ในบทความที่แล้ว เราได้นำเสนอเรื่องราวการก่อกำเนิดของสถานีโทรทัศน์ 2 สถานีแรกอย่าง ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม และ ททบ.5 (ช่อง 7 ขาว-ดำ เดิม) ไปบ้างแล้ว ในบทความนี้จะขอนำเสนอการเข้ามาของโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์กันบ้าง ว่าที่มาที่ไปเกิดขึ้นได้อย่างไรกันบ้างนะครับ
การเกิดขึ้นของโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์นั้น เกิดขึ้นในช่วงที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น ประเทศไทยอยู่ในช่วงเร่งพัฒนาประเทศ และรัฐบาลเล็งเห็น อยากให้ประชาชนรับทราบข่าวสาร นโยบาย และการดำเนินการโครงการของรัฐอย่างรวดเร็วและทั่วถึง จึงได้ตั้งหน่วยงานในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ขึ้น ซึ่งเดิมทีเรียกว่ากรมโฆษณานั่นเอง โดยจัดตั้งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เพื่อดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล โดยใช้ชื่อเรียกว่า “ศูนย์ประชาสัมพันธ์เขต”
ซึ่งศูนย์ประชาสัมพันธ์เขตในแต่ละแห่งนั้นได้ตั้งแบบกระจายพื้นที่กัน อย่างในภาคเหนือจะอยู่ที่จังหวัดลำปาง ซึ่งในตอนนั้นเป็นจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมในเขตภาคเหนือ ส่วนในภาคอีสานไปตั้งที่จังหวัดขอนแก่น และภาคใต้ไปตั้งอยู่ที่จังหวัดสงขลา นอกจากนั้นยังอนุมัติงบประมาณไปยังกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อดำเนินการขยายวิทยุโทรทัศน์ไปยังทั้ง 3 ภูมิภาคที่มีศูนย์ประชาสัมพันธ์เขตตั้งอยู่ โดยได้ดำเนินการจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยขึ้นดังนี้
- จังหวัดลำปาง เริ่มทดลองออกอากาศในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2505 ใช้ระบบการส่งสัญญาณแบบ 525 เส้น ขาว-ดำ ช่อง 8 ด้วยกำลังเครื่องส่ง 1 กิโลวัตต์ ถือเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งที่ 3 ในประเทศไทย
- จังหวัดขอนแก่น เริ่มทดลองออกอากาศในวันเดียวกับที่จังหวัดลำปาง โดยใช้ระบบการส่งสัญญาณแบบ 525 เส้น ขาว-ดำ ช่อง 5 กำลังเครื่องส่ง 1 กิโลวัตต์ และเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งที่ 4 ในประเทศไทย
- จังหวัดสงขลา เริ่มทดลองออกอากาศในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 ใช้ระบบการออกอากาศแบบ 525 เส้น ขาว-ดำ ช่อง 9 กำลังเครื่องส่ง 500 วัตต์ เสาอากาศความสูง 75 เมตร ถือเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งที่ 5 ในประเทศไทย

จะว่าเอาจริงๆ ถ้าทุกคนสังเกตจะเห็นว่าทั้งช่อง 4 บางขุนพรหม ททบ. 5 (ช่อง 7 ขาว-ดำ) หรือแม้กระทั่งโทรทัศน์ตามภูมิภาคที่ตั้งกันทั้งหมด ต่างใช้เสาส่งความสูงไม่ถึง 100 เมตร และต่างก็มีกำลังส่งไม่มากนัก จึงทำให้ไม่สามารถให้บริการในวงกว้างได้ และในช่วงเวลานั้นประเทศไทยยังไม่มีเครือข่ายโทรคมนาคมที่สามารถดำเนินการถ่ายทอดสัญญาณภาพโทรทัศน์ได้ จึงต้องใช้เทคโนโลยีอีกอย่าง นั่นก็คือ “การทวนสัญญาณ” หรือ Translator ขยายสัญญาณจากสถานีหนึ่งสู่อีกสถานีหนึ่ง ซึ่งถือเป็นหนทางเดียวที่จะทำได้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการที่สิ้นเปลืองช่องความถี่ ทำให้ความชัดเจนและคุณภาพของสัญญาณภาพลดลงด้วยเช่นกัน
