fbpx

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ (2566) นอกจากพรรคการเมืองแต่ละพรรคต่างดึงดูดด้วยนโยบายต่างๆ การทำโปรโมทและประชาสัมพันธ์พรรคการเมืองแบบช่องทางต่างๆ ทีทำกันชนิดที่ว่าดุเดือดไม่น้อยแล้ว สื่อแต่ละสำนักต่างก็ทำข้อมูลข่าวสารกันแบบดุเดือดไม่แพ้กัน หนึ่งในเครื่องมือที่สื่อเลือกใช้กันนั่นก็คือการทำเวทีดีเบตการเมือง ที่รอบนี้สื่อหลายสำนัก ทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ หรือใหญ่มากๆ ต่างก็ทำเวทีดีเบตกันชนิดที่ว่า ใครไม่ได้ทำก็เท่ากับตกขบวน บางเจ้าทำ 10 เวทีดีเบต ลงแทนละครหลังข่าวก็มี หรือบางเจ้าลงพื้นที่ 5 จังหวัด

คำถามที่ตามมาคือ เวทีดีเบตที่ทำกันเยอะๆ ส่งผลดีต่อคนดูอย่างไร และคนดูจะได้อะไรจากการดีเบตการเมืองครั้งนี้ แล้วในฐานะคนดูต้องมีอะไรเป็นภูมิคุ้มกันในการดูดีเบตแต่ละครั้ง ส่องสื่อขอส่องการเลือกตั้งครั้งนี้ ด้วยการเข้าไปพูดคุยกับ ผศ.ดร.เจษฎา ศาลาทอง อาจารย์ภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ และพิธีกร เกี่ยวกับการทำดีเบตของสื่อในครั้งนี้ เพื่อให้ทุกท่านได้สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อพร้อมดูดีเบตในครั้งต่อๆ ไป

เวทีดีเบตทำให้คนโหวตตัดสินใจง่าย แต่คนพูดต้องระวังตัวมากกว่าเดิม

อ.เจษฎา ให้ข้อมูลต่อกรณีการดีเบตว่าส่งผลดีอย่างไรบ้าง ซึ่งในสหราชอาณาจักรได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องนี้และศึกษาในประเทศเซียร์ราลีโอนและประเทศกานา จากการวิจัยในครั้งนี้ก็ค้นพบว่าการจัดดีเบตทางการเมืองส่งผลดีในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นผู้ลงคะแนนมีความเข้าใจนโยบายต่างๆ มากขึ้น และส่งผลทำให้บรรยากาศโดยรวมมีความกระตือรือร้นที่อยากจะลงคะแนนใช้สิทธิ์เลือกตั้ง นอกจากนี้ในฝั่งของแคนดิเดตเองก็จะกระตือรือร้นในการที่อยากจะดีเบต และทำนโยบายให้เป็นจริง รวมถึงการประกาศนโยบายต่างๆ บนเวทีดีเบตก็ถือว่าเป็นการให้คำมั่นสัญญากับประชาชน ซึ่งทำให้เขาต้องระมัดระวังในการพูดบนเวทีมากขึ้น เพราะว่าปัจจุบันการดีเบตแต่ละครั้งก็จะมีการบันทึกภาพและเสียงไว้ ทำให้คนย้อนกลับมาดูได้

นอกจากนี้ในช่วงหลัง สิ่งที่น่าสนใจในการเลือกตั้งครั้งนี้คือกระบวนการ Fact-check หรือการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ตื่นตัวและจะมีมากขึ้น การพูดอะไรออกไปนั่นส่งผลทำให้เกิด Digital Footprint ที่อาจจะทำให้เกิดการตรวจสอบแบบย้อนกลับไปได้มากขึ้นนั่นเอง ดังนั้นพรรคการเมืองและแคนดิเดตก็ต้องระมัดระวังในการออกนโยบายและการที่จะพูดด้วย ซึ่งดูจากวาระทางสังคมแล้ว การเมืองก็มาแรงมากๆ ฉะนั้นก็จะเกิดการช่วงชิงพื้นที่ของแต่ละสื่อว่าจะทำดีเบตอย่างไรให้มันแตกต่างมากที่สุด มันก็เหมือน Real-time Marketing ที่จะทำให้แตกต่างและเกาะกระแสไปพร้อมๆ กัน ทุกเวทีพยายามที่จะเชิญแม่เหล็กมา บางเวทีก็เจาะประเด็นที่แตกต่างไปด้วย

คนไทยชอบอะไรบันเทิง ทำให้ดีเบตต้องดราม่า?

อ.เจษฎา ยังให้คำตอบในเรื่อง “ทำไมเวทีดีเบตถึงต้องทำให้เกิดวิวาทะที่รุนแรง” ด้วยว่า เพราะพื้นฐานของมนุษย์มีความสนใจเรื่องของดรามา แล้วเวลาที่เกิดวิวาทะบนเวทีก็ทำให้กระตุ้นความสนใจของคนในช่วงเวลานั้นๆ ได้อยู่แล้ว ซึ่งในหลายๆ ครั้งก็ส่งผลต่อเรตติ้งหรือยอดคนรับชมด้วยเช่นกัน

Healthy Debate หนทางใหม่ที่คนอยากฟัง แต่จะสำเร็จไหมอีกเรื่อง

อ.เจษฎา ให้คำตอบในกรณีการทำ Healthy Debate ว่าอาจจะตอบได้ยากว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้ประสบความสำเร็จก็ขึ้นอยู่กับประเด็นที่เลือกใช้ แคนดิเดตที่เลือกมาขึ้นเวที และฐานของผู้ชมของสื่อนั้นๆ ซึ่งส่วนตัวอยากจะดูดีเบตที่เป็น Healthy Debate มากกว่าที่จะเห็นคนมาด่ากัน สร้างวิวาทะกันบนเวที โดยเฉพาะในประเด็นที่ยังคลุมเครือ หาคำตอบไม่ได้ เช่น ภาวะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป นโยบายเมียนมาร์ หรือเรื่องอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ แน่นอนว่าปัจจุบันมีเวทีดีเบตที่เยอะมากมายขนาดนี้ แต่เราก็ยังไม่สามารถหาเวทีดีเบตที่ตอบคำถามเหล่านี้ได้เลย ก็เป็นโจทย์ที่โยนกลับไปที่เวทีดีเบตแต่ละสำนักว่าคุณทำเวทีดีเบตที่ตอบโจทย์ทุกประเด็น ทุกกลุ่มเป้าหมายแล้วหรือยัง?

เวทีล้น คนพูดเฟ้อ คนดูต้องทำอย่างไร

อ.เจษฎา ให้คำแนะนำต่อผู้ชมดีเบตการเมืองว่า ควรดูด้วยใจที่เป็นกลาง เป็นกลางในที่นี้คือเปิดรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ซึ่งบางพรรคที่เราไม่ได้มองตั้งแต่ตอนแรกแต่มีนโยบายที่ดี เราก็ควรเปิดใจรับฟังและนำมาวิเคราะห์ร่วมกับนโยบายของพรรคอื่นๆ เปรียบเทียบกันอย่างมีวิจารณญาณก็เป็นทรัพยากรที่ดีที่ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งอย่างแน่นอน นอกจากนี้คือการตรวจสอบข้อมูล ถ้าเราติดตามการเมืองมาโดยตลอดก็สามารถตรวจสอบได้เลยว่านโยบายที่เขาพูดมา ที่เขาเคยทำมา หรืออุดมการณ์ในตอนนี้มันขัดแย้งกับที่เขาเคยทำมาอยู่หรือไม่ ย้อนแย้งกับสิ่งที่เขาพูดมาไหม ถ้าข้อมูลมันย้อนแย้งกันก็สามารถตัดสินใจด้วยตัวของเราเอง


ภาพจากเวที “วันเลือกตั้ง 2566 #เปลี่ยนชีวิตคนไทย สัญจร 4 ภาค” โดยสำนักข่าววันนิวส์
เรียบเรียงโดย กฤตนัน ดิษฐบรรจง