fbpx

ผมได้มีโอกาสไปร่วมเข้าค่าย Young Webmaster Camp ซึ่งปีนี้จัดเป็นปีที่ 19 แล้ว โดยสมาคมผู้ดูแลเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ไทย (TWA) ปีนี้ขนทีมไปจัดค่ายกันที่ศูนย์ฝึกอบรมไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน จังหวัดชลบุรี ค่ายนี้เป็นค่ายที่รวมเยาวชนจาก 4 ทีม ได้แก่ ทีมคอนเทนต์, ทีมการตลาด, ทีมดีไซน์ และทีมโปรแกรมมิ่ง และนำมาคิดและลงมือทำโปรเจกต์เว็บไซต์ให้เสร็จภายใน 4 วัน โดยปีนี้ใช้ธีม “Think Global, Act Sustainable” 

แน่นอนว่าหลังจากที่ผมได้มีโอกาสดูการนำเสนอผลงานทั้ง 10 ทีมนั้น สิ่งที่ทำให้ผมสามารถคิดได้และนำมาเขียนเป็นคอนเทนต์ ซึ่งสื่อมวลชนและผู้อ่านทุกท่านสามารถนำไปต่อยอดได้ในการทำงานโดยเฉพาะงานด้านสื่อสารมวลชน นั่นก็คือการคิดแบบรอบด้าน (และนี่คือเหตุผลที่ผมพาดหัวแบบนี้)

คอนเทนต์ที่ดีต้องมาคู่กับการตลาดที่ไปต่อได้

หัวใจสำคัญของการพัฒนาสินค้า บริการ หรือโปรเจกต์ นั่นก็คือ “คอนเทนต์” ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงแค่ชิ้นงาน เป้าประสงค์ที่สำคัญสำหรับผมไม่ใช่การปั้นจำนวนชิ้นงานให้ได้จำนวนมากๆ อย่างที่ผู้บริหารสื่อหลายคนทำกันในปัจจุบัน ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดอย่างมหันต์ เช่น การมีตารางลงทั้งวันว่าเวลาไหนจะลงอะไรบ้าง หรือการมีเป้าที่ทั้งวันต้องปั้มข่าวลงเว็บไซต์วันละไม่ต่ำกว่า 50 ชิ้น นั่นไม่ใช่ “คอนเทนต์” แต่นั่นเป็นเพียง “บทความ”

แต่เป้าประสงค์ของการมี “ทีมคอนเทนต์” ก็คือการที่ต้องสร้างสรรค์ผลงานให้เหมาะสมกับผู้อ่าน และกลุ่มเป้าหมาย และไม่ได้คิดแค่ชิ้นงาน แต่ต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาสินค้าให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจ เช่น Tagline, Key massage หรือ Signature ของสินค้าและบริการนั้นๆ ร่วมกับทีมการตลาดที่จะช่วยเสริมในเรื่องธุรกิจและความเป็นไปได้

ตัวอย่างจากทีม YWC19 ที่สามารถทำให้การสื่อสารชัดเจน และทำให้การตลาดไปต่อได้ คือทีม “ลอตเตอรี่กันภัย” ที่เห็นปัญหาการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล และคนซื้อประกันภัยลดลง แน่นอนว่าการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้นจ่ายแล้วไม่ได้คืน (ยกเว้นจะถูกรางวัล) ซึ่งการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลผูกกับประกันภัยนั้น ทำให้ผู้บริโภคเห็นว่าการซื้อสลากนั้นไม่ได้สูญเปล่า แต่สามารถประกันชีวิตหรือประกันภัยกับเราได้ต่อเนื่องด้วย ซึ่งพอเราได้แนวคิดที่ดี ตรงเป้าแบบนี้มา ทีมคอนเทนต์และทีมการตลาดก็สามารถหาช่องทางการสื่อสารที่ดีได้ไม่รู้จบ