สำหรับการขยายพื้นที่บริการวิทยุโทรทัศน์ในภาคกลาง ซึ่งไม่ได้มีศูนย์ประชาสัมพันธ์เขตนั้น กรมประชาสัมพันธ์ได้จัดตั้งสถานีทวนสัญญาณของช่อง 4 บางขุนพรหม และตั้งสถานีทวนสัญญาณจากสถานีโทรทัศน์ในส่วนภูมิภาคเขตภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ไว้ในพื้นที่ต่างๆ โดยแบ่งพื้นที่กันดังนี้
สถานีทวนสัญญาณเพื่อออกอากาศช่อง 4 บางขุนพรหม
- สถานีทวนสัญญาณ หนองจะบก อ.เมืองนครราชสีมา
- สถานีทวนสัญญาณ อ.เมืองสระแก้ว
ทวนสัญญาณและออกอากาศที่ช่อง 6
- สถานีทวนสัญญาณ เขาพระงาม อ.เมืองลพบุรี
- สถานีทวนสัญญาณ เขาใหญ่ อ.ปากช่อง
- สถานีทวนสัญญาณ สัตหีบ
- สถานีทวนสัญญาณ พริ้ว จ.จันทบุรี
- สถานีทวนสัญญาณ หัวหิน
ทวนสัญญาณและออกอากาศที่ช่อง 10
- สถานีทวนสัญญาณ เขากบ อ.เมืองนครสวรรค์
- สถานีทวนสัญญาณ เขาเขื่อนลั่น อ.สีคิ้ว
- สถานีทวนสัญญาณ อ.เพ จ.ระยอง
สถานีทวนสัญญาณเพื่อออกอากาศช่อง 8 ลำปาง
- สถานีทวนสัญญาณ อ.งาว จ.ลำปาง
- สถานีทวนสัญญาณ ม่อนจอมทอง อ.เมืองพะเยา
- สถานีทวนสัญญาณ ดงมะดะ อ.เมืองเชียงราย
- สถานีทวนสัญญาณ อ.แม่จัน จ.เชียงราย
- สถานีทวนสัญญาณ ดอยป๊กกะโล้ง อ.เด่นชัย จ.แพร่
- สถานีทวนสัญญาณ อ.ร้องกวาง จ.แพร่
- สถานีทวนสัญญาณ ดอยหินแก้ว อ.เมืองน่าน
- สถานีทวนสัญญาณ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย
- สถานีทวนสัญญาณ ปางป๋วย อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
- สถานีทวนสัญญาณ ดอยพระบาท อ.เมืองลำปาง
- สถานีทวนสัญญาณ ดอยโตน อ.เถิน
- สถานีทวนสัญญาณ อ.บ้านตาก จ.ตาก
ทวนสัญญาณและออกอากาศที่ช่อง 10
- สถานีทวนสัญญาณ ดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่
สถานีทวนสัญญาณเพื่อออกอากาศช่อง 5 ขอนแก่น
- สถานีทวนสัญญาณ อ.โนนสะอาด
- สถานีทวนสัญญาณ อ.เมืองอุดรธานี
- สถานีทวนสัญญาณ ภูพาน อ.เมืองสกลนคร
- สถานีทวนสัญญาณ อ.เมืองร้อยเอ็ด
- สถานีทวนสัญญาณ อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์
- สถานีทวนสัญญาณ อ.พล จ.ขอนแก่น
- สถานีทวนสัญญาณ อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา
สถานีทวนสัญญาณทั้งหมดตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ใช้เทคโนโลยีการออกอากาศระบบ 525 เส้น แบบ Repeater หรือ Translator ที่มีกำลังส่ง 7-100 วัตต์ โดยเจ้าหน้าที่กองประชาสัมพันธ์เขตขอนแก่น สร้างและประกอบขึ้นเอง และจัดซื้อชนิดที่มีกำลังส่งสูง 400 วัตต์ แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องของการใช้ความถี่จำนวนมากๆ เพราะการทวนสัญญาณในตอนนั้นใช้วิธีการนำเครื่องส่งขนาดเล็กขยายสัญญาณจากสถานีหนึ่งสู่อีกสถานี ทำให้ความชัดเจนลดลง แม้ว่าจะได้พื้นที่กว้างกว่าก็ตาม แต่คุณภาพก็ยังไม่เป็นที่ถูกใจของผู้รับชม
ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนระบบการส่งโทรทัศน์จาก 525 เส้นเป็น 625 เส้นในปี พ.ศ. 2518 ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนระบบการถ่ายทอดในบางสถานีเป็นระบบไมโครเวฟขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ในปัจจุบันคือ ทีโอที) เช่น ที่สถานีเครื่องส่ง จ.เชียงใหม่ , สถานีเครื่องส่ง ดอยปีกกะโล้ง อ.เด่นชัย ทำให้คุณภาพสัญญาณภาพดีขึ้น ในส่วนของเครื่องส่งก็ได้พัฒนามาใช้เครื่องส่งที่มีกำลังการออกอากาศที่สูงขึ้นนั่นเอง
อ้างอิง – หนังสือ “จดหมายเหตุ 60 ปี โทรทัศน์ไทย” : วิวัฒนาการเทคโนโลยีโทรทัศน์ไทย