fbpx

หลายบทความที่ผ่านมา ส่องสื่อให้ความสำคัญกับกระแสการเข้ามาของ AI เป็นพิเศษ เรื่องหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือมันเป็นเทรนด์สากลในยุคนี้ แต่เรื่องที่สองที่ในวินาทีนี้ทุกคนควรตระหนักถึง นั่นคือการเข้ามามีบทบาทในชีวิตผู้คน จนอาจถลำลึกเข้ามาแย่งหน้าที่การงานของมนุษย์ได้เลย

วงการสื่อมวลชนก็เป็นหนึ่งพื้นที่ที่ถูกสึนามิลูกเล็กลูกใหญ่หลายลูกประเดประดังเข้ามาหาพนักงานในสายอาชีพหลากหลายแขนงตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา กล้องรุ่นเก่าตายไป รุ่นใหม่มาแทน เทคโนโลยีออกอากาศสดแบบเดิมเปลี่ยนไปให้ง่ายขึ้น จนถึงคลื่นใต้น้ำที่ค่อย ๆ ก่อตัวโถมเข้าชายฝั่งนี้อย่าง AI ที่สามารถรับบทบาทหลายหน้าที่ใน Job Description

อย่างไรเสีย นี่เพิ่งเป็นจุดเริ่มต้น คนอย่างเรายังสามารถปรับตัว และวิ่งหนีคลื่นลูกใหญ่นี้ได้ทันเวลา เช่นเดียวกับ Speakers ใน Panel Session ‘AI กับอนาคตสื่อไทย’ บนเวที Thai PBS World Forum: ‘AI and the Future of Newsroom’ AI และอนาคตของห้องข่าว ที่ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้านมองเห็นคล้ายคลึงกัน ทั้ง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช., คุณสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง COFACT, ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณระวี ตะวันธรงค์ Board Advisor ‘The Modernist’ – ‘ส่องสื่อ’ และ รองศาสตราจารย์ ดร.มนวิภา วงรุจิระ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

จากซ้ายไปขวา – คุณเทพชัย หย่อง / รองศาสตราจารย์ ดร.มนวิภา วงรุจิระ / คุณระวี ตะวันธรงค์ / ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม / คุณสุภิญญา กลางณรงค์ / ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต – ภาพจาก Thai PBS

คุณเทพชัย หย่อง ผู้ดำเนินการเสวนา ได้ลองถาม ChatGPT และ Google Bard ในคำถามเดียวกันว่า “AI จะมาแทนที่นักข่าวได้หรือไม่” น่าสนใจที่คำตอบของทั้งสอง AI คล้ายกัน นั่นคือการมองว่า AI มีสิทธิ์จะแทนที่รายละเอียดงานของนักข่าวได้พอสมควร ทั้งการตรวจสอบข้อมูล สร้างเนื้อหา และจัดการงานซ้ำซากทั้งหลาย แต่งานที่ต้องพึ่งพาวิธีคิดของมนุษย์ ทั้งทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ หรือความเห็นอกเห็นใจ นักข่าวจะยังคงเป็นหมากตัวหลักของรายละเอียดงานประเภทนี้

คุณพิรงรองมองอย่างน่าสนใจว่าการสร้างสรรค์เนื้อหาของสื่อมวลชนยุคนี้ ไม่ได้เป็นเพียงการบอกเล่าเรื่องราว หรือสร้างความบันเทิงอีกต่อไป แต่ยังเป็นการกำหนดทิศทางของอนาคตสังคมได้อีกด้วย จากการเลือกส่งต่อเรื่องราวใด ๆ ก็ตาม

อีกทั้งการที่ Generative AI เกิดขึ้นในยุคสมัยที่ข่าวสารบ้านเราเต็มไปด้วยข่าวดรามา หรือข่าวที่เต็มไปด้วยเนื้อหาที่เล่นกับจิตใจคนดู ให้รู้สึกตื่นเต้น เสียใจ ดีใจ โกรธ หรืออะไรก็ตาม หาก AI ในช่วงเริ่มเรียนรู้รับรู้สิ่งนี้ว่าคือบรรทัดฐานของข่าวยุคปัจจุบัน หากเกิดนำมาใช้จริง เนื้อหาที่ได้จากการสรุปของ AI จะเป็นอย่างไร