หรืออย่างทีม “ตู้แช่ (Toochae) ที่เป็นเว็บไซต์เน้นการขจัดวัตถุดิบให้เกิดประโยชน์ ซึ่งพอเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาหาร ทำให้ทีมคอนเทนต์ร่วมกับทีมการตลาดทำคอนเทนต์และช่วยกันหาช่องทางสื่อสารการตลาดไปยังมิติอื่นๆ ที่ครบวงจรอีกด้วย เช่น การทำการตลาดกับ Influencer หรือกับ Supermarket ซึ่งสามารถฟีดคอนเทนต์ให้ไปในช่องทางอื่นๆ โดยที่ไม่ได้เหนื่อยด้วยตนเอง 100% ได้อีกด้วย

สิ่งที่สำคัญมากๆ คือทีมคอนเทนต์กับทีมการตลาดต้องสื่อสารและคิด Key massage ให้ชัดเจน เพื่อส่งต่อให้กับทุกทีมไปคิดและพัฒนาสินค้าและบริการ นอกเหนือจากนี้ยังต้องผลิตคอนเทนต์ให้สามารถสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย และสร้างความเป็น “มืออาชีพและน่าเชื่อถือ” ไปพร้อมกับทีมการตลาดที่ต้องเจาะกลุ่มเป้าหมายให้เจอ และเข้าใจจริงๆ ว่ากลุ่มเป้าหมายต้องการอะไรกันแน่?

ดีไซน์ที่ดีต้องมาคู่กับฟังก์ชั่นที่ตอบโจทย์

แน่นอนว่าพอได้ Key massage แล้ว ทีมดีไซน์ต้องคุยกับทีมโปรแกรมเมอร์ในการพัฒนาหน้าเว็บไซต์ เช่น การออกแบบให้ UX/UI ให้เหมาะสมและสามารถตอบโจทย์กับกลุ่มเป้าหมาย และยังต้องเข้ากับ Key massage ที่ตั้งเอาไว้ด้วย ในขณะเดียวกับทีมโปรแกรมเมอร์ก็ต้องพัฒนาเว็บไซต์ให้ตอบโจทย์ เหมาะสม และใช้งานได้ง่าย เรียกได้ว่าสองทีมนี้ต้องเข้าขากันสุดๆ เพื่อทำให้สินค้าและบริการส่งตรงถึงผู้บริโภคได้อย่างง่ายดาย

ตัวอย่างจากทีม YWC19 ที่ทำให้เว็บไซต์สวยงามและใช้ได้ง่าย คือทีม “การันTree” แพลตฟอร์มประกันภัยธรรมชาติจากการแลก Carbon Credit ที่ทีมดีไซน์ออกแบบทั้งโลโก้ และ Corporate Identity (CI) ออกมาได้สวยงาม มีความหลายชัดเจน และสามารถจัดวางได้โดยไม่รกหูรกตา และทีมโปรแกรมเมอร์ก็นำไปพัฒนาต่อจนทำให้เว็บไซต์มี UX/UI ที่สวยงาม เข้าตากลุ่มเป้าหมาย และใช้งานได้ง่ายมากๆ เช่น การประเมินมูลค่าการประกันที่ง่ายมากๆ 

หรือทีม “Oknize” ที่ไม่ได้ดีไซน์อะไรเยอะ แต่สามารถสื่อสารออกมาได้ชัดเจน ผ่าน CI ที่มาจากคำว่า OK และ Organizer ซึ่งพอ Key massage ชัดเจนขนาดนี้แล้ว ทำให้การออกแบบหน้าเว็บไซต์และการพัฒนาหน้าเว็บไม่ได้เหนื่อยมาก ฟังก์ชั่นชัดเจน ครบ และดูไม่รกหูรกตาเช่นกัน

