออนไลน์เต็มตัว ต่อด้วย “นิตยสารสตาร์พิคส์” ที่ประกาศอำลาแผงในเดือนเมษายน โดยพิมพ์เป็นเล่มสุดท้ายในเดือนนั้น หลังจากนั้นเป็นตาของ “นิตยสาร Secret” เครืออมรินทร์ที่ประกาศยุติการพิมพ์ในเดือนมิถุนายน และ “Student Weekly” ที่ยุติการพิมพ์ในเดือนกันยายน นอกจากนั้นยังมี “เนชั่นสุดสัปดาห์” และ “สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์” ที่ยุติการพิมพ์ไปด้วยเช่นกัน

แต่ก็ยังมีหนังสืออีกหลายหัวที่ปรับตัวเองเช่นกัน ทั้ง “แพรว” ที่ปรับจากรายปักษ์เป็นรายเดือนอย่างเป็นทางการ และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่ประกาศโครงการสมัครใจลาออกในช่วงสิ้นปี เพื่อปรับโครงสร้างด้วยเช่นกัน

สื่อทีวี มีทั้งโดนซื้อ – ลดโครงสร้างองค์กร

ปีนี้เป็นปีแห่งการลดโครงสร้างองค์กร ทั้งการเข้ามาซื้อสปริงนิวส์อย่างเต็มตัวจาก “ทีวีไดเรค” และปรับช่องเป็นโฮมช็อปปิ้งอย่างเต็มตัว เลิกจ้างพนักงาน 80 คน และโยกรายการของเครือสปริงนิวส์ไปออกอากาศทางช่องเนชั่นและนาว นอกจากนั้นช่อง “นิว 18” ก็ปรับโครงสร้างองค์กรโดยการลดพนักงานร้อยละ 30 ฟากช่อง 3 เองก็ยอมเปิดโครงการเกษียนอายุให้แก่พนักงานที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป แม้กระทั่งรอยเตอร์เองก็มีแผนปรับลดพนักงาน 3,200 ตำแหน่ง ปิดสำนักงาน 133 แห่งทั่วโลก ภายใน 2 ปีข้างหน้า ตามแผนปรับโครงสร้างบริษัท ส่งท้ายปลายปีด้วยการยุติการออกอากาศ “Money Channel” สื่อในเครือตลาดหลักทรัพย์ฯ และเน้นออนไลน์แทน

บทเรียนถ้ำหลวง

ต้องบอกว่านี่เป็นปรากฎการณ์ที่ทั่วโลกต้องจดจำ กับการทำข่าวของสื่อจากทั่วทุกมุมโลก ปักหลักนับพันชีวิตและตลอด 17 วันในภารกิจช่วย 13 ชีวิตทีมหมูป่าอะคาเดมี่ ติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย พบกับบทเรียนต่างๆมากมาย ทั้งข้อจำกัดในการทำข่าว เงื่อนไข และเวลาที่ต้องแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงเรตติ้ง นำมาซึ่งคำชื่นชม ตำหนิ และบทเรียนให้กับสื่อมวลชนนำกลับไปเป็นการบ้านเพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพต่อไป

และนี่คือทั้งหมดของรายงานสถานการณ์สื่อในปี 2561 ต้องจับตากันต่อไป ทั้งสถานการณ์ธุรกิจสื่อที่ยังคงมีความแข่งขันสูง ทั้งในแง่ของสื่อเองและคอนเทนต์ที่หลากหลายขึ้น รวมไปถึงการปลดล็อกสิทธิเสรีภาพของสื่อว่าจะเกิดขึ้นก่อนเลือกตั้งหรือไม่? ติดตามได้ที่นี่ ที่ส่องสื่อนะครับ

อ้างอิงและบทความส่วนหนึ่งจาก
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
อ่านเต็มได้ที่นี่ >> รายงานสถานการณ์สื่อปี 2561 <<