ทางคุณมนวิภา ได้ทำการวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจัง จากการรวบรวมข้อมูลสื่อมวลชน 16-17 สื่อ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ และสื่อโทรทัศน์ เมื่อช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ว่ามีห้องข่าวในสื่อมวลชนใดบ้างในไทยที่ใช้ ChatGPT เป็นตัวช่วย พบว่ามีส่วนน้อยที่จะใช้ ChatGPT และส่วนใหญ่ยังใช้เพื่อสร้างสรรค์เนื้อหาในเชิงทดลองเล่น มากกว่าจะใช้งานอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม ยังมีคำตอบจากบุคลากรในสื่อมวลชนจากการวิจัยครั้งนี้กล่าวว่า ChatGPT ยังเป็นตัวช่วยที่ดี ในการช่วยจุดชนวนบางอย่างในการทำงานบางส่วน เช่น ให้ไอเดียที่ดีได้ รวบรวมข้อมูลได้ แต่ก็ใช้เป็นส่วนรองมากกว่า เป็นต้น

จุดที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งในการใช้งาน ChatGPT หรือ Generative AI อื่น ๆ เลยคือ การที่มันไม่ได้ให้เนื้อหาที่ถูกต้องตามหลักความเป็นจริงทั้งหมด บางครั้งเราใส่คำถามที่เราก็รู้ในคำตอบอยู่แล้ว และรู้ว่าชุดคำตอบของมันยังไม่ได้ให้คำตอบที่ถูกต้องอย่างที่เรารู้ ลองนึกว่าหากเราป้อนคำถามที่เราไม่รู้ลงไป แล้วเราเชื่อในคำตอบทั้งหมดของ ChatGPT จะเกิดอะไรขึ้น

ด้านคุณสกุลศรีกางแผนผังรายละเอียดการสร้างสรรค์เนื้อหาข่าวอย่างละเอียด ซึ่งรวบรวมมาจากรูปแบบที่ห้องข่าวหลายประเทศทดลองใช้งาน AI ในห้องข่าวจริง ๆ

จากขั้นตอนการทำงานที่ไล่เรียงตามลำดับทั้ง News Gathering (การรวบรวมข้อมูล), Production (การผลิตเนื้อหา), Distribution (การเผยแพร่เนื้อหา) และ Business & Value Creation (การสร้างธุรกิจและสร้างมูลค่า)

จะเห็นว่าในแถบสีเหลือง คือตำแหน่งหน้าที่ในเนื้องานที่ Generative AI สามารถทำได้เรียบร้อยแล้ว หากเอามาเทียบกับแถบสีฟ้า ซึ่งยังเป็นบทบาทที่ AI ทดแทนมนุษย์ไม่ได้ พบว่าแย่งตำแหน่งหน้าที่ไปแล้วเกินกว่าครึ่งเลยทีเดียว หากแต่ในช่วงเริ่มต้นนี้ AI ก็ยังคงถูกนำมาใช้จริงในตำแหน่งหน้าที่เหล่านี้เพียงส่วนน้อยอยู่ดี

มุมมองของคุณสกุลศรีที่เป็นอาจารย์สอนนักศึกษา มองว่าหากอาจารย์สายสื่อสารมวลชน สอนนักศึกษาใช้ AI Production ให้เป็นด้วยในยุคนี้จะเป็นการดี ประกอบกับการสอนให้พวกเขารู้ว่า หลังจากได้สารใด ๆ จากการ Generate ของ AI เรียบร้อยแล้ว พวกเขาในฐานะมนุษย์จำเป็นต้องเพิ่มเติม Value ให้เนื้อหาเหล่านั้นต่อไปได้ด้วย ผ่านความคิดสร้างสรรค์ซึ่งยังเป็นจุดแข็งของมนุษย์อยู่เสมอมา

ฝั่งคุณระวีที่ยังเป็นหนึ่งในสื่อมวลชน และยังคลุกคลีกับผู้คนในวงการสื่อมวลชนมองว่า ไม่ว่าจะอย่างไร Generative AI มาแน่ และไม่ได้มาช้าขนาด iPhone 2 ถึง iPhone 15 แต่มาเร็วแบบพายุไซโคลน จนทำให้สิ่งที่ผู้คนที่ยังตรากตรำทำงานในวงการสื่อกังวลมากที่สุด คือการรีดไขมันของต้นสังกัด ผ่านการลดพนักงานลงเพื่อลดต้นทุนของบริษัท หากเกิดการแทนที่ได้จริงในอนาคต

คุณสุภิญญามองว่าทศวรรษ 2020-2029 ยังเป็นช่วงที่มนุษย์จะค่อย ๆ เติบโตไปพร้อมกับ AI แรงเฉื่อยของการเรียนรู้ทั้งสองฝ่ายจะยังคงเป็นเส้นขนานแบบนี้ แต่เมื่อถึงทศวรรษหน้าเป็นต้นไป เพื่อนร่วมงานของเราจะกลายเป็น AI มากขึ้น จนถึงทศวรรษถัดไป มนุษย์ก็อาจจะใช้ชีวิตร่วมกับ AI ในกิจวัตรอย่างสมบูรณ์ก็เป็นได้ ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นยุคแห่งความก้าวหน้าที่ท้าทายจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์เช่นกัน

สื่อในยุคนี้และยุคหน้าจึงจำเป็นจะต้องแข็งแรงในหลักการ และทรงพลังพอที่จะเป็น Trusted Source หรือแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือได้อย่างไร้คำครหา เวลาผู้คนเกิดความสับสนในเนื้อหาใด ๆ ก็ตาม

คุณพิรงรองชวนมองประเด็นที่น่าสนใจ นั่นคือการออกแบบ Algorithm ของการเรียนรู้ AI ที่ในไทยกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ว่าหากมองในแง่หนึ่ง การที่เทคโนโลยีประเภทนี้ในโลกจะถูกเลือกมาพัฒนาต่อได้ น่าจะมาจาก 2 เหตุผลใหญ่ คือหลบเลี่ยงการควบคุมของมนุษย์ได้ และต้องสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ อย่างเช่น Algorithm ในสังคมออนไลน์ปัจจุบันที่สร้างขึ้นเพื่อเสิร์ฟเนื้อหาที่ทำให้คนเกิดการเสพติดได้

จึงถือเป็นอีกเรื่องน่ากังวลสำหรับเราในฐานะประเทศผู้ใช้งานปลายทาง ที่ไม่สามารถหาความโปร่งใสใน Algorithm ต้นทางได้ ในขณะเดียวกัน Generative AI ก็อาจจะมีเส้นทางการใช้งานที่ทำให้มนุษย์กลับไปวนในลูปเดิม เหมือนกับที่ Algorithm เคยทำมา

นี่จึงเป็นจุดที่สื่อมวลชนในไทยควรให้ความสำคัญ ในการสร้างความเข้าใจ และเสริมองค์ความรู้ให้สังคมทั้งเรื่องโอกาส ผลกระทบ และความเสี่ยงใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งาน AI หรือเสริมภูมิคุ้มกันให้สามารถอยู่ร่วมกับ AI ได้อย่างยั่งยืน

คุณระวีมองว่าประเด็นที่สื่อควรตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น ผู้คนในวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งหลายจำเป็นต้องมาหารือกัน ว่าพร้อมหรือยังที่จะอยู่บนบรรทัดฐานใหม่เหมือน ๆ กัน หรืออาจจะถามด้วยซ้ำว่ามีสื่อมวลชนไหนบ้างที่เริ่มตระหนักถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะในขณะนี้ยังเป็นเรื่องไกลตัว แต่จากการคาดการณ์ก็พบว่าอีกไม่นาน ‘มัน’ จะมีบทบาทในสื่อมวลชนได้จริง ๆ

คุณสกุลศรีชวนกลับมามองในเรื่องของการใช้งาน AI ในความเป็นจริงปัจจุบัน ว่ามีบางสำนักข่าวที่ใช้ AI ในการ Generate ข้อมูลชุดหนึ่งออกมา จากนั้นให้นักข่าวเพียง 5 คน เขียนเรื่องขึ้นโดยต่อยอดจากมุมมองของพวกเขาเอง ทำให้ทำงานครั้งเดียวได้งานเป็นหลัก 10 ชิ้น เรื่องนี้จึงสำคัญที่ว่า ความชำนาญหรือความเฉพาะตัวบางอย่างของนักข่าว เมื่อผนวกกับความสามารถในการช่วยเหลือจาก AI อย่างไรเสียมันก่อเกิดผลงานที่ดีได้อย่างแน่นอน

แต่เมื่อมองกลับมาในเรื่องของการใช้ AI ในงานสื่อมวลชน ที่ถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ ก็ยังเป็นจุดที่ทำให้ AI อาจจะยังไม่เข้าถึงการทำงานข่าวอย่างเต็มระบบ ในยุคที่สื่อรัดเข็มขัดเป็นอย่างมากจากการเจอวิกฤตหลากหลายแง่มุม

หนทางที่ AI จะเข้าสู่ห้องข่าวได้จริงจังอย่างง่ายที่สุด อาจจะเป็นการที่องค์กรสื่อมวลชนร่วมมือกับหน่วยงานทางวิชาการที่มีความพร้อมเรื่องเทคโนโลยีอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดการเริ่มต้นร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม หรือจำเป็นที่จะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ ทดลองใช้ เรียนรู้อย่างเป็นระบบ หาวิธีที่จะทำให้การใช้งานเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ก่อนที่อนาคตโลกแห่ง AI จะกลายเป็นจริงขึ้นมา

สามารถรับชมเวทีเสวนานี้ย้อนหลังเต็มรูปแบบได้ด้านล่างนี้