แล้วเกี่ยวกับคนวงการสื่อและธุรกิจสื่ออย่างไร

มาถึงบรรทัดนี้แล้ว หลายคนคงสงสัยว่าที่พิมพ์มาทั้งหมด ดูเหมือนไม่เกี่ยวกับธุรกิจสื่อ แต่จริงๆ แล้วนั้น “เกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” แน่นอนว่าพวกคุณที่อ่านอยู่ก็จะเถียงอีกว่า “อ้าว ฉันไม่ได้ทำเว็บไซต์ข่าวไอที แล้วจะเกี่ยวได้อย่างไร?” ก็มันเกี่ยวตรงๆ เลย เพราะสื่อทุกวันนี้ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงหน้าเว็บไซต์ทั้งนั้น หลายครั้งประสบการณ์การเข้าหลายเว็บไซต์ก็ไม่ User Friendly เอาซะเลย

การที่คุณจะทำเว็บไซต์สื่อ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ข่าว คอนเทนต์ ละคร ซีรีส์ หรืออะไรก็สุดแล้วแต่นั้น คุณต้องมีความรู้มากกว่าการทำสื่อ และบริษัทคุณจำเป็นต้องมีมากกว่าแค่ Content Creator “ถ้าคุณอยากทำให้โต” เช่น การปรับไปเป็นสถาบัน หรือการเป็นสื่อที่น่าเชื่อถือ ผู้ติดตามมีจำนวนมากๆ คุณก็ไม่ควรหยุดที่มี Content Creator เว็บไซต์แค่ 1 คน หรือ 1 ทีมเท่านั้น

ซึ่งทีมคอนเทนต์ต้องคุยและร่วมสร้าง Signature ของสื่อของคุณร่วมกับทีมการตลาด โดยต้องทำให้สามารถสื่อสารได้ง่าย ชัดเจน และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ และส่งต่อให้ทีมดีไซน์และทีมโปรแกรมเมอร์นำไปพัฒนาให้เป็นเว็บไซต์ที่สมบูรณ์แบบ อ่านง่าย และรู้เรื่อง

แล้วทำแบบไหนถึงจะสำเร็จแหละ?

แน่นอนว่า สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จาก YWC19 ซึ่งสามารถส่งต่อไปให้ผู้อ่านนำไปปรับใช้ได้ก็คือ ขั้นตอนและเงื่อนไขที่คุณอาจจะยังไม่เคยทำในวงการสื่อเลยก็ได้ ซึ่งประกอบไปด้วยสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • คุยเรื่องไอเดียให้จบบนการประชุม คุยให้เห็นภาพร่วมกัน
  • ควรตั้งเวลาการประชุมให้กระชับ มีวาระชัดเจน และรีบเคลียร์ให้ชัดเจน จบอย่างรวดเร็ว เพื่อปล่อยให้ทีมงานไปทำงานแบบจริงๆ จังๆ
  • คน ไม่ใช่เครื่องจักร ระหว่างทำงาน ควรเบรก ตรวจสอบความรู้สึกทีมงานกันเองว่าเป็นอย่างไรบ้าง งานไปถึงไหน แชร์ความรู้สึกกัน ใครไม่ไหวจะได้รู้
  • เข้าใจกลุ่มเป้าหมายจริงๆ ผ่านการทำ User Interview ไม่ใช่นั่งรอเรตติ้งหรือยอด Engagement อย่างเดียว มันวัดอะไรไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ฟังเสียงคนเสพสื่อจริงๆ
  • ไม่ควรตั้งเป้าหมายเป็นจำนวนชิ้นงาน แต่ควรตั้งเป้าหมายเป็นอย่างอื่นที่สามารถวัดผลให้สำเร็จได้ เช่น จำนวนการเข้าถึงต่อสัปดาห์เป็นเท่าไหร่ หรือจะต้องทำให้งานชิ้นนั้นๆ ได้รับการเข้าถึงหน่วยงานไหนเป็นหลัก
  • ทีมคอนเทนต์ควรสื่อสารกับการตลาดบ่อยๆ ว่าจะพัฒนาคอนเทนต์ไหนให้ส่งต่อเป็นคอนเทนต์ที่สามารถสร้างรายได้ให้ได้ “อย่าทำงานแยกทีมโดยที่ไม่ได้คุยกันเป็นอันขาด”
  • ให้ความสำคัญกับคอนเทนต์และการตลาดได้ แต่อย่าละเลยกับดีไซน์และหน้าเว็บไซต์ด้วยเช่นกัน ควรปรับเว็บไซต์ให้สามารถเข้าถึงง่าย ใช้งานง่าย และหน้าเว็บไม่พังเมื่อเปลี่ยน Device
  • และสำคัญมากๆ ผู้บริหารควรฟังทีมงาน และเปิดใจ ปรับตัวอยู่บ่อยๆ ไม่ตกไปในหลุมของการบริหารแบบเก่าๆ ปรับการบริหารให้ทันสมัยเสมอ

ตัวอย่างองค์กรสื่อที่ประสบความสำเร็จ (และล้มเหลว)

หลายคนอาจจะไม่ได้เข้าใจมากนัก งั้นเราจะมาทำให้เห็นภาพชัดๆ กันว่าสื่อเจ้าไหนที่ทำงานประสบความสำเร็จบ้าง เช่น

  • The Standard : มีทีมการตลาดชัดเจน สามารถรวบคอนเทนต์กับการตลาดให้สื่อสารแบรนด์ตัวเอง และแบรนด์ลูกค้าออกมาได้ชัดเจน และยังสามารถพัฒนางานดีไซน์ให้มีเอกลักษณ์ เข้าใจกลุ่มเป้าหมาย และร่วมมือกับทีมโปรแกรมเมอร์ในการพัฒนาแพลตฟอร์มให้ดูง่าย เข้าใจง่ายได้ (เช่น แพลตฟอร์มเลือกตั้งปี 2566 และสื่อหัวธุรกิจอย่าง The Standard Wealth)
  • Thairath Online : มีการทำ User Interview ค้นหาความต้องการของกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน และพัฒนาลูกเล่นบนเว็บไซต์ให้เข้าถึงได้ง่าย เข้าใจ และทำให้กลุ่มเป้าหมายไม่เบื่อ รวมไปถึงพัฒนาไปถึงการเล่าเรื่องแบบใหม่ๆ ควบคู่กับการสร้างตลาดแบบใหม่ เลิกนิยามตัวเองว่าเป็น “สื่อ” แต่เป็น “Media-Tech Company” แทน (เช่น Thairath Plus และเกม “หยิบคำทำข่าว”)
  • BEC World : มีการตั้งทีมโปรแกรมเมอร์และทีมการตลาดที่ชัดเจน เข้าถึงลูกค้าด้วยนิยามธุรกิจแบบ Single Content, Multiple Platform ทีมคอนเทนต์พยายามพัฒนางานให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าและกลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น ผ่านการมีตัวตึงแห่งช่องหลายคน และยังส่งต่อดีไซน์ที่เข้าถึงง่ายผ่าน 3Plus รวมถึงการปรับการบริหารแบบใหม่ตลอดเวลา ทำให้สามารถปรับการทำงานและดูทำให้ช่อง 3 ดูสดใหม่อยู่เสมอ

ส่วนส่องสื่อเองก็ต้องมีสิ่งที่ต้องแก้ไขอีกเยอะ แต่แน่นอนว่าค่าย Young Webmaster Camp เป็นหนึ่งค่ายที่ผลิตคนคอนเทนต์คุณภาพออกมาเป็นจำนวนมาก หลายคนทำงานกับสื่อออนไลน์ หลายคนก็ทำงานกับสำนักข่าวต่างๆ รวมถึงเป็น Influencer ด้วย เช่น เติ้ล spaceth.co / พี่แอ๊ม การตลาดการเตลิด / KornKT หรืออีกหลายคน (รวมถึงปังปอนด์จากส่องสื่อด้วยเช่นกัน) ฉะนั้นใครที่พลาดในปีนี้ก็คงต้องรอปีหน้ากันนะครับ 

(ถ้าไม่เชื่อว่า YWC สร้างคนคอนเทนต์คุณภาพจริงๆ ลองไปถามคนข้างๆ คุณว่ารู้จักคนจาก YWC ไหม ไม่แน่ว่าเขาอาจจะรู้จักก็เป็นไปได